วันนี้ (11 เมษายน) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) เวลา 16.30 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์, ชยพล สท้อนดี และ ภัสริน รามวงศ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมสำรวจสภาพการเดินทางของประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งได้ร่วมสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ทางเข้า จุดชาร์จโทรศัพท์มือถือ ห้องน้ำ ห้องอาหาร ไปจนถึงชานชาลา
พิธาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หากพิจารณาตัวเลขรายได้ของ บขส. อย่างเดียว ย้อนหลัง 5 ปี มีผู้ใช้บริการประมาณ 6 ล้านคน ล่าสุดปี 2566 เหลืออยู่ 2.6 ล้านคนหรือหายไปประมาณ 2-3 เท่า สอดคล้องรายได้ของ บขส. ที่หายไป 2-3 เท่าเช่นกัน รัฐบาลควรกำหนดวาระการคมนาคมโดยดูภาพใหญ่มากกว่าการเน้นสร้างอย่างเดียว ที่ผ่านมาเห็นว่านายกรัฐมนตรีไปที่ไหนก็บอกอยากสร้างสนามบินเพิ่ม
สำหรับตนแล้วสิ่งที่อยากให้เน้นคือการซ่อมและบริหารสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงให้การคมนาคมจากกรุงเทพมหานครกลับภูมิลำเนาเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรถบัสที่ควรจะเป็นรูปแบบการขนส่งที่ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด วันนี้แม้การเดินทางจาก กทม. จะพอสะดวกบ้าง แต่เมื่อไปถึงที่หมายกลับไม่มีอะไรรองรับต่อ ขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนในแต่ละจังหวัด ถ้าอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น การขนส่งสาธารณะและการคมนาคมภาพใหญ่ของประเทศไทยก็จะดีขึ้นด้วย
โดยเฉพาะการดูแลโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เน้นซ่อมและบริหารให้ดีขึ้น มีรถที่ดีขึ้น บริหารพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสะดวกขึ้น ออกแบบให้รองรับถึงผู้พิการ ดีกว่าที่จะเน้นแต่การสร้างโครงการขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว
พิธากล่าวถึงการให้คะแนนสถานีขนส่งหมอชิตว่า เรื่องนี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ให้คะแนนจะดีกว่า หากจะให้คะแนนแบบนี้มองว่าทำแบบสอบถามในเพจของตนดีกว่าว่าเต็ม 10 ให้เท่าไร มีอะไรต้องปรับปรุง เพราะคนให้คะแนนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ให้คะแนน
ส่วนศุภณัฐให้คะแนน 7 เต็ม 10 เหตุผลที่ให้คะแนนน้อยกว่านายกรัฐมนตรีนั้นเนื่องจากนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้เห็นภาพก่อนและหลังการปรับปรุงสถานีขนส่งหมอชิต ตนเองมองว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาได้อีก เช่น บันไดเลื่อน ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำออกไปแล้ว โดยไม่ได้มีการนำมาของใหม่มาทดแทน
ส่วนชานชาลาสำหรับรอขึ้นรถนั้น ประชาชนยังรอด้วยสภาพอากาศที่ร้อน และต้องรับฝุ่นควันเหมือนเดิม ซึ่งตนเองมองว่าปรับปรุงให้เป็นห้องแอร์น่าจะไม่ได้ใช้งบประมาณมาก ซึ่งแม้จะมีการเสริมพัดลมไปแล้วแต่อากาศก็ยังร้อนอยู่ ตนคิดว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงว่าการปรับปรุงจะเป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการ หรือประชาชนผู้ใช้บริการนั้นรู้สึกอย่างไร
ศุภณัฐกล่าวต่อว่า สถานีขนส่งหมอชิตแม้จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว แต่ตนคิดว่ารัฐบาลควรที่จะต้องมีวาระว่าจะทำอะไรบ้าง ไม่ใช่รอให้เราพูดก่อนถึงจะค่อยมาทำตาม ซึ่งตนเองก็เห็นว่ายังอีกหลายจุดที่ยังไม่ได้พัฒนา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าราคาค่าโดยสารใกล้เคียงกับเครื่องบิน ทำให้คนนิยมเดินทางด้วยเครื่องบินมากกว่า พิธากล่าวว่า มันคือไก่กับไข่ ถ้าเริ่มตั้งไข่ให้ได้ก่อน ให้มันสะดวกสบาย สะอาด คนใช้มากขึ้น จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขาดทุนลดลง ราคาก็จะปรับถูกลงได้ และเป็นทางเลือกให้ประชาชนเลือกใช้แบบใดที่สะดวกมากกว่า เหมือนบางประเทศที่มีสายการบินราคาถูก มีรถไฟฟ้า รถบัส อย่างประเทศญี่ปุ่น ราคาไม่ต่างกัน แต่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนเดือดร้อนในการเดินทาง
ส่วนแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ให้หารายได้เพิ่มจากป้ายโฆษณา จากเดิมที่มีรายได้จากการเช่าพื้นที่และป้ายโฆษณา 3 ล้านบาท พิธามองว่าต้องจัดลำดับความสำคัญ ธุรกิจหลักของที่นี่คือการขนส่ง ไม่ใช่การโฆษณา หากธุรกิจขนส่งทำให้ดีแล้ว ถ้ามีรายได้เพิ่มจากการโฆษณาก็ถือเป็นเรื่องดี ปีที่ผ่านมาขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่ดูแลธุรกิจหลัก แต่กลับไปดูโฆษณามากขึ้น จะเป็นการบริหารที่ติดๆ ขัดๆ จากที่ผู้โดยสาร 6 ล้านคน ก็หายไปเหลือ 2.6 ล้านคน ธุรกิจโฆษณาจะไปได้ไม่ไกล การปรับปรุง บขส. ขอให้แค่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20-30% ของนักท่องเที่ยวที่มา ถ้าทำสำเร็จก็พลิกโฉม บขส. ถ้าตั้งไข่ได้ที่เหลือก็ตามมาเอง
ปฏิเสธวัดพลังการเมือง ‘ทักษิณ-เศรษฐา’
พิธากล่าวยืนยันว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ไม่ได้เป็นการวัดพลังทางการเมือง หลังจากถูกตั้งข้อสังเกตถึงการลงพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกันกับแกนนำของฝ่ายรัฐบาลว่า ให้ย้อนดูดิจิทัลฟุตพรินต์ได้เลย เราแจ้งว่าจะมาลงพื้นที่ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการสำรวจหมอชิตในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ และเป็นพื้นที่ของศุภณัฐที่มีการลงพื้นที่เป็นประจำอยู่แล้ว การลงพื้นที่ในวันนี้จึงเป็นวันและเวลาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการเปรียบเทียบกันว่าเป็นการวัดพลังทางเมืองจึงเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยและไม่มีข้อเท็จจริง
“เราต่างคนก็ต่างมีหน้าที่ของตัวเอง เรามีหน้าที่ที่จะต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน การลงพื้นที่ในวันนี้จึงเป็นเพียง 2 ข้อนี้ ไม่ได้มองทุกอย่างเป็นการเมืองทั้งหมด” พิธากล่าว
พิธายังอธิบายถึงว่าการถูกจับตามองในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการลงพื้นที่ที่สถานีขนส่งหมอชิตในวันนี้ก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่นายกรัฐมนตรีสำรวจปัญหาเช่นเดียวกันว่า การไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นั้นเกินค่ามาตรฐานยาวนานกว่า 23 วัน ทั้งยังติดอันดับหนึ่งของโลกด้วย เมื่อเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แม้จะไปเหมือนกัน ทำกิจกรรมไม่เหมือนกัน ข้อเสนอก็แตกต่างกัน ดังนั้นเหตุและผลในการไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คนคนเดียว