เป็นเวลานานกว่า 14 ปีที่อาร์เซนอลไม่เคยไปได้ไกลกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่ในที่สุดอาถรรพ์นี้ก็ถูกลบจนได้เมื่อทีมของ มิเกล อาร์เตตา ผ่านด่านเอฟซี ปอร์โต ทีมแกร่งจากโปรตุเกสได้ในช่วงของการดวลจุดโทษ
ดาบิด รายา นายทวารผู้พิทักษ์เป็นฮีโร่ของทีมในช่วงเวลานั้น ขณะที่ในช่วงเวลาปกติ เลอันโดร ทรอสซาร์ด คือฮีโร่ที่ช่วยทำประตูโทนของเกมที่ทำให้อาร์เซนอลชนะ 1-0 ในช่วงเวลาปกติ จนสกอร์รวม 2 นัดกลับมาเสมอกันที่ 1-1 ก่อนจะยื้อกันถึงฎีกา
แต่คนที่เป็นฮีโร่อยู่เงียบๆ ในความสำเร็จนี้คือ มาร์ติน โอเดการ์ด จอมทัพของทีมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่นักฟุตบอลที่มีคุณสมบัติของความเป็น ‘ผู้นำ’ ที่โดดเด่น แต่ยังเป็นนักเตะที่มีทักษะการเล่นชนิดที่หาตัวจับได้ยาก
โดยเฉพาะจังหวะการครองบอลสลับไปมาของเขา จากเท้าขวาไปเท้าซ้าย จากเท้าซ้ายไปเท้าขวาอย่างรวดเร็วเหมือนสับไพ่ จนตอนนี้ได้รับการเรียกขานเป็นท่าไม้ตายเฉพาะตัว
‘The Odegaard Shuffle’
ในเกมที่เอมิเรตส์สเตเดียมเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (12 มีนาคม) อาร์เซนอลประสบปัญหาอยู่ไม่น้อยในการหาทางทะลวงเกมรับอันแข็งแกร่งของปอร์โต ที่นำโดย เปเป้ ตำนานปราการหลังวัย 41 ปี ซึ่งอายุเท่ากับอาร์เตตา นายใหญ่กันเนอร์สที่ยืนคุมทีมอยู่ข้างสนาม
แต่ในโมงยามของความว้าวุ่นใจ อาร์เซนอลก็ปลดล็อกทั้งในเกมและกำแพงทางใจได้สำเร็จ จากฝีมือของกัปตันทีมคนเก่งอย่างโอเดการ์ด ที่เป็นผู้ถือกุญแจและเปิดประตูสู่รอบต่อไปให้ทุกคน
เหตุการณ์เกิดขึ้นในนาทีที่ 40 ของการแข่งขัน โอเดการ์ดซึ่งอยู่ในระยะแถว 28 หลา ไหลบอลออกทางซ้ายให้ เลอันโดร ทรอสซาร์ด ก่อนที่ปีกชาวเบลเยียมจะคืนบอลกลับมาให้
ตรงนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ชั่วโมงต้องมนต์’ เมื่อโอเดการ์ดที่รับบอลด้วยเท้าขวาก่อนแต่งบอลเข้าเท้าซ้ายอย่างรวดเร็วหนีการสกัดจังหวะแรกได้สำเร็จ
จากนั้นเขาค่อยๆ พาบอลเขยิบออกทางซ้าย โดยมีนักเตะปอร์โตขวางหน้าอีกถึง 3 คนที่พยายามปิดตายช่องไม่ให้เลี้ยงฝ่าหรือจ่ายบอลได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดโอเดการ์ดที่หลอกดึงจังหวะเลี้ยงหนีไปได้อีกหนึ่งด่าน
มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทรอสซาร์ดรู้แล้วว่าเขาต้องขยับไปหาที่ว่าง เพราะกัปตันจะส่งบอลมาถึงเขาได้อย่างแน่นอน
โอเดการ์ดทำได้จริงๆ ด้วยการจ่ายทะลุช่องที่แทบมองไม่เห็น เป็นการจ่ายครั้งเดียวตัดแนวรับของปอร์โตได้เกือบยกแผง และเป็นโอกาสทองของทรอสซาร์ดที่จะใส่สกอร์ ซึ่งปีกที่ทำหน้าที่แทน กาเบรียล มาร์ติเนลลี ก็ไม่ทำให้ผิดหวังสามารถส่งบอลเข้าไปตุงตาข่ายได้สำเร็จ
การครองบอลของโอเดการ์ดในช่วงนั้นกินระยะเวลาเพียงแค่ 3 วินาทีเท่านั้น โดยที่ในช่วงนั้น 2 วินาทีครึ่งแนวรับของปอร์โตสามารถปิดจุดตายได้เกือบทั้งหมด แต่เป็นเพราะการครองบอลและการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด ทำให้สตาร์ทีมชาตินอร์เวย์ค้นพบช่องโหว่ของคู่แข่งได้สำเร็จก่อนจะเลือกจ่ายบอลในช่วงครึ่งวินาทีที่เหลือ
ลูกไม้แบบนี้ถือเป็นหนึ่งในทีเด็ด หรืออาจจะเรียกว่าเป็น ‘ไม้ตาย’ ของโอเดการ์ดเลยก็ว่าได้
การใช้สเต็ปเท้าที่รวดเร็วในการล่อหลอกคู่ต่อสู้ ด้วยการสับเท้าหรือคลึงบอลจากขวาไปซ้าย หรือจากซ้ายไปขวา สลับไปมา สร้างความงุนงงให้คู่แข่ง
ท่านี้ได้รับการตั้งชื่อให้แบบเท่ๆ ว่า ‘The Odegard Shuffle’ หรือการสับเท้าในแบบโอเดการ์ด ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติเสาหลักของอาร์เซนอลอย่างสูงในระดับเดียวกับที่ เมซุต โอซิล ตำนานตัวทำเกมรุ่นพี่ที่ได้รับการยกย่องในการชิปบอลอันนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ว่า ‘Ozil Chop’ หรือการเฉือนบอลแบบโอซิล
เพียงแต่ในการสับเท้าหลอกไปหลอกมาของโอเดการ์ดไม่ได้เป็นการทำเพื่อยั่วประสาทหรือโชว์ลีลาอะไร มันเป็นเพียงอุบายในการเปิดพื้นที่ในเกมรับของคู่แข่ง ในเวลาเดียวกันกับที่สมองของเขาก็ประมวลผลตามไปด้วยว่าจะหาช่องผ่านบอลให้เพื่อนตรงไหนได้บ้าง
แค่เสี้ยววินาทีที่แนวรับของคู่แข่งประมาท กับพื้นที่ที่เปิดให้เพียงแค่เล็กน้อย บางทีอาจแค่ครึ่งหลา และขอให้เพื่อนรู้ใจขยับไปรอในพื้นที่ว่างด้านหลัง เขาจะหาทางส่งบอลไปให้ถึงให้ได้
ความสามารถตรงนี้ของเขาทำให้โอเดการ์ดเป็น ‘เพลย์เมกเกอร์’ ในสไตล์ที่แตกต่างจาก เควิน เดอ บรอยน์ หรือ บรูโน แฟร์นันด์ส ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่จากแมนเชสเตอร์ ที่เป็นสายในการเปิดบอลยาวที่แม่นยำและทรงพลัง
โอเดการ์ดก็เปิดบอลยาวได้แต่ไม่ได้เป็นลูกเปิดที่พิเศษแบบนั้น เขาถนัดในการเล่นบอลบนพื้นที่ชวนให้นึกถึง ‘หมายเลข 10’ ในแบบคลาสสิกมากกว่า และเขาก็ไม่ได้มีความเร็วจัดจ้านที่จะฉีกคู่แข่งได้ในแบบเดียวกับที่ บูกาโย ซากา หรือ มาร์ติเนลลี ทำได้ด้วย
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้สตาร์วัย 25 ปีเป็นนักเตะที่สร้างโอกาส (Create Chances) มากที่สุดถึง 62 ครั้ง ซึ่งความจริงไม่ได้มากที่สุดแค่เฉพาะในลีกอังกฤษ แต่มากที่สุดในบรรดา 5 ลีกใหญ่ของยุโรปด้วย
ความสามารถในการเล่นบอลในพื้นที่แคบๆ ของเขา ซึ่งสามารถสัมผัสบอลได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่น ในเกมกับเบิร์นลีย์ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้วมีการจับได้ว่าโอเดการ์ดสัมผัสบอลมากถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาน้อยกว่า 2 วินาที ซึ่งนำไปสู่การสร้างโอกาสให้ซากาทำประตูได้
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของพรสวรรค์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้เหมือนกัน เพียงแต่ในอีกทางหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นของความเร็วของเท้า (Footwork) ที่มีแบบฝึกสำหรับนักฟุตบอล
ปฏิภาณไหวพริบ (Flair) ที่จะช่วยให้เอาชนะคู่แข่งได้
วิสัยทัศน์ (Vision) ในการเล่น ที่จะช่วยให้มองเห็นหนทางในการที่จะสร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อน
ความเร็วของความคิด (Speed of Thought) ที่จะช่วยในเรื่องของการตัดสินใจที่ถูกต้อง
จริงอยู่ที่โอเดการ์ดเป็น ‘วันเดอร์คิด’ มาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่หลังจากนั้นเชื่อเถอะว่ากัปตันอาร์เซนอลผ่านการฝึกฝนมาอย่างเคี่ยวกรำเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถที่มีติดตัวทุกอย่างให้แหลมคมมากที่สุด
จากที่เคยถูกมองว่าเป็นนักเตะที่กำลังเจอกำแพงสูงที่อาจไม่สามารถยกระดับการเล่นของตัวเองไปสู่จุดที่เป็นผู้นำของทีมจริงๆ ได้ วันนี้จอมพลิ้วเลือดไวกิ้งคนนี้ได้รับการยอมรับเต็มตัวแล้วว่าหากไม่ได้เป็นตัวทำเกมที่เก่งที่สุดก็เป็นหนึ่งในตัวทำเกมที่ดีที่สุดของวงการ
และหากอาร์เซนอลจะประสบความสำเร็จใดๆ ในฤดูกาลนี้หรือในอนาคตอันใกล้ ก็ขอให้รู้ว่าเป็นเพราะมีคนที่ทุ่มเททำงานเพื่อทีมอย่างเงียบๆ อย่างโอเดการ์ด ที่ไม่ได้มีดีแค่สเต็ปเท้า หรือการขอกำลังใจจากแฟนบอล เพราะเรื่องวิ่งไล่บอลช่วยเพื่อนก็ไม่แพ้ใคร และพัฒนาการสอดขึ้นมาหาจังหวะยิงประตูได้ด้วย
นี่คือ ‘มันสมอง’ และ ‘หัวใจ’ ของทีมกันเนอร์สอย่างแท้จริง
อ้างอิง: