×

เมื่อ ‘ทักษิณ’ ถูกเอ่ยถึงในสภาไม่ได้ สส. เพื่อไทยประท้วงวุ่น ขอความร่วมมืองดพูดถึงบุคคลภายนอก

28.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (28 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา และกระทู้ถามทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย ‘รังสิมันต์ โรม’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยมี พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ดังกล่าวแทน 

 

‘ประท้วง’ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มถาม 

 

ก่อนที่จะมีการเริ่มตั้งกระทู้ถามของรังสิมันต์นั้น ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส. มหาสารคาม และ ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง เนื่องจากเห็นว่ากระทู้ดังกล่าวเป็นกระทู้ซ้ำซาก มีการตั้งคำถามในที่ประชุมแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ขณะเดียวกันกระทู้ดังกล่าวมีการระบุถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน

 

จากนั้น ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายโดยขอให้ประธานควบคุมการประชุม นอกจากนี้ การตั้งกระทู้ครั้งนี้ยังไม่มีการระบุว่านักการเมืองคนใด ผู้ถามกระทู้ก็พร้อมถาม และรัฐมนตรีที่จะมาตอบก็พร้อมตอบอยู่แล้ว ขณะเดียวกันสังคมก็กำลังรอคำตอบเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

 

วันมูหะมัดนอร์ได้วินิจฉัยว่า การบรรจุกระทู้นั้นได้มอบหมายให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานรัฐสภา คนที่ 2 เป็นผู้พิจารณา เมื่อพิเชษฐ์ได้พิจารณาและอนุญาตให้ซักถามแล้วจึงถือว่าผ่านการวินิจฉัยมาแล้ว การประชุมในวันนี้จึงต้องมีการรับฟัง หากมีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก หรือระบุในกระทู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตนเองจะพิจารณาระหว่างการประชุมอีกครั้ง

 

ก่อนจะเข้าสู่การตั้งคำถาม รังสิมันต์ได้ชี้แจงว่า กระทู้ดังกล่าวเป็นการตั้งกระทู้ถามทั่วไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษานอกเรือนจำ ซึ่งเป็นกระทู้ที่ตั้งมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 นับเป็นครั้งแรก ตนเองยังไม่เคยโดนประท้วงตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นถาม แต่ตนเข้าใจถึงความไม่สบายใจของทุกคนเป็นอย่างดี และยืนยันว่าจะถามให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยยังอยู่ในขอบข่ายอำนาจของรัฐมนตรีที่จะตอบได้อย่างแน่นอน

  

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งที่รังสิมันต์ระบุถึงทักษิณ ไชยวัฒนาได้ลุกประท้วงโดยกล่าวว่า อย่าเอ่ยถึงชื่อบุคคลภายนอก เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย และบุคคลนั้นไม่มีโอกาสมาตอบโต้ โดยวันมูหะมัดนอร์ได้ขอให้รังสิมันต์อย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก เพราะจะเกิดความเสียหาย รวมทั้งได้อธิบายถึงลักษณะของกระทู้ถามสดว่าต้องไม่ใช่การอภิปรายหรืออธิบาย ต้องเป็นการตั้งคำถามเท่านั้น

 

รังสิมันต์กล่าวต่อว่า การเอ่ยชื่อไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย จึงขอใช้คำว่า โทนี วูดซัม ซึ่งเป็นนามแฝงของทักษิณ แต่ สส.พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงคัดค้าน รังสิมันต์จึงใช้เพียงคำว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น 

 

โรมถาม ทวีตอบ 

 

รังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่การเดินทางกลับประเทศไทยและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนั้น ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่ความอยุติธรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นต่อวงศ์ตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่มีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในลักษณะเดียวกันด้วยเช่นกัน การพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นพื้นที่การพักรักษาตัวของผู้ป่วย VIP จนเกิดการตั้งคำถามในสังคมว่าเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมคนอื่นจะได้รับสิทธิในลักษณะนี้หรือไม่ 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาทางกฎหมายตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 เขียนไว้ว่า เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามสถานที่รักษาผู้ต้องขัง

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภา ถึงสาเหตุการจัดห้องพักชั้น 14 เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีเคยถูกลอบสังหารจากเหตุคาร์บอมบ์ จึงตั้งคำถามว่า รัฐมนตรีมีรายงานหรือข้อมูลข่าวกรองว่าจะมีเหตุลอบสังหาร-ทำร้ายอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ การพักในโรงพยาบาลตำรวจซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่ใช่ที่ปลอดภัยอย่างไร และการพักรักษาตัวที่ห้องอื่นปลอดภัยน้อยกว่าชั้น 14 อย่างไร

 

รังสิมันต์ได้เทียบอาการของอดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ เช่น เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองที่ป่วยด้วยโรคฝีในตับ แม้อาการยังไม่หายดี แต่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวกลับเรือนจำทันที จึงต้องการถามว่า กรณีอาการป่วยดังกล่าวมีความร้ายแรงน้อยกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างไร 

 

รังสิมันต์ยังแสดงความประสงค์ขอชื่อแพทย์ผู้ที่รับรองการรักษาอดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าหากกรณีดังกล่าวมีการทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องจะได้สามารถดำเนินการกับแพทย์ได้ ขอยืนยันว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ไม่ได้ห้ามเปิดเผยชื่อแพทย์

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “เราควรจะทำความจริงให้ปรากฏ เมื่อความจริงปรากฏ ความชั่วร้ายจะหายไป” พร้อมยืนยันว่าการปฏิบัติต่ออดีตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ตนเองยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ตนเองยึดมั่นตามกฎหมายในรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม 

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับถึงประเทศไทยในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกล่าวว่า ทักษิณนั้นมีความกล้าหาญที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม โดยไม่รอให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยเสียก่อน

 

ขณะนั้นมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นั่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งการเข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตนเอง ไม่อาจที่จะไปสั่งการ พล.อ. ประยุทธ์ หรือแม้แต่วิษณุซึ่งนั่งรักษาการอยู่ขณะนั้นได้ ยังไม่รวมปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัด และอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ก็ยังเป็นคนเดิม ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ทั้งที่ผู้บัญชาการเรือนจำถึงคราวได้รับการแต่งตั้งก็ไม่กล้าเปลี่ยน เกรงว่าสังคมจะเกิดข้อครหา

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า ตนเองได้ไปดู พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 พบว่ามี ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นกรรมาธิการฯ สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีการเปลี่ยนหลักการกฎหมายจากการแก้แค้นเป็นการฟื้นฟู พร้อมทั้งยกร่างระเบียบและกฎกระทรวงอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีการใช้บังคับอยู่อีกกว่า 10 ฉบับ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ. ทวี ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อคณะแพทย์ผู้รักษาทักษิณตามที่รังสิมันต์เรียกร้อง เนื่องจากเกรงว่าจะมีคณะแพทย์ถูกรุมแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ก็จะกลายเป็นความผิดของตน แต่ยืนยันว่าตนและข้าราชการทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ และตนก็ได้อ่านใบรับรองแพทย์อย่างละเอียด พร้อมตั้งทีมแพทย์ไปตรวจสอบติดตามด้วย รวมถึงไม่สามารถเปิดเผยอาการป่วยได้ตามกฎหมาย

 

“ผมทำตามกฎหมายทั้งหมด ผมได้พูดกับ สว. ว่าบุญคุณกับการทำถูกกฎหมาย ผมเลือกการทำถูกกฎหมาย แต่กฎหมายกับความถูกต้องมันจะไปด้วยกันหรือไม่ เรา สมาชิกรัฐสภาต้องมาร่วมกันแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง” พ.ต.อ. ทวี กล่าว 

 

รังสิมันต์ตั้งคำถามต่อว่า พ.ต.อ. ทวี เป็นรัฐมนตรีที่น่าชื่นชมเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนอื่น โดยตนเองเข้าใจถึงความยากลำบากในการตอบคำถาม ทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบไม่ง่าย ยิ่งบอกว่ามีทั้งเรื่องบุญคุณและกฎหมาย สะท้อนว่าท่านอยู่ในจุดที่ตอบหลายเรื่องลำบาก ตนเองก็ต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง 

 

รังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องมาตรฐานยุติธรรม โดยสิ่งที่รัฐมนตรีชี้แจงว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาก่อนรัฐบาลนี้ ในทางกฎหมายให้อำนาจในการใช้ดุลยพินิจกับรัฐมนตรีน้อยมาก แต่ท่านมีหน้าที่กำกับให้คนในกระทรวงปฏิบัติให้ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้แยกจากคนอื่นได้ ถ้าจะแยกต้องอยู่ในห้องควบคุมพิเศษ บอกแบบนี้แสดงว่าโรงพยาบาลตำรวจมีความผิด 

 

รังสิมันต์ขอให้ยืนยันว่าห้องพักชั้น 14 มีหน้าตาอย่างไร แตกต่างกับที่อื่นอย่างไร รวมถึงการเดินทางไปในหลายๆ พื้นที่ของอดีตนายกรัฐมนตรีไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา ประชาชนเข้าถึงตัวอดีตนายกรัฐมนตรีได้ง่ายดาย ยืนยันได้ว่าการเกิดเหตุคาร์บอมบ์คงไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ ขอให้เปิดข้อมูลของหน่วยข่าวกรองและชื่อแพทย์ในการรักษาได้หรือไม่ 

 

“ชื่อหมอไม่มีกฎหมายห้าม ผมขอชื่อหมอที่รักษา จะได้ไปดำเนินคดีกับเขาได้ เพราะวันนี้มันพิสูจน์แล้วว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ป่วยอะไรมาก ท่านรัฐมนตรีพยายามที่จะสร้างความเป็นธรรมในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ท่านต้องการแก้ปัญหาในเรื่องของการละเมิดเรือนจำ แต่การที่อดีตนายกรัฐมนตรีบางคนได้รับสิทธิพิเศษ ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ” รังสิมันต์กล่าว

 

ประธานสภาเดือดโรม 

 

ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีนั้น มี สส. ฝั่งรัฐบาลประท้วงเป็นระยะ โดยเรียกร้องให้ประธานควบคุมการประชุม ประธานจึงเร่งให้รังสิมันต์เข้าสู่การตั้งคำถามโดยไม่ต้องมีการอภิปรายหรือนำสไลด์การนำเสนอขึ้นจอ 

 

“หากต้องการจะตั้งคำถามสามารถถามได้เลย หากรัฐมนตรีตอบไม่ชัดเจนผมจะอนุญาตให้ถามอีกครั้ง เพราะการขึ้นสไลด์นั้นเป็นการอธิบาย ซึ่งจะเกิดการประท้วงขึ้นอีก เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปราย รวมถึงไม่ใช่ญัตติ หากจะอภิปรายให้รอในวันที่ 3-4 เมษายน ซึ่งขณะนี้เป็นกระทู้ถาม คือการตั้งคำถามและให้รัฐมนตรีเป็นผู้ตอบ ต้องเข้าใจข้อบังคับ การตั้งกระทู้นั้นมีข้อบังคับอย่างชัดเจนว่าจะอนุญาตได้มากน้อยแค่ไหน” วันมูหะมัดนอร์กล่าวกับรังสิมันต์ 

 

วันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า ท่านอย่าคิดว่าเป็นการอภิปราย หากจะอภิปรายให้รอวันที่ 3-4 เมษายนนี้ ในวันนั้นจะอนุญาตให้นำสไลด์ขึ้นได้ วันนี้เป็นกระทู้ที่จะถามข้อสงสัยและตอบ ตนเองอนุญาตได้เพียงเท่านี้ พร้อมกล่าวอีกว่า รังสิมันต์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว ซึ่งต้องเข้าใจดีว่าตนเองต้องดำเนินการตามระเบียบวาระให้เป็นไปได้ด้วยดี 

 

รังสิมันต์จึงถามว่า การพักโทษของทักษิณตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์นั้น การประเมินทางการแพทย์เป็นอย่างไร และมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบหรือไม่ เพราะการได้คะแนน 9 จาก 20 คะแนน จะต้องมีการประเมินถึงการอาบน้ำไม่ได้ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ทั้งที่อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถไปตลาดหรือที่ทำการพรรคเพื่อไทยได้ 

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวย้ำว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผ่านการประเมินของทีมแพทย์ตามเกณฑ์ และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการพักโทษ รวมถึงยังมีผู้ที่ได้รับการพักโทษคนอื่นๆ ไปออกรายการโทรทัศน์ได้ตามปกติ และการไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจก็เป็นไปตามระเบียบที่พรรคก้าวไกล หรือณัฐวุฒิ ร่างในสมัยเป็นกรรมาธิการฯ สนช. ที่ให้ถือเป็นที่คุมขังอื่น และได้รับการลดโทษ เมื่ออยู่โรงพยาบาล มีผู้ควบคุม ซึ่งตามระเบียบกำหนดให้อยู่ในห้องควบคุมพิเศษ จึงยืนยันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับสิทธิพิเศษ และการบริหารโทษก็ไม่ใช่จากอำนาจตน แต่เป็นไปตามระเบียบ 

 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ. ทวี ปฏิเสธที่จะเปิดเผยถึงสภาพห้องพักรักษาตัวของทักษิณที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงการข่าวที่ทำให้ทักษิณต้องไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตามที่อ้างถึงความปลอดภัยไม่ให้ซ้ำเหตุคาร์บอมบ์ในปี 2549 และย้ำอีกว่าตนเองดำเนินการตามกฎหมาย จึงขอให้รังสิมันต์ลดอคติหรือความสะใจลง กรมราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่แก้แค้นคน

 

ขณะที่รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเอ่ยชื่อแพทย์สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เพราะประชาชนสงสัยทั้งประเทศ หากรัฐมนตรีลำบากใจที่จะพูด ยินดีให้ส่งเป็นเอกสารข้อมูลหรือพิมพ์ไลน์ส่งมา ก่อนจะกล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ไม่ได้แก้แค้นใคร”

 

อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอใช้สิทธิพาดพิงกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการนั่งกรรมาธิการฯ สมัย สนช. ว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตนเคยทำงานกับ สนช. ซึ่งเกิดขึ้นตามกลไกจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อตนอย่างมาก ตนไม่ใช่ส่วนหนึ่งขององคาพยพ คสช. แต่ประการใด แต่วันนั้นทำงานในฐานะเอ็นจีโอ ได้รับเชิญจาก สนช. ให้เป็นกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับสังคมเท่านั้น 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X