Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ของไทยที่ Baa1 และคงมุมมอง (Outlook) ความน่าเชื่อถือของไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เตือนหากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ศักยภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง และความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต (Downgrade)
เมื่อวันที่ 11 เมษายน Moody’s Investors Service สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อชั้นนำของโลก ประกาศ ‘คง’ อันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ไว้ที่ Baa1 (หรือเทียบเท่า BBB+) และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
สำหรับเหตุผลที่ Moody’s ตัดสินใจคงอันดับเครดิตเรตติ้งไทยมีดังนี้
- รัฐบาลไทยคาดว่าจะรักษาเสถียรภาพของภาระหนี้ (Stabilize Debt Burden) ได้ในระยะปานกลาง
- ตลาดทุนในประเทศยังเอื้อให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราต้นทุนต่ำ
- รัฐบาลไทยมีโครงสร้างหนี้ (Debt Structure) ที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้
- ไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย อีกทั้งมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล
เปิดความเสี่ยงฉุดอันดับเครดิตเรตติ้งไทย
อย่างไรก็ตาม Moody’s เตือนว่า เครดิตเรตติ้งไทยยังเผชิญแรงกดดันเชิงลบอย่างมากจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ความล่าช้าในการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ส่งผลให้ภาระหนี้รัฐบาล (Government Debt) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
- ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยอาจอ่อนแอลงเกินคาด เนื่องจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economy’s Potential) ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้นทุนทางการเงินที่อาจสูงเกินคาดจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- อัตราการเติบโตตามศักยภาพ (Growth Potential) ที่อ่อนแอลง เป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วขึ้น ท่ามกลางการลงทุนที่ชะลอตัว ทำให้จำกัดศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตในระยะสั้นถึงปานกลาง
- การแยกขั้วทางการเมือง (Polarisation) และความเสี่ยงทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ยังคงเป็นข้อจำกัดอันดับเครดิตสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยปิดกั้นความคืบหน้าในการปฏิรูปที่สำคัญและกระตุ้นให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการลงทุนอีกที
Moody’s จับตาดิจิทัลวอลเล็ต
Moody’s ระบุอีกว่า รัฐบาลไทยยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังต่อไป หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการขาดดุลที่กว้างขึ้นแตะ 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ส่งผลให้ Moody’s คาดว่าหนี้รัฐบาลไทย (Government Debt) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 58-59% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 จากระดับเพียง 33.7% ในปีงบประมาณ 2562 (ก่อนโควิด)
ในระยะกลาง Moody’s คาดว่า รัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภายในปี 2570-2571 ได้ผ่านการกลับมาใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในรอบการเมืองครั้งก่อนๆ
Moody’s คาดว่า ความสามารถในการจ่ายหนี้ของประเทศไทยจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน แม้ว่าไทยจะมีระดับหนี้ที่สูงกว่าในอดีตก็ตาม
เนื่องมาจากภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ที่ 5.6% เท่านั้นในประเทศไทยในปี 2566 เทียบกับค่ามัธยฐานที่ 8% สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่ Baa
Moody’s ยังคาดว่า การจ่ายดอกเบี้ยของประเทศไทยจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 6% ของรายได้รัฐบาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ หนี้ภาครัฐเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนทางการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งช่วยปกป้องงบดุลของรัฐบาลจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และด้วยระยะเวลาครบกำหนดโดยเฉลี่ยที่ยาวนาน
ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การอัปเกรด
Moody’s ระบุว่า อันดับเครดิตของไทยอาจจะได้รับการปรับเพิ่ม หากมีการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity-Enhancing Investment) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะช่วยชดเชยการเติบโตตามศักยภาพที่ลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากช่องว่างด้านทักษะในปัจจุบันและจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น โดยการลงทุนดังกล่าวยังอาจเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reforms) ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การขยายตัวของ EEC และ/หรือการผ่อนคลายความเสี่ยงทางการเมืองอย่างถาวรด้วย
ปัจจัยนำไปสู่การดาวน์เกรด
Moody’s กล่าวอีกว่า อันดับเครดิตน่าจะถูกปรับลดหากรัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐในระยะกลางได้ ซึ่งอาจมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ในระยะกลางอ่อนแอลง
รวมไปถึงหากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่ Moody’s คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง และหากความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนทำให้สถาบันอ่อนแอลงอย่างมาก และขัดขวางการกำหนดนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง: