วันนี้ (9 เมษายน) ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่มีการสู้รบว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยในจำนวนที่เยอะ แต่มีเดินทางเข้ามาบ้างประปรายจากที่เคยเดินทางเข้ามาอยู่แล้ว
ส่วนที่เครื่องบินโดยสารจากเมียนมา 1 ลำขอลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอดนั้น ปกติก็มีการขอมาจอดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเครื่องบินที่เป็นเครื่องบินพาณิชย์ไม่ใช่เครื่องบินทหาร เมื่อขออนุญาตมา ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ออกใบ Clearance เพื่อให้สายการบินบินมาในประเทศไทยได้
ปานปรีย์กล่าวว่า ครั้งนี้ก็เป็นการขอมาจากเอกอัครราชทูตของเมียนมาประจำประเทศไทย โดยขอความร่วมมือเนื่องจากมีสถานการณ์ในเมียนมาและมีประชาชนได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยในเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งเราก็ตอบรับ
โดยรอบแรกขอมา 3 ครั้ง คาดว่าน่าจะมีประชาชนชาวเมียนมาข้ามชายแดนมาเยอะ แต่สุดท้ายปรากฏว่าไม่มี รวมถึงข้าราชการที่ขอเข้ามา เข้าใจว่าอาจจะมีการเจรจากันระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กันในพื้นที่และอาจตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม โดยปกติทางการทูตไม่ว่าจะเป็นประเทศใด เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้าราชการได้ แต่ทั้งหมดที่ผ่านชายแดนมายืนยันได้ว่าไม่มีอาวุธ ไม่มีกำลังพล ไม่มีทหาร และแต่เดิมที่จะเดินทางเข้ามาก็ขอยกเลิกไป ไม่ได้เดินทางเข้ามา ดังนั้นเหลือแต่เอกสารทางราชการที่ส่งกลับไปเท่านั้น
เตรียมแผนรับผู้อพยพเมียนมา 1 แสนคน
ปานปรีย์กล่าวด้วยว่า ในการประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญฝ่ายความมั่นคงเข้ามา เพราะมีความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ประเทศไทยจะเตรียมสถานการณ์รองรับได้อย่างไรบ้าง ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมแผนรองรับแล้ว น่าจะรับได้ประมาณ 1 แสนคนให้เข้ามาในที่ปลอดภัยชั่วคราว
ส่วนคำถามต่อไปว่า ถ้ามีจำนวนคนเข้ามามากกว่าแสนคนจะทำอย่างไร ผู้รับผิดชอบก็แจ้งว่าสามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อกับต่างประเทศด้วยว่า หากเกิดความรุนแรงแล้วมีคนเข้ามาเป็นหลักแสนจะดำเนินการอย่างไร เพราะประเทศไทยไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้โดยลำพัง
ปานปรีย์กล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงการค้าชายแดน ก่อนหน้านี้บริเวณชายแดน โดยเฉพาะที่แม่สอด การค้าลดลงอย่างมาก แต่ตอนนี้ข้าราชการกรมศุลกากร ตม.ฝั่งเมียนมา ยังทำงานเป็นปกติ แต่อาจจะไม่ได้ใส่เครื่องแบบ การค้ายังเข้า-ออกได้ปกติ หากเข้า-ออกไม่ได้ก็จะย้ายไปพื้นที่ชายแดนอื่นต่อไป
กองทัพพร้อมหากล้ำน่านฟ้าไทย
ส่วนกรณีให้เครื่องบินมาจอดจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่นั้น ปานปรีย์ยืนยันว่าไม่มี เพราะไม่ใช่เครื่องบินทหาร เป็นเครื่องบินพลเรือนของเมียนมา ซึ่งปกติก็บินเข้า-ออกประเทศไทยอยู่แล้ว และในกรณีที่อาจจะมีการล่วงละเมิดน่านฟ้า ทางกองทัพก็มีความพร้อมว่าจะดำเนินการอย่างไร
ชี้หารือต้องถกทุกฝ่าย ย้ำไทยเป็นกลาง
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะให้มีการเจรจานั้น ปานปรีย์กล่าวว่า การเจรจาต้องเจรจาให้ครบทุกกลุ่ม ทั้งทางการเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องทำ แต่ยืนยันว่าประเทศไทยมีความเป็นกลางอย่างแน่นอน และเรามีความประสงค์ให้เกิดสันติสุขและเกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมา เพราะไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เมื่อมีการสู้รบกันมากขึ้น ก็จะต้องหาทางที่จะทำให้เกิดการเจรจา เพื่อให้การสู้รบยุติลงและเกิดการพูดคุยกันมากขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลบหนีการสู้รบเข้ามาอยู่ฝั่งไทยแล้วมาอยู่รวมกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันหรือไม่ ปานปรีย์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งผู้รับผิดชอบทั้งกระทรวงมหาดไทยและกองทัพ ไม่ต้องห่วง เราแยกแยะได้ เพราะมีผู้รู้ว่าในพื้นที่ต่างๆ เป็นชนกลุ่มไหน ชาติพันธุ์ไหน และประชาชนชาวเมียนมาส่วนมากก็ข้ามไปข้ามมาเป็นปกติ
ชายแดนยังสงบ เชื่อสถานการณ์เมียวดีไม่รุนแรง
ปานปรีย์กล่าวอีกว่า ณ วันนี้ชายแดนยังมีความสงบอยู่ จากที่ได้รับรายงาน มีการค้าขายกันปกติ แม้การค้าอาจจะลดน้อยลงและประชาชนยังมีความกังวลอยู่บ้างว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเกิดอะไรที่รุนแรงในพื้นที่ของเมียวดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ของเศรษฐกิจโดยตรง ส่วนการสนับสนุนเรื่องชายแดน ตอนนี้ทางกองทัพได้เพิ่มกำลังไปแล้วและดูแลอย่างใกล้ชิด เข้มงวด
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นผู้ควบคุม เข้าไปมีส่วนในการสู้รบเหมือนกรณีของจีนหรือไม่ ปานปรีย์กล่าวว่า เราไม่ได้เข้าไปควบคุมใครและเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมรัฐบาลอื่นได้ แต่เราทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในเมียนมา และไม่ใช่เฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว
ยืนยันอนุญาตเครื่องบินเข้าประเทศมีขั้นตอน
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่ารัฐบาลตัดสินใจอนุญาตให้เครื่องบินลงจอดโดยไม่ได้ประสานงานกับกองทัพนั้น ปานปรีย์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการและเป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่มีเหตุการณ์ก็มีการประสานงานเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร และนายกรัฐมนตรีก็รับทราบและตัดสินใจสอดคล้องกันผ่าน สมช.
ส่วนจำเป็นต้องให้จีนมาร่วมมีบทบาทในการเจรจากับเมียนมาหรือไม่ ปานปรีย์กล่าวว่า เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่เป็นเรื่องของประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งจีน อินเดีย บังกลาเทศ และ สปป.ลาว จะมาร่วมกัน เพราะทั้ง 4 ประเทศนี้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศไทย