เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกาศลดค่าโอน-จำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% บ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท คาดกระตุ้น GDP ได้ถึง 1.8%
วันนี้ (9 เมษายน) กฤษฎา จีนะวิจารณะ และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยประกาศลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
โดยการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมโครงการนี้ต้องมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน และต้องมีผลเฉพาะที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกันเท่านั้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวสำหรับผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเท่านั้น
สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมโครงการนี้ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์มือ 1 และมือ 2 ได้แก่
- อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว
- อาคารพาณิชย์
- ที่ดินพร้อมอาคาร
- ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) ต่างๆ เรียกร้องมายาวนาน เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลกำหนดเพดานมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองไว้ที่บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองแล้ว ครม. ยังอนุมัติชุดมาตรการกระตุ้นอื่นๆ อีกรวมเป็น 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน, โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 2 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 1 หมื่นล้านบาท โดย ธอส., มาตรการให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และโครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 1 หมื่นล้านบาท
เปิดผลกระทบทั้งทางบวกและลบ (ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น)
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับรายได้ที่รัฐคาดว่าจะสูญเสีย จะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่เดือนละ 2 พันล้านบาท (โดยหากนับรวมเดือนเมษายน-ธันวาคมนี้จะอยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ดี อีกทางหนึ่งมาตรการนี้น่าจะกระตุ้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้เพิ่มขึ้นในหลักร้อยถึงพันล้านบาท และทำให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจนั้นๆ
พรชัยยังคาดว่าชุดมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นี้จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 1.7-1.8% แบ่งเป็น
- มาตรการลดค่าธรรมเนียม จะช่วยกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวได้ 1.58%
- มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน จะช่วยกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวได้ 0.01%
- การปล่อยสินเชื่อจาก ธอส. จะช่วยกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวได้ราว 0.07-0.08%
- การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารออมสิน จะช่วยกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกับ ธอส.
ส่องสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกลุ่ม 3-7.5 ล้านบาท
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ชุดมาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้คนออกมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะบ้านราคาตั้งแต่ 3-7 ล้านบาทจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ ‘ผู้ที่มีกำลังซื้อ’ และ ‘ผู้มีศักยภาพ’ ตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายและเร็วขึ้น เป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์อุปทาน (Supply) ตลาดที่อยู่อาศัยกลุ่ม 3-7.5 ล้านบาท อยู่ในภาวะ ‘อุปทานสูงสะสม’ โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50-60% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งประเทศ มีสต็อกอสังหาริมทรัพย์กลุ่ม 3-7.5 ล้านบาท เหลืออยู่ 80,000 หน่วย นับเป็นจำนวนที่สูงกว่าช่วงโควิดเมื่อปี 2563
ตัวอย่างเช่นในปี 2566 ปีเดียว มีการเปิดตัวโครงการใหม่รวมทั้งสิ้น 28,000 หน่วยในปี 2566 ขณะที่ขายได้เพียง 25,000 หน่วยเท่านั้น