ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดตลอดกาลอีกครั้งในช่วงคืนที่ผ่านมา (1 เมษายน) แตะระดับ 2,265 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแรงกระตุ้นล่าสุดมาจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ (PCE) ของสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลง ทำให้ตลาดเพิ่มความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมจะลดดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในตะวันออกกลางและยูเครน แรงซื้อทองคำที่แข็งแกร่งของธนาคารกลางหลายประเทศ และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของจีนที่กักตุนทองคำ ยังเป็นอีกแรงหนุนที่ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย โดยราคาทองคำเพิ่มขึ้นราว 10% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
เงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นบวกต่อทองคำ
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มีนาคม) แสดงให้เห็นว่า ดัชนีการใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน สะท้อนถึงเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
รายงานฉบับนี้ได้สนับสนุนมุมมองของ Fed ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ตามข้อมูลจาก CME FedWatch Tool คาดความน่าจะเป็น 69% ที่ Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายเดือนมิถุนายน โดยปกติแล้วราคาทองคำมีความสัมพันธ์ผกผันกับอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ทองคำจะมีความน่าดึงดูดมากขึ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ที่จะมีผลตอบแทนลดลงในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ความต้องการทองคำในจีนยังคงสูงขึ้น
Caesar Bryan ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัทจัดการลงทุน Gabelli Funds แสดงความเห็นว่า ราคาทองคำได้รับแรงผลักดันให้สูงขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศจีนเป็นอย่างมาก นักลงทุนหันเข้ามาลงทุนในทองคำ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของจีนยังคงอ่อนแอ ส่วนตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก ท่ามกลางความหวาดกลัวถึงผลกระทบที่ลุกลามจากวิกฤตฟองสบู่อสังหา
ความต้องการทองคำของจีนเห็นได้ชัดเจนในไตรมาสล่าสุด ธนาคารกลางของประเทศจีนได้เพิ่มปริมาณทองคำสำรองอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประชากรจีนอายุน้อยยังแสดงความสนใจในการซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้น
ทองคำในฐานะหลุมหลบภัยท่ามกลางความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนในภูมิทัศน์ทางการเมืองของสหรัฐฯ กับความนิยมอย่างต่อเนื่องของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนทำให้นักลงทุนเบี่ยงความสนใจมาที่สินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven) อย่างทองคำมากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อที่แข็งแกร่งจากธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนสำรอง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารชั้นนำหลายแห่งได้ออกมาสนับสนุนแนวโน้มเชิงบวกของทองคำ โดย JPMorgan Chase & Co. ระบุว่า ทองคำเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อเดือนที่แล้ว และคาดการณ์ว่าราคาจะแตะ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในปีนี้
ขณะที่ Goldman Sachs Group Inc. คาดการณ์ถึงศักยภาพเชิงบวกของทองคำที่จะแตะระดับ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยอ้างถึงสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทางด้าน Stephen Akin ที่ปรึกษาการลงทุนของ Akin Investments มองว่า ตัวชี้วัดทางเทคนิคยังคงดีในระยะยาว และเขาตั้งข้อสังเกตว่าราคาอาจเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 2,300-2,400 ดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 1-2 ปี
Joseph Cavatoni นักกลยุทธ์การตลาดของ World Gold Council กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของทองคำ โดยได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ให้น้ำหนักที่หนักแน่นมากขึ้นว่า Fed จะหั่นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2024/04/01/gold-prices-hit-new-record-high-on-fed-cut-expectations.html
- https://www.fxstreet.com/news/gold-price-forecast-xau-usd-rises-to-all-time-highs-above-2-250-eyes-on-chinese-us-manufacturing-pmi-data-202404010041
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-04-01/gold-xauusd-hits-record-on-fed-cut-outlook-and-geopolitical-tension?srnd=homepage-asia&sref=CVqPBMVg
- https://tradingeconomics.com/commodity/gold