วันนี้ (29 มีนาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบพันธมิตรฯ บุกสนามบินดอนเมือง หมายเลขดำ อ.1087/56 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง สุริยันต์ ทองหนูเอียด, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, สโรชา พรอุดมศักดิ์, การุณ ใสงาม, วีระ สมความคิด, พล.อ. ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดง ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย
ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของท่าอากาศยานไทย เสียหาย 627,080 บาท เพื่อกดดันให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง
ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
โดยก่อนฟังคำพิพากษา ปานเทพเปิดเผยว่า วันนี้ศาลนัดจำเลยในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามบินเมื่อปี 2551 ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาคดีตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุรวมแล้วเป็นปีที่ 15 การต่อสู้ในคดีรอบที่ผ่านมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ถูกพิพากษาไปแล้วในชั้นศาลอาญา แกนนำบางส่วนถูกปรับ 20,000 บาท ที่เหลือยกฟ้องในทุกข้อหา สำหรับชุดที่ 2 เป็นคดีที่ต่อเนื่องกัน แต่เนื่องจากมีจำเลยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ศาลแบ่งออกเป็น 2 คดี
ปานเทพกล่าวต่อว่า เราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในชั้นศาล ที่เราต่อสู้มาในรอบหลายปีเพื่อมาสู่จุดนี้ว่าพวกเราทั้งหมดไม่เคยหนี ไม่เคยขอร้องอภิสิทธิ์ใด และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคดีจนถึงในชั้นการพิพากษา แม้กระทั่งการอยู่ในเรือนจำ
ส่วนคดีพันธมิตรฯ ไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ เพิ่งจะมีเมื่อวานนี้ (28 มีนาคม) ที่อัยการไม่ยื่นฎีกาเป็นครั้งแรก ในกรณีของการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มีหลายคนต้องถูกโทษจำคุกไปแล้วในคดีการชุมนุมที่หน้าสถานีโทรทัศน์ NBT รวมไปถึงการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และทั้งหมดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเราทั้งหมดไม่ได้รับอภิสิทธิ์ ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง
ปานเทพกล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ให้กับใคร แม้กระทั่งกับพวกเราเอง แต่ตนอยากเรียกร้องให้คนที่รับอภิสิทธิ์ทั้งหลายได้รับโทษตามกฎหมาย ที่มาวันนี้ไม่เคยเรียกร้องอภิสิทธิ์ใด เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกคนเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม และชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายในคดีของสนามบิน ซึ่งบางส่วนมีการฟ้องร้องกัน ยังไม่สิ้นสุดระหว่างการบินไทยที่มีการฟ้องร้องในคดีความแพ่งกับผู้ชุมนุมสนามบิน
ส่วนคดีเรื่องของท่าอากาศยานฯ ฟ้องไปแล้ว สิ้นสุดไปแล้ว ยึดทรัพย์บางส่วน แต่คดีนี้รอผลลัพธ์ทางคดีอาญาให้จบสิ้นก่อนเพราะมีการเรียกร้องในคดี
ด้าน ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาในวันนี้ว่า จากคำตัดสินของชุดแรกก็รู้มีความมั่นใจว่าวันนี้ศาลจะตัดสินยกฟ้องเหมือนชุดแรก เพราะกลุ่มที่ 2 มีจำเลยทั้งหมด 67 คน ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแนวร่วม ไม่ใช่กลุ่มแกนนำหลัก คาดว่าศาลน่าจะพิจารณาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ส่วนคดีทางอาญาก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานเฉพาะบุคคล
ด้าน สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินทางมาที่ศาลอาญาในวันนี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้กับจำเลยชุดที่ 2 เนื่องจากสนธิเป็นจำเลยในชุดแรกที่ถูกพิจารณาคดีไปแล้ว
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พวกจำเลยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน และอดีตเอกอัครราชทูต มาชุมนุมเพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของ ทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุก ทักษิณ ชินวัตร หลายคดี
โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา