×

4 ปี รัฐบาล คสช. คำถามถึงความกล้าหาญทางการเมืองในการปราบโกง

18.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • อีกไม่กี่วัน รัฐบาล คสช. ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะครบรอบ 4 ปี
  • หลายฝ่ายมองกลไกถ่วงดุลในระบอบ คสช. เทียบรัฐบาลเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่ห้วงเวลาประจวบเหมาะครบเทอมเทียบเท่ากันพอดี
  • ข้อครหาในรัฐบาล คสช. เกี่ยวกับกรณีความโปร่งใสปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อเท็จจริงที่มาย้ำเตือนความจำนายกฯ ว่า ‘กล้า’ ปราบโกงมากขนาดไหน แม้ไม่หมดไป แต่ไฉนยังไม่นิ่ง และจับตรงไหนก็ผุดตรงนั้นอยู่เนืองๆ

“สิ่งที่ทำง่ายๆ รัฐบาลได้ทำไปแล้ว แต่มันก็หมดแล้ว ต่อไปเหลือแต่สิ่งยากๆ ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองในการลดคอร์รัปชันของประเทศไทย” นี่คือคำกล่าวทิ้งท้ายของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เมื่อครั้งงานแถลงข่าว ‘ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชัน (CPI) ของไทย’

 

หลังปี 2559 คะแนนการจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยตกฮวบจากอันดับ 76 ไปอยู่ที่ 101 ด้วยเพราะในปีดังกล่าว เกณฑ์ในการจัดอันดับได้เพิ่มเรื่องความเป็นประชาธิปไตย (VDEM) เข้ามา แต่ถึงจะไม่มีเกณฑ์นี้ ประธาน TDRI ก็กล่าวว่าไทยจะอยู่ในอันดับที่ 95 แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทิ้งไปจากอันดับที่ 101 เท่าไรนัก ขณะที่ต่อเนื่องมาถึงปี 2560 ไทยก็ถูกจัดอยู่ในอันดับ 96

 

 

จับทุจริตกองทุนเสมาฯ โชว์ผลงานล่าสุดที่รัฐปราบโกงได้

เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับว่าการจับทุจริตในกองทุนเสมาฯ ของกระทรวงศึกษาธิการคือผลงานชิ้นโบแดงล่าสุดที่ คสช. ปราบโกงได้ มีการรายงานตามหน้าสื่อแทบทุกสำนัก แต่ใช่ว่าสมัยรัฐบาลอื่นๆ ที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีข่าวจับคนทุจริต จับผู้มีอิทธิพลได้เสียเมื่อไร

 

‘กำนันเป๊าะ’ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งของประเทศ บิดาของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ก็เคยถูกจับกุมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งๆ ที่บุตรชายก็นั่งเป็นรัฐมนตรีร่วมในรัฐบาลขณะนั้น

 

ขณะที่ปัจจุบันเราได้เห็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่ชวนให้สงสัยว่า คสช. ได้ให้ความจริงจังกับคนใกล้ตัวนายกฯ ที่ปรากฏข่าวไปเกี่ยวข้องหรือพัวพันกับเรื่องราวในเชิงความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน

 

เปิดตัวเลขทุจริต คนในรัฐบาลโกงสัดส่วนเยอะสุด

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าทำไมดัชนีความเป็นประชาธิปไตยจึงมีส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์ชี้วัดความโปร่งใส เพราะหากย้อนดูแนวโน้มการทุจริต ขนาดข้อมูลในมือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังสะท้อนถึงความต่างของคนโกงที่เกิดจากผู้มีอำนาจระดับชาติ หรือจากคนใกล้ตัวผู้มีอำนาจว่ามีมูลค่ามากเพียงใด

 

ดังเช่นในรายงานผลการตรวจสอบประจำปี 2557 มูลค่าความเสียหาย 3.3 แสนล้านบาท เป็นของระดับล่างๆ อย่างท้องถิ่นไม่ถึง 25 ล้านบาท แต่ระดับชาติ เช่น โครงการรับจำนำข้าวกรณีเดียวกลับสูงถึง 3.2 แสนล้านบาท ไหนจะคดีของอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ ป.ป.ช. สั่งยึดทรัพย์ 296 ล้านบาท ครั้งนั้นก็มีข่าวทำให้ ‘เก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม’ ถึงจุดแตกหัก

 

จะเห็นได้ว่าในยุคที่มีการถ่วงดุลอำนาจกันในระดับชาติ การตรวจสอบถ่วงดุลจะเข้มข้น ต่อให้รัฐบาลและพวกพ้องใกล้ชิดมีอำนาจเหลือล้น ในที่สุดก็ต้องเผชิญกับมวลมหาประชาชน เหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ทีใครทีมัน’ ที่กลุ่มก้อนเครือข่ายประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลที่ตนเองไม่พอใจ

 

 
 

 

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การขับไล่รัฐบาลที่มีภาพลักษณ์โกงกิน เกิดขึ้นได้ก็ด้วยปรากฏคนในรัฐบาลมีภาพโกงกินเป็นสัดส่วนเยอะที่สุด และแม้การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะกลายเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้ามาควบคุมอำนาจหลายหนก็ตาม และหากย้อนมองไปในอดีต สิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์อีกเช่นกันที่สะท้อนให้เราเห็นว่า ผู้นำในการรัฐประหาร เมื่อลงจากอำนาจแล้วไม่เคยมีใครถูกนำตัวมาลงโทษได้เลย ยังคงอยู่สุขสบายได้ในประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ถนอม กิตติขจร’ ที่ก็ได้กลับมาอยู่เสวยสุขที่ไทยตราบบั้นปลายชีวิต

 

แต่กลับกันในยุค คสช. ข่าวคนใกล้ตัวที่ปรากฏข้อมูลเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับกรณีทุจริตมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าจะมีองค์กรตรวจสอบต่างๆ แต่ในปัจจุบันไม่มีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในสภา เมื่อหันมาดู ป.ป.ช. ก็มีประธานที่เป็นคนสนิทของรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เอง ทำให้ถูกครหาถึงความโปร่งใสและความเป็นมืออาชีพมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีแหวนบิดา นาฬิกายืมเพื่อน

 

ไม่มีโกง หรือแค่ถูกปิดกั้นการตรวจสอบ

กรณีการทุจริตหรือโกงที่ไม่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรผู้มีอำนาจตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าการโกงที่ถูกตรวจสอบได้ เพราะอย่างน้อยถ้าโกงแล้วจับได้ก็มีโอกาสยึดทรัพย์คืนได้

 

ที่ผ่านมา คสช. ได้ประกาศถึงความตั้งใจว่ามีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะตรวจสอบกรณีทุจริตต่างๆ

 

แต่ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีคอร์รัปชันไทย เดือนธันวาคม ปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล คสช. เพิ่มขึ้นถึง 37% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 48% ทั้งๆ ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศปราบคอร์รัปชันเกือบทุกวัน แต่การคอร์รัปชันในยุค คสช. กลับไม่ลด แถมยังทำสถิติสูงสุดใหม่

 

อีกไม่กี่วัน รัฐบาลที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กำลังจะครบรอบ 4 ปีในการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีห้วงเวลาที่เท่ากับหนึ่งเทอมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพอดี

 

THE STANDARD ลองรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาว่ามีกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อเกี่ยวกับการถูกตั้งคำถามในเชิงความโปร่งใสทั้งต่อหน้าที่และทรัพย์สินว่ามีอะไรบ้าง

 

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา – นายกรัฐมนตรี

“บริษัทรับซื้อที่ดินพ่อของพลเอก ประยุทธ์ 600 ล้าน หุ้นใหญ่ตั้งบนเกาะบริติชเวอร์จิน ก่อนเพิ่มทุนโอนให้เครือข่ายเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งรายงานโดยสำนักข่าวอิศรา 

 

โดยรายละเอียดระบุว่า วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 พลเอก ประยุทธ์ ขายที่ดิน 9 แปลงให้บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งสำนักข่าวอิศรารายงานว่าบริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 หนึ่งสัปดาห์ก่อนการขายมีบริษัท ทรงวุฒิ บิสซิเนส จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม วินเทค โปรฟิท คอมปะนี ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ ทรัส ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ แซมเบอร์ ได้รับโอนหุ้นจากบริษัท ทรงวุฒิ บิสซิเนส จำกัด ซึ่งที่ตั้งของบริษัทนั้นเป็นตู้ไปรษณีย์แห่งหนึ่งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ต่อมามีการเพิ่มทุนและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง มีกรรมการเป็นกรรมการบริษัทในเครือทีซีซีแลนด์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี

 

ไมค์ทองคำ – สำนักนายกรัฐมนตรี

แม้บทสรุปของผลสอบจะพบว่าไม่ถึงขั้นมีการทุจริต ขณะที่ยอดวงเงินไม่สูงมากนัก แต่ส่วนต่างเยอะ ทำให้ถูกมองไม่ดี จึงได้มีการดำเนินการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่

 

กรณีไมค์ทองคำที่จัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งคณะทำงานของ ป.ป.ช. บางคนมองว่าผิดกฎหมาย เพราะมีการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริงมาก ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ทำไปก็เพื่อหน้าตาของพวกท่าน หน้าตาของประเทศทั้งนั้น ไม่ใช่หน้าตาผม ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากมาตรฐานที่ไม่มีราคากลางเท่านั้น”

 

อุทยานราชภักดิ์และการขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก – กระทรวงกลาโหม

กรณีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งดำเนินการโดย พลเอก อุดมเดช สีตบุตร นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทุจริตในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ไปรับบริจาคมาจากเอกชนหลายราย ค่าสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แต่ละพระองค์ซึ่งตั้งงบเอาไว้ที่พระองค์ละ 50 ล้านบาท แต่กลับมีการเปิดเผยจากโรงหล่อว่าต้นทุนที่แท้จริงเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ไปจนถึงต้นปาล์มที่ใช้ประดับในบริเวณอุทยานที่ตั้งงบเอาไว้ต้นละ 1 แสนบาท แต่ทางเอกชนผู้เพาะปลูกต้นปาล์มระบุว่าบริจาคให้กับโครงการฯ โดยไม่ได้คิดเงินแต่อย่างใด

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ปฏิเสธข่าวและยืนยันว่าไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่คิดจะตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยให้เหตุผลว่าไม่มีผู้มาร้องทุกข์ จนกระทั่งเมื่อสื่อมวลชนและพรรคการเมืองกดดันมากเข้าจึงยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ก็ถูกวิจารณ์อีกว่าคณะกรรมการผู้ตรวจสอบมีแต่ทหารด้วยกันซึ่งตรวจสอบกันเอง ภายหลังคณะกรรมการฯ ได้ยืนยันว่าไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด

 

กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ถูกร้องเรียนว่าจ้างช่างเอกชนขุดลอกคูคลองแทนทั่วประเทศ แม้ผลสอบภายใน อผศ. จะบอกว่าไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ต่อมากระทรวงการคลังกลับยกเลิกการให้สิทธิพิเศษแก่ อผศ. ในการขุดลอกแหล่งน้ำ โดยมีการเข้าพัวพันกับห้างหุ้นส่วนผู้รับเหมาโครงการขุดลอกคลองเกี่ยวกับการเรียกรับค่าหัวคิว

 

การทุจริตจัดซื้อเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนราว 51 ล้านบาท โดยราคาอยู่ที่เครื่องละกว่า 5 แสนบาท ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีแผนติดตั้งจำนวนกว่า 90 จุดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของราคาและการจัดซื้อที่ไม่มีการประกวดราคา

 

ทริปฮาวาย ถ้ายังจำกันได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่สามารถตอบคำถามสังคมให้หายแคลงใจ เมื่อสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมจำเป็นในการใช้เครื่อง 400 ที่นั่ง ขณะที่คณะเดินทางมี 38 คน และในรายชื่อผู้ร่วมเดินทางที่ถูกนำมาเปิดเผยนั้นกลับพบชื่อของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมด้วยเป็นเงินกว่า 20.9 ล้านบาท

 

ทุจริตตำบลละ 5 ล้านบาท – กระทรวงมหาดไทย

‘ทุจริตตำบลละ 5 ล้าน’ หรือโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ซึ่งการสรุปผลโดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พบช่องโหว่จำนวนมากและเป็นข่าวในหลายจังหวัดในเวลานั้น เช่น แพร่ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี และชัยนาท และยังพบว่ามีหลายพื้นที่ที่มีความผิดปกติ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน การดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งมีพฤติกรรมส่อทุจริต โดยในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกระบวนการ

 

โกงเงินกองทุนเสมาฯ – กระทรวงศึกษาธิการ

กรณีเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต คือแผลสดของระบบราชการไทยที่เกือบ 10 ปีได้ทำการทุจริตยักยอกเงินเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านบาทที่ต้องส่งมอบให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา นำมาสู่คำถามถึงความเชื่อมั่นต่อระบบราชการอย่างรุนแรง

 

การจัดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในโครงการสคูลโซน เซฟตี้โซน 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 5,000 ตัว วงเงิน 577 ล้านบาท ส่อทุจริตเมื่อของที่โรงเรียนตรวจรับไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง

 

ยื่นสอบประธานบอร์ดท่าเรือไม่โปร่งใส – กระทรวงคมนาคม

โดยปรากฏข่าวพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตรวจสอบประธานบอร์ด กทท. กรณีบีบให้ผู้อำนวยการ กทท. ลาออก มีเงื่อนงำไม่โปร่งใส ระบุบริษัทเครือญาติประธานบอร์ด กทท. รับงาน กทท. ด้วยวิธีพิเศษ แถมล้วงลูกการทำงานฝ่ายบริหารโดยมีประเด็นในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างงานบริการยกขนเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นเวลา 7 เดือน พบว่าบริษัทมีความเชื่อมโยงเป็นเครือญาติกับเลขานุการประธานบอร์ด ได้งานโดยวิธีพิเศษ ทั้งที่มีอีก 6 บริษัทที่มีประสบการณ์มากกว่า

 

จ้างแรงงานผีขุดแก้มลิง – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มีประชาชนส่งจดหมายร้องเรียนว่าไม่มีการขุดลอกคลองและจ้างแรงงานจริงในโครงการแก้มลิงของสำนักชลประทานที่ 8 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อธิบดีกรมชลประทานชี้แจงในเวลาต่อมาว่าแม้จดหมายร้องเรียนจะไม่เป็นทางการ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาหลายโครงการ และตนได้ตรวจสอบทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง มีการลงโทษ ตัดเงินเดือน ปลดออก และไล่ออกจากราชการแล้ว อย่างไรก็ตาม ความผิดส่วนใหญ่เกิดจากความสะเพร่า ความประมาท ความไม่รอบคอบ แต่ยืนยันว่าไม่มีเจตนาจงใจให้เกิดทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งโครงการที่มีปัญหาไม่ถึง 1% ของโครงการจำนวนมากทั่วประเทศ

 

โกงเงินคนจนไร้ที่พึ่ง – กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงผลการดำเนินงานตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจำนวน 76 ศูนย์ฯ พบส่อทุจริต 67 จังหวัด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 264,204,000 บาท โดยไม่พบทุจริต 9 จังหวัด

 

ต่อมาที่ประชุม ครม. มีมติให้ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ‘ออกจากราชการไว้ก่อน’ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากถูกสอบวินัยร้ายแรงกรณีเข้าไปพัวพันการทุจริต และมีรายงานเพิ่มเติมว่ายังมีข้าราชการระดับรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวง พม. ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนด้วยรวมทั้งหมด 3 ราย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ถูกนำเสนอออกมาเป็นข่าว ดังนั้น 4 ปีของ คสช. ผลงานด้านปราบโกงจึงยังคลุมเครืออยู่เรื่อยไปตราบที่อำนาจของฝ่ายค้านและฝ่ายประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้เข้มข้นเท่าสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และเราคงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพฤติกรรมโกง-ส่อโกง-อุ้มคนโกง-ปล่อยให้คนใกล้ชิดโกง ยังมีอยู่อีกมากน้อยแค่ไหน หากยังไม่สามารถทำให้กระบวนการตรวจสอบจากภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ มีอิสระอย่างแท้จริง

 

และแน่นอน ‘ประชาธิปไตย’ เป็นเกณฑ์สำคัญต่อการจัดลำดับ มาลุ้นกันว่าปีที่ 4 ของ คสช. นี้จะบวกหรือลบตามหน้าเสื่อของผลงาน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X