การถอยทางยุทธศาสตร์ย่อมจะมีความยากลำบากอยู่ การเลือกโอกาสเริ่มต้นการถอย การเลือกปลายทางของการถอย ล้วนแต่เป็นปัญหายากลำบาก ล้วนแต่จะต้องแก้ให้ตกทั้งสิ้น…ถอยเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ย่อมจะเกิดความเสียหายทั้งสิ้น
ประธานเหมาเจ๋อตุง
สรรนิพนธ์การทหาร เหมาเจ๋อตุง
ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์
ประเด็นที่ถือว่า ‘น่ากลัวที่สุด’ ในหมู่นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ก็คือ สภาวะของ ‘การถดถอยยุทธศาสตร์’ (Strategic Setback) เพราะหากสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ในท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่ ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Defeat) ได้ หรือโดยนัยก็คือ ความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ในการสงคราม หรือไม่อยู่ในสภาวะที่จะดำรงความริเริ่ม และหมดความสามารถของ ‘การตอบโต้กลับในทางยุทธศาสตร์’…กล่าวตรงๆ ก็คือ ‘แพ้แล้ว!’
การถดถอยทางยุทธศาสตร์คือ สัญญาณเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่า รัฐ/กองทัพในยามสงครามเริ่มที่จะไม่สามารถดำรงวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ตามที่กำหนดไว้ในเบื้องต้นได้อีกต่อไป พร้อมทั้งเริ่มมีอาการที่ส่อให้เห็นถึงการลดลงของขีดความสามารถในการทำสงครามอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาวะดังกล่าวก็คือ อาการเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ และไม่ใช่เป็น ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธวิธี’ (Tactical Defeat) ที่อาจแก้ไขได้ด้วยความพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในส่วนอื่นๆ
สภาวะเช่นนี้ ตรงข้ามกับ ‘ชัยชนะทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Victory) ที่คู่สงครามที่เป็นผู้ชนะเริ่มเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในระยะยาว และความได้เปรียบนี้เป็นผลจากการที่ฝ่ายข้าศึกหมดศักยภาพ และ/หรือขีดความสามารถในการทำสงครามจนต้องเปิดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม
ดังนั้น เราอาจนำเอาแนวคิดทางยุทธศาสตร์ชุดนี้มาเป็นประเด็นสำหรับการพิจารณาสถานการณ์สงครามกลางเมืองเมียนมา ที่เรากำลังเห็นถึงการถดถอยของกองทัพเมียนมาจากการสูญเสียเมืองและฐานที่มั่นในจุดต่างๆ ของประเทศ และตามมาในปัจจุบันด้วยการเสีย ‘เมืองเมียวดี’ ซึ่งอาจต้องถือว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่บ่งชี้ถึงภาวะของ ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์’ ของรัฐบาลทหารเมียนมา
เมียวดีแตก พม่าถอย!: สถานการณ์สงครามเมียนมา
- ภาพสะท้อนถึงการถดถอยอย่างต่อเนื่อง และในทุกสนามรบ ยืนยันถึงสภาวะของ ‘เมียนมาโดมิโน’ ที่เกิดการล้มตามกันหลังจากยุทธการ 1027 แม้ว่าเราไม่สามารถตอบได้ว่าการล้มนี้จะจบลงในแบบใด และเมื่อใด แต่ภาวะของการถดถอยทางทหารกำลังเห็นได้ชัดเจน หรือกล่าวได้ว่าเราเห็นถึง ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธวิธี’ ของกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่องในหลายจุดของการรบ
- การถดถอยทางทหารเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีขวัญกำลังใจในการสู้รบอย่างมาก เท่าๆ กับทำให้ขวัญของทหารฝ่ายรัฐบาลตกต่ำลงอย่างมาก และในหลายจุดทหารเมียนมายอมวางอาวุธ ไม่ยอมทำการรบต่อ ส่งผลให้ฐานของกองทัพเมียนมาถูกตีแตกติดต่อกันในหลายจุดของประเทศ จนกำลังเป็นภาพของความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของการสู้รบของกองทัพฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด
- แม้กองทัพรัฐบาลจะยังคงมีศักยภาพในการทำการรบต่อไปได้ ด้วยสภาวะของการมีกองทัพขนาดใหญ่ แต่ความพ่ายแพ้ที่เกิดในหลายจุด ทำให้กำลังพลและกำลังอาวุธที่มีอยู่ลดลงเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องใช้ ‘กฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่’ แต่ก็สร้างแรงต้านทางการเมืองอย่างมาก และทำให้หลายครอบครัวอยากอพยพเข้าไทย เพราะไม่มีครอบครัวใดที่อยากเห็นลูกหลานของตนไปตายในสงครามกลางเมือง (ภาพเช่นนี้ไม่ต่างจากกรณีของการเกณฑ์ทหารในรัสเซีย ที่ทำให้เกิดการอพยพออกเป็นจำนวนมาก)
- ความพ่ายแพ้ในหลายจุด ทำให้กองทัพรัฐบาลที่เคยปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์อย่างรุนแรง กลับเป็นฝ่ายถดถอยในสนามรบ อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ภาพของอาวุธแบบต่างๆ จำนวนมากที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยึดได้ และทำให้กองทัพของฝ่ายต่อต้านในวันนี้มีอาวุธพร้อมที่จะเปิดการรบใหญ่ได้ ซึ่งวันนี้กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (EAO) และกองทัพของรัฐบาลพลัดถิ่น (PDF) สามารถขยายใหญ่ได้อย่างรวดเร็วด้วยยุทโธปกรณ์ที่ยึดได้จากความพ่ายแพ้ของกองทัพฝ่ายรัฐบาล
- ชัยชนะของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จึงเป็นเสมือนกับการโอบล้อมตัวเมืองหลวงคือ ‘เมืองเนปิดอว์’ ที่เห็นชัดเจนขึ้น หรือเป็นสภาวะ ‘ชนบทล้อมเมือง’ ในสงครามสมัยใหม่ และเป็นสัญญาณที่เด่นชัดถึงการถดถอยของพลังอำนาจของฝ่ายรัฐบาล และกำลังฝ่ายต่อต้านเริ่มขยับเข้าไปโอบล้อมเมืองหลวงมากขึ้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า ภาวะนี้อาจนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายทหารได้ไม่ยากในอนาคต
- จะเห็นบทบาทของปัจจัยเทคโนโลยีในสงครามสมัยใหม่ เช่น สงครามโดรน ที่อากาศยานไร้คนขับนี้สามารถเดินทางไกล จนโจมตีเป้าหมายระยะไกลในเมืองหลวงได้ หรือการโจมตีเป้าหมายตัวบุคคล เช่น กรณีของนายพล โซวิน (หมายเลข 2 ของรัฐบาลทหาร) ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของโดรน ซึ่งทำให้เกิดความกลัวในหมู่ทหารฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก หรือที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเรียกโดรนว่า ‘ปีศาจจากฟ้า’ เพราะการโจมตีทางอากาศนี้ สร้างความสูญเสียอย่างมากกับกองทัพรัฐบาล
- การสูญเสียเมืองหลักหลายเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ จนถึงกรณีของเมืองเมียวดี เป็นการตอกย้ำถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือเป็นการ ‘ฉีกหน้า’ กองทัพเมียนมาครั้งใหญ่โดยฝีมือของกองกำลังกะเหรี่ยง เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่า กองทัพเมียนมาเองไม่ได้มีศักยภาพทางทหารมากอย่างที่หลายฝ่ายประเมินในช่วงก่อนสงคราม
- เมียวดีเป็นเมืองเศรษฐกิจ และเป็นเมืองหน้าด่านของชายแดนไทย-เมียนมา จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญทั้งต่อไทยและเมียนมา เพราะเมืองนี้เป็น ‘ฮับทางเศรษฐกิจ’ ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง การสูญเสียเมืองเมียวดีจึงกระทบกับเศรษฐกิจชายแดน และเศรษฐกิจระดับชาติอย่างมาก ตลอดรวมถึงการส่งสินค้าออกของทั้งสองประเทศ
- การเตรียมการประกาศการเป็นอิสระจากอำนาจการควบคุมทางการเมืองของรัฐบาลทหาร ด้วยการชักธงชาติกะเหรี่ยง จะเป็นสัญญาณถึงความต้องการ ‘การปกครองตนเอง’ ในอนาคต ซึ่งความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความชัดเจนที่ไม่ต้องการรูปแบบการปกครองเดิมของรัฐบาลทหารที่รวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่เนปิดอว์ ซึ่งคำว่า ‘การปกครองตนเอง’ เช่นนี้ในอนาคต อาจต้องทำให้เกิดความชัดเจนสำหรับการเป็น ‘สมาพันธรัฐประชาธิปไตย’ (Democratic Federalism) ที่เป็น ‘ความฝันทางการเมือง’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมามาอย่างยาวนาน
- กองทัพเมียนมาอาจมีความพยายามที่จะยึดเมืองกลับคืน เช่น การส่งกำลังทางบกเข้าตี แต่ก็มีอุปสรรคมากมายจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อีกทั้งการส่งกำลังเข้าตีเมืองเมียวดี ก็อาจถูกตอบโต้จากการวางกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังเช่นที่เกิดกับกองพันต่างๆ มาแล้ว แต่ถ้าทางฝ่ายรัฐบาลใช้การเปิดการโจมตีทางอากาศ ด้วยการทิ้งระเบิดเป้าหมายที่ต้องการในเมียวดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ การทำเช่นนั้นจะยิ่งกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้แก่ฝ่ายรัฐบาลทหารเอง และโดยพื้นที่การรบ การทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบเมียนมาอาจต้องตีวงเข้ามาในน่านฟ้าไทย ซึ่งรัฐบาลไทยในปัจจุบันไม่มีท่าทีให้อนุญาตกับเครื่องบินรบเมียนมากระทำการเช่นนั้นแต่อย่างใด
การดำเนินการของไทย
- สงครามมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และขยายตัวได้เร็วขึ้น ก่อให้เกิด ‘ผู้อพยพภายใน’ (Internal Displaced Persons: IDP) เป็นจำนวนมาก และถ้าการรบขยายตัวใกล้แนวชายแดนไทย พวกเขาจะกลายเป็น ‘ผู้อพยพข้ามแดน’ เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งการเตรียมการในเรื่องของผู้อพยพหนีภัยสงคราม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลไทย เพราะหากเกิดความรุนแรงของสงครามแล้ว โอกาสที่ผู้อพยพจากเมียนมาจะทะลักเข้าไทยนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้เสมอ
- ความรุนแรงของสงคราม ทำให้ความต้องการสิ่งของช่วยเหลือจากภายนอก โดยเฉพาะจากไทยมีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยควรเตรียมแผนในเรื่องของ ‘การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม’ เพราะการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกของงานการต่างประเทศของรัฐบาลไทยอีกด้วย
- การติดต่อกับทุกฝ่ายที่เป็นคู่สงคราม เป็นความจำเป็นของรัฐบาลไทย เพราะอาจต้องใช้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการสร้างเวทีสันติภาพในไทย การดำเนินการ ‘การทูต 3 ขา’ คือ รัฐบาลไทยควรเปิดช่องทางการติดต่อ 3 ฝ่าย คือ รัฐบาลทหารเมียนมา (SAC), รัฐบาลพลัดถิ่นของฝ่ายประชาธิปไตย (NUG) และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) โดยไทยจะต้องไม่วางทุกอย่างไว้กับฝ่ายรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์เท่านั้น
- สถานะของอำนาจทางการเมืองในการควบคุมพื้นที่ชายแดนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะไทยจะมีแนวพรมแดนด้านตะวันตกติดกับรัฐของชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ติดกับเมียนมาในแบบเดิมอีกแล้ว ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญ ไทยจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรในอนาคต เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์ในแบบเดิมที่เป็นรัฐต่อรัฐ แต่อำนาจรัฐอีกฝ่ายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยไม่มีความคุ้นเคย เพราะรัฐบาลไทยแต่เดิมจะวางน้ำหนักทางการทูตไว้กับรัฐบาลทหารเท่านั้น โดยเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานตลอดไป
- ปัญหาของกลุ่ม ‘จีนเทา’ ในพื้นที่การควบคุมของกลุ่มกะเหรี่ยง ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการกำหนด ‘ยุทธศาสตร์ไทย’ ต่อปัญหาเมียนมา ปัญหาธุรกิจจีนเทายังเป็นปัญหาทับซ้อนที่สำคัญกับภาวะสงครามกลางเมืองเมียนมา และปัญหานี้มีความยุ่งยากในตัวเอง เพราะเกี่ยวพันกับกลุ่มอำนาจ และ/หรือกลุ่มอิทธิพลทั้งในส่วนที่อยู่ชายแดน และอยู่ในประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นไทย เมียนมา หรือจีน
- รัฐบาลควรต้องตื่นจาก ‘ภวังค์’ เพื่อดำเนินการในเรื่อง ‘ยุทธศาสตร์ใหม่’ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในเมียนมาได้แล้ว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงการกำเนิดของ ‘ภูมิทัศน์ใหม่’ อย่างท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบายไทย
- การดำเนินการด้านต่างประเทศของไทยต้องวางอยู่บน ‘กรอบอาเซียน’ ที่ต้องช่วยผลักดันฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า รัฐบาลไทยจะต้องไม่ละทิ้งอาเซียน รวมทั้งยังจะต้องช่วยเสริมบทบาทของ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เมียนมา
- การดำเนินการของไทยในอีกส่วน ยังต้องการการสื่อสารและให้ข้อมูลแก่รัฐภายนอกภูมิภาคที่สำคัญ 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย และออสเตรเลีย เพราะรัฐภายนอกเหล่านี้อาจต้องเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างสันติภาพและการพัฒนาเมียนมาในอนาคตด้วย
- ไทยต้องคิดยุทธศาสตร์คู่ขนานกับปัจจัยและแรงขับเคลื่อนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติแล้ว อันเป็นสัญญาณว่า เวทีสหประชาชาติเองกำลังจับตาดูสถานการณ์สงครามในเมียนมามากขึ้น อีกทั้งเรายังจะต้องยอมรับว่าสหประชาชาติจะเป็นตัวแสดงหนึ่งที่สำคัญกับการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- แม้รัฐบาลทหารจะยังมีสถานะเป็น ‘รัฐบาลที่ชอบธรรม’ แต่ความชอบธรรมในกรณีนี้ดูจะลดลง เพราะแรงต่อต้านมีทั้งภายนอกและภายในที่เป็นสงคราม และเป็นสงครามที่เริ่มยกระดับมากขึ้น ประกอบกับแรงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศดูจะมีมากขึ้น เท่ากับเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลทหารกำลังหมดความชอบธรรมลงไปทุกขณะ อันทำให้รัฐบาลไทยต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยความใส่ใจ เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า ยุทธศาสตร์เดิมที่เป็นการกระชับความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างรัฐบาลไทยแต่เดิมกับรัฐบาลทหารเมียนมานั้น อาจ ‘ไม่ตอบโจทย์’ ยุทธศาสตร์ไทยในปัจจุบัน
ท้ายบทสำหรับรัฐบาลไทย
ความผันแปรของสงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ…รัฐบาลไทยในอดีตมีความเชื่ออย่างมั่นใจมาโดยตลอดว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีสภาวะของการเป็น ‘ระบอบอำนาจนิยมที่คงทนถาวร’ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเมืองเมียนมา รัฐบาลทหารจะอยู่รอดปลอดภัยได้เสมอ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ฝ่ายต่อต้านและ/หรือฝ่ายค้านไม่มีพลัง หรือบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็ไม่มีอำนาจทางทหารมากพอที่จะต้านทานการปราบปรามที่เกิดขึ้นได้แต่อย่างใด
นัยของชุดความคิดเช่นนี้คือ รัฐบาลไทยจะยึดถือเอาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นหลัก และไทยไม่มีความจำเป็นต้องเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ กล่าวคือ ไทยในเชิงนโยบายจะยืนอยู่กับฝ่ายรัฐบาลทหารเท่านั้น จนบางครั้งทำให้เกิดทัศนะที่เห็นกลุ่มการเมืองอื่นเป็นฝ่ายตรงข้าม ตามไปกับมุมมองของรัฐบาลทหารเมียนมาไปด้วย หรือเกิดสภาวะ เช่น ถ้ารัฐบาลทหารเนปิดอว์เห็นใครเป็น ‘ภัยคุกคาม’ รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็จะเห็นไปทางนั้นด้วย โดยปราศจากการตอบคำถามถึงนโยบายไทยที่เหมาะสม ที่จะใช้กับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา
แต่สถานการณ์ปัจจุบันกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งในส่วนที่เป็น ‘พลวัตการเมือง’ คู่ขนานไปกับ ‘พลวัตสงคราม’ จนน่าจะเป็น ‘นาฬิกาปลุก’ ที่ส่งเสียงเตือนให้รัฐบาลต้องตื่นจาก ‘ความหลับใหลเดิม’ เพื่อตระหนักถึงการมาถึงของ ‘ภูมิทัศน์ใหม่’ ของการเมืองเมียนมา เพื่อที่จะบอกว่าถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องกำหนด ‘ยุทธศาสตร์ใหม่’ ต่อปัญหาสงครามกลางเมือง ที่กำลังดำเนินไปด้วยความพลิกผันอย่างตื่นเต้นเร้าใจ อันเป็นผลจากความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์จากการสูญเสียเมืองเมียวดี และฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาตามแนวแม่น้ำสาละวิน
ภาวะเช่นนี้อาจเป็นครั้งแรกที่เราจะเห็นพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทยด้านตะวันตก ที่ไม่ใช่พื้นที่การควบคุมของรัฐบาลทหารในแบบเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยชื่อต่างๆ ในแบบเรียนวิชาสังคม แต่ครั้งนี้ตัวตนของพวกเขากำลังปรากฏโฉมในส่วนของนโยบายต่างประเทศไทย ที่ผู้กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายของไทยจะต้องเรียนรู้ด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง…พวกเขาไม่ได้มีตัวตนและรูปภาพอยู่แต่ในหนังสืออีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขากำลังเป็น ‘ผู้ชนะ’ ที่คุมอำนาจรัฐในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามของแนวเส้นพรมแดนไทย
ความเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวในข้างต้น ช่วยตอกย้ำ ‘ข้อคิดของยุทธศาสตร์ทหาร’ ที่ผู้กำหนดนโยบายของรัฐต้องเรียนรู้ ดังที่กล่าวว่า “ความยอดเยี่ยมทางทหารถูกพิสูจน์ได้ด้วยความสามารถในการสงครามเท่านั้น” (อ้างอิง: Colin S. Gray, Fighting Talk, 2009) และข้อคิดนี้กำลังถูกพิสูจน์อย่างท้าทายต่อสถานะของกองทัพเมียนมาในสงครามกลางเมืองปัจจุบัน จนบางทีรัฐบาลไทยอาจต้อง ‘คิดใหม่-ทำใหม่’ (ตามคำขวัญของพรรคไทยรักไทยในอดีต) กับการเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ของกองทัพฝ่ายรัฐบาล และการมาของภูมิทัศน์ใหม่ในเมียนมาที่กำลังก่อตัวขึ้นได้แล้ว!
แฟ้มภาพ: Zmotions / Shutterstock
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รายงาน UN ชี้ สงครามกลางเมืองทำชาวเมียนมาเกือบครึ่งประเทศตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน
- รัฐบาลเมียนมาย้ายซูจีออกจากเรือนจำไปกักตัวในบ้านพัก หลังสุขภาพย่ำแย่
- กะเหรี่ยง KNU ออกแถลงการณ์หลังยึด เมียวดี ยืนยันมุ่งฟื้นฟูสันติภาพชายแดน