ประเทศไทยกำลังต้อนรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทไต้หวัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการผลิตชิป
สัญญาณบวกล่าสุดที่เห็นได้ชัดคือการขยายโรงงานผลิตแห่งใหม่ของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีบริษัทแม่คือ Delta Electronics ในไต้หวัน ซึ่งระหว่างการเปิดโรงงานเมื่อเดือนก่อน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว และต้องการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของภูมิภาค โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและนโยบายสนับสนุนอื่นๆ
สำหรับโรงงานแห่งใหม่ของ Delta ที่เน้นผลิตส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า และแท่นชาร์จ ใช้เงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท ซึ่งรวมทั้งส่วนของศูนย์วิจัยและพัฒนา
นอกจากการลงทุนของ Delta ในส่วนของ EV แล้ว อีกหนึ่งบริษัทไต้หวันอย่าง Foxconn ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยร่วมทุนกับบริษัทอย่าง ปตท. (PTT) เพื่อสร้างโรงงานผลิต EV เช่นเดียวกับ Kymco จากไต้หวันที่จับมือ ปตท. เพื่อผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทย
นอกจากอุตสาหกรรม EV บริษัทจากไต้หวันยังขยายการลงทุนเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ในไทยอีกด้วย เช่น Zhen Ding Technology ที่จับมือกับเครือสหพัฒน์ ด้วยเงินลงทุนเฟสแรกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก เพื่อดึงเข้ามาลงทุนในไทย
เมื่อปี 2023 เม็ดเงินลงทุนจากไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็น 4.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากปี 2018 จากข้อมูลของ BOI ขณะเดียวกันไทยยังพยายามดึงเม็ดเงินลงทุนจากจีนเช่นกัน ซึ่งปีที่ผ่านมามีการอนุมัติเงินลงทุนราว 1.24 แสนล้านบาทจากบริษัทจีน นำโดยการลงทุน EV ของ BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีน
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการเข้ามาลงทุนของบริษัทจีนและไต้หวัน โดยเฉพาะในส่วนของ EV โดยรวมแล้วน่าจะเป็นลบกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย
“บริษัทยานยนต์ไทยส่วนใหญ่จะผลิตให้กับลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่บริษัทยานยนต์จีนที่เข้ามาตั้งโรงงานมักจะนำซัพพลายเออร์ของตัวเองมาด้วย และสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมบางส่วนจากผู้ผลิตไทย เมื่อลูกค้าญี่ปุ่นผลิตน้อยลง ทำให้บริษัทไทยถูกกระทบไปด้วย”
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มยานยนต์ไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา น่าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าญี่ปุ่นที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนให้กับยานยนต์จีน
ขณะที่บริษัทในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของไทย ผลประโยชน์จากการเพิ่มการลงทุนของไต้หวันน่าจะตกอยู่กับบริษัทนั้นๆ อย่างกรณีของ Delta ที่ขยายการลงทุนของตัวเอง ส่วนบริษัทอย่าง KCE อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยานยนต์ยุโรป หากยอดขายของลูกค้าลดลงก็อาจกระทบกับบริษัท
อ้างอิง: