วันนี้ (27 มีนาคม) ภาณุมาศ สุขอัมพร พร้อมด้วย วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงความพร้อมของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่จะมีครูการศึกษาพิเศษในการจัดการศึกษาแบบ ‘เรียนรวม’ สำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ครบทั้ง 437 โรงเรียนในภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567
ภาณุมาศกล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของ กทม. ที่จะมีครูที่ทำหน้าที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องในทุกโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรียนดีของกรุงเทพมหานครในการผลักดันการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ด้วยแนวคิดว่าครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ ที่เน้นการเพิ่มโอกาสและลดความแบ่งแยกให้กับเด็กในกรุงเทพมหานคร
สำหรับครูที่ได้รับคัดเลือกมาเข้าโครงการนี้ จะได้ผ่านการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะการสอน และมีความเข้าใจในความบกพร่อง รวมทั้งรู้วิธีการทำวิจัยในชั้นเรียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรของการศึกษาพิเศษส่วนกลาง สามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปปฏิบัติงานจริงในโรงเรียน ทาง กทม. จะมีการติดตามประเมินผลพร้อมให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงพัฒนาโดยคณะกรรมการการศึกษาพิเศษต่อไป
ภาณุมาศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครระดับอนุบาล – ม.3 จำนวน 4,383 คน
ประกอบด้วยเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และเด็กที่บกพร่องทางร่างกาย จากเดิมมีครูที่สามารถจัดการเรียนรวมสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม. เพียง 158 แห่ง แต่การเปิดภาคเรียนใหม่จะมีครบทั้ง 437 แห่ง คือมีครูอย่างน้อยแห่งละ 1 คน
ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการจัดฝึกอบรมด้านการสอนเด็กที่มีความบกพร่องให้แก่ครูในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 442 คน เมื่อวันที่ 22-24 มีนาคม 2567