×

รังสิมันต์ยื่นร่างแก้กฎหมายการเรียกของ กมธ. หากรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่มาชี้แจง ถือว่ามีความผิด

โดย THE STANDARD TEAM
18.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รับหนังสือจาก รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย สส. ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ….

 

รังสิมันต์กล่าวว่า กรรมาธิการได้มีการศึกษาร่างที่จะเสนอ โดยต้องเน้นย้ำว่าเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการวินิจฉัย กำหนดความผิดอาญาในบางมาตรา ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีปัญหาในการบังคับใช้ กรรมาธิการฯ จึงประสบปัญหาและอุปสรรคในการรวบรวมข้อมูลมาศึกษา และจะทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ยาก

 

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงได้นำเรื่องนี้หารือต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงที่ประชุมของประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ และพบว่าหลายท่านก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน เราจะได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงหลักการในการเรียกของคณะกรรมาธิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“โดยหลักการคือ จากเดิมการเรียก หากผู้ชี้แจงไม่มาตามเรียกจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เราจึงมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ลักษณะ ในเชิงของรัฐมนตรี จะมีความผิดเรื่องประมวลจริยธรรม ซึ่งเราเห็นว่าน่าจะมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เราต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอยู่แล้ว ภายใต้มาตรา 129 ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่วนอื่นๆ ก็จะมีความผิดทางวินัย ในกรณีที่ไม่มาตามคำสั่งเรียก” รังสิมันต์กล่าว

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการคงไม่สามารถใช้พร่ำเพรื่อได้ เพราะในกรณีที่หากเป็นการสั่งเรียกเพื่อกลั่นแกล้ง ผู้ที่ใช้คำสั่งเรียกดังกล่าวก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำหน้าที่ของกรรมาธิการออกมาดีที่สุด และเราคงจะไม่ใช้ทันที เพราะมาตรการของเราคือ ต้องมีการเชิญเป็นหลักก่อน หากไม่ได้รับความร่วมมือถึงจะใช้คำสั่งเรียกต่อไป

 

ส่วนจะมีโอกาสถูกตีความว่าร่างกฎหมายนี้เป็นร่างเกี่ยวกับการเงินหรือไม่นั้น รังสิมันต์ระบุว่า โดยกระบวนการเมื่อยื่นร่างกฎหมายไป ทางสภาต้องมีการวินิจฉัย หากตีความว่าเป็นร่างการเงินก็จะเข้าสู่ที่ประชุมของประธานคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 35 คณะ ซึ่งจะต้องพูดคุยกันว่าจะลงมติอย่างไร แต่เราพยายามทำให้ร่างกฎหมายนี้สามารถเข้าสู่การบรรจุวาระโดยเร็ว โดยไม่เชื่อว่าจะถูกตีความเป็นร่างการเงิน 

 

นอกจากนี้ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส. กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เคยเสนอร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันไปก่อนหน้าแล้ว และไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน ทางเราจึงหวังว่ากระบวนการนี้จะเดินหน้าไปพร้อมกันได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X