ถึงวันนี้เวียดนามยังเป็นหมุดหมายของนักลงทุน แต่ไม่ง่าย ทั้งการแข่งขัน สินค้าเลียนแบบ พฤติกรรมผู้บริโภคซับซ้อน พาส่องจุดแข็งที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้! สินค้าจะเจาะตลาดเวียดนามได้ต้องโดดเด่น แพ็กเกจจิ้งภาษาไทย พร้อมกำกับว่าเป็น Product of Thailand
ทำไมตลาดเวียดนามถึงเป็นที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย? THE STANDARD WEALTH มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ SEA Bridge และปันโปร เพื่อสำรวจตลาดและอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อหาลู่ทางและโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจนำสินค้าเข้าไปเจาะตลาด
ก่อนจะเข้าไปทำตลาดในเวียดนามผู้ประกอบการไทยต้องรู้ก่อนว่า เวียดนามมีเป้าหมายอยากจะขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2045 และภาพรวมเศรษฐกิจ GDP จะต้องโต 6.5%
จากการกำหนดทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเปิดกว้างให้นักลงทุนในประเทศอื่นเข้ามาลงทุน ด้วยนโยบาย FDI ตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปันโปรแท็กทีม SEA Bridge เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘เหงียนไทย’ งัดคอนเทนต์สินค้า-ท่องเที่ยวไทย ดึงผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดเวียดนาม
- GDP เวียดนามโต 5.66% ในไตรมาสแรก ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้ 6.4%
- ไต้หวันรับมือวิกฤตขาดแคลนแรงงานไฮเทค ดึงนักศึกษาอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียเติมเต็มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ถึงกระนั้นจุดแข็งของประเทศเวียดนาม แม้จะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์แต่การเมืองมีนโยบายชัดเจน ที่ผ่านมาเวียดนามพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยและภาษี พร้อมปรับขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงการผลักดันด้านการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ ด้วยประชากรที่มีอยู่กว่า 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว สนใจเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และคาดปี 2030 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 105 ล้านคน
แน่นอนว่าด้วยทิศทางการเติบโตของเวียดนามเป็นที่น่าสนใจของผู้ประกอบการในหลายๆ ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย โดยปัจจุบันภาพรวมการค้าไทยและเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มีการส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 1,628 ล้านดอลลาร์ และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6
ทั้งนี้การจะเข้าไปทำตลาดนอกจากจะศึกษาเรื่องกฎหมายและหาดิสทริบิวเตอร์ สิ่งสำคัญจะต้องรู้พฤติกรรมผู้บริโภคก่อน เพราะผู้คนในเวียดนามทั้งเหนือ กลาง ใต้ ไม่เหมือนกันเลย โดยภาคเหนือจะมีความ Loyalty กับแบรนด์สูงมาก ส่วนภาคกลางจะตัดสินใจซื้อสินค้าตามโฆษณา และภาคใต้จะชอบลองสินค้าใหม่ๆ
สำหรับกลุ่มสินค้ายอดฮิต ได้แก่
- อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะขนมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีการเติบโตอย่างมาก
- สินค้าความงามเครื่องสำอาง จะเห็นผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15-39 ปี มีรายได้สูงและยินดีที่จะจ่ายให้กับสินค้าพรีเมียม โดยสินค้าความงามที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ระงับกลิ่นกาย และเครื่องสำอาง ส่วนใหญ่จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
- เครื่องใช้ไฟฟ้า แบรนด์สินค้าที่ผลิตจากไทยจะได้รับความนิยมมากกว่าประเทศอื่น
ส่วนช่องทางขายสินค้าหลักๆ ก็คล้ายๆ กับไทยที่มีทั้งโมเดิร์นเทรด และอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee, Lazada และ TikTok
เมื่อเจาะลึกมาถึงลู่ทางในการเจาะตลาด
- ต้องศึกษาช่องทางการตลาดใหม่ๆ
- รู้ว่าคู่แข่งคือใคร มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
- สร้าง Positioning ให้กับสินค้า ออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้มีภาษาไทย และกำกับว่าเป็น Product of Thailand
- ศึกษากฎระเบียบ และปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์
ที่สำคัญกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละภาคจะไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันเลยก็คือในสายตาคนเวียดนามสินค้าไทยมีประสิทธิภาพมาก และใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน และอีกหนึ่งความท้าทายในตลาดดังกล่าว คือการแข่งขันสูงทั้งสินค้าที่ทะลักจากจีนเข้ามาและปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และเลียนแบบปลอมแปลงสินค้า ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยจะนำเข้าสินค้าเข้าไปต้องรีบจดลิขสิทธิ์ทันที
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสินค้าไทยที่วางขายในห้าง MM Mega Market ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ในฮานอย พบว่ามีสินค้าไทยเข้ามาวางจำหน่ายในห้างรวมกว่า 2,000 รายการ และสินค้าไทยได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขนม และสินค้าอุปโภคต่างๆ
พร้อมยังได้เข้าเยี่ยมชมงาน Mini Thailand Week 2024 ที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นครั้งที่ 3 ในเมืองฮาลอง จังหวัดกว๋างนิญ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลของเวียดนาม โดยภายในงานมีบูธสินค้าของผู้ประกอบการไทยไปนำเสนอสินค้า ซึ่งงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไทยที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับคนในท้องถิ่นได้โดยตรง
ด้าน กฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด (ปันโปร) กล่าวในงาน Mini Thailand Week 2024 ว่า ตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจของบรรดาผู้ประกอบการ ด้วยจำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อ บวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการบริโภคทั้งกลุ่มสินค้าอาหารเครื่องดื่มเติบโตตามไปด้วย
หลังจากที่ปันโปรจับมือ SEA Bridge เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘Nghien Thai’ (เหงียนไทย) สร้างคอนเทนต์วัฒนธรรม สินค้า บริการท่องเที่ยวไทย เพื่อดึงผู้ประกอบการไทยมาเจาะตลาดเวียดนาม วันนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคนแล้ว
จากนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เปิดให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาศึกษาคอนเทนต์และนำสินค้ามาโปรโมตให้คนเวียดนามสนใจ ขณะนี้เริ่มมีลูกค้าเข้ามาแล้วทั้งธุรกิจไทยที่มีสินค้าอยู่ในเวียดนามอยู่แล้ว และธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟในพื้นที่ที่ต้องการโปรโมตเพิ่มเติม
จุดแข็งของเราต่างคนต่างนำเอาความเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน อย่าง SEA Bridge จะเน้นการดีลธุรกิจภาครัฐและเอกชน ส่วนปันโปรจะทำงานในส่วนของโอเปอเรชันและคอนเทนต์เป็นหลัก
อย่างไรก็ตามเร็วๆ นี้เราเตรียมขยายแพลตฟอร์มออนไลน์ไปในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองประเทศนี้สนใจสินค้าจากไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และไม่ได้หาสินค้าไทยได้ง่ายเหมือนประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต
เรียกได้ว่าแพลตฟอร์ม Nghien Thai ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้เป็นตัวช่วยในการนำสินค้าเข้าไปเจาะตลาดเวียดนามได้เช่นเดียวกัน