แบงก์ทิสโก้ ประเดิมรายแรกแจ้งงบไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 1.73 พันล้านบาท ลดลง 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง-มีตั้งสำรองผลขาดทุนเพิ่มรับมือ NPL ขยับขึ้น
บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจตลาดทุน แจ้งผลการดำเนินงานรวมของบริษัทงวดไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,733.02 ล้านบาท ลดลง 59.56 ล้านบาท หรือ 3.3% จากไตรมาส 1/2566 สาเหตุมาจากการชะลอตัวลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง โดยไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 1,307.20 ล้านบาท ลดลง 5.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของธุรกิจหลักในภาวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักมีจำนวน 1,317.89 ล้านบาท ลดลง 7.9% จากไตรมาส 1/2566 ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 780.59 ล้านบาท ลดลง 2.5% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากธุรกิจนายหน้า ประกันภัยที่อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัว สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์มีจำนวน 124.30 ล้านบาท ลดลง 33.5% ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ลดลงอย่างมากท่ามกลางความผันผวนของตลาดทุน รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจลดลงเช่นเดียวกัน มีจำนวน 0.11 ล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนมีจำนวน 412.90 ล้านบาท ลดลง 0.8% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 5.4% ตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ
ตั้งสำรองเพิ่มหลัง NPL ขยับขึ้นเป็น 2.27%
การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 279.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวน 91.07 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็น 0.5% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น
เป็นไปตามนโยบายการตั้งสำรองเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.27% และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) ลดลงมาอยู่ที่ 177.8%
โดยกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (Basic Earnings per Share) สำหรับงวดไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 2.16 บาทต่อหุ้น ลดลงจาก 2.24 บาทต่อหุ้นในไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า และลดลงจาก 2.22 บาทต่อหุ้นในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16%
โดยภาวะเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนในไตรมาส 1/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำ โดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนในไตรมาส 1/2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 9 ล้านคน ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว แม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในงวด 2 เดือนแรกของปี 2567 ลดลงกว่า 21.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนแอลง ภาคการส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงชะลอตัวจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไตรมาส 1/2567 ลดลง 0.79% จากราคาอาหารที่ปรับลดลงในไตรมาสนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo-1 วัน) ที่ 2.50% และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงสิ้นปี 2566 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คงที่ที่ 1.14% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งประกอบไปด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ที่ 7.12% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ที่ 7.56% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่ 7.37%
สำหรับภาวะตลาดทุนในไตรมาส 1/2567 ยังคงซบเซา จากแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดที่ 1,377.94 จุด ปรับตัวลดลง 37.91 จุด หรือ 2.7% จากสิ้นปี 2566 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฟื้นตัวเล็กน้อย ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 43,821.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 42,959.19 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566