วันนี้ (7 มีนาคม) ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกลปีก แรงงาน นำโดย เซีย จำปาทอง สส. บัญชีรายชื่อ, วรรณวิภา ไม้สน สส. บัญชีรายชื่อ, สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พร้อมด้วย สส. ของพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการในวาระแรกเมื่อวานนี้
โดยเซียกล่าวว่า ตนในฐานะเป็นผู้ใช้แรงงานมา 30 ปี และในฐานะที่ตนเป็นผู้เสนอร่างฉบับนี้ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานในประเทศนี้ให้ดีขึ้น และสามารถลืมตาอ้าปากได้ในหลักการทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต และยังขยายความคุ้มครองและรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงพี่น้องไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ แต่กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เซียกล่าวอีกว่า รู้สึกเสียดายที่ประเทศของเราเสียโอกาส และท้ายที่สุดตนรู้สึกผิดหวังที่บรรดาผู้แทนของประชาชนทั้งหลายมองข้ามการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่พยายามช่วยบรรดานายทุน เจ้าของกิจการที่จะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ด้วยการคว่ำร่างกฎหมายตั้งแต่ในวาระแรก
เชื่อคว่ำร่างกฎหมายเหตุขั้วการเมืองตรงข้ามทำลายความเชื่อมั่นต่อแรงงาน
เซียกล่าวว่า การคว่ำร่างกฎหมายนี้อาจเป็นเรื่องขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการทำลายชื่อเสียงความเชื่อมั่นของชนชั้นแรงงานที่มีต่อพรรคก้าวไกล โดยไม่สนใจว่าเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานอย่างไร ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้แตะต้องกองทัพ สถาบันฯ หรือฝั่งอำนาจนิยม แม้กระทั่งการแลกเปลี่ยนในสังคมออนไลน์ และเท่าที่เราเห็น ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนมากที่ทำหน้าที่บริหารก็ยังเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่อาจจะดูเล็กน้อย แต่สำหรับคนทำงานกว่าครึ่งค่อนประเทศนั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงที่จะพลาดโอกาสที่ดีจากกฎหมายฉบับนี้
“ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อรับใช้ชนชั้นนั้น แม้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้จะไม่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ผมก็จะผลักดันกฎหมายที่เปลี่ยนชีวิตคนทำงานเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์, พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองและดูแลคนทำงานในประเทศนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เซียกล่าว
เซียกล่าวอีกว่า แม้ร่างกฎหมายของตนไม่ผ่านในวาระรับหลักการ แต่ยังมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอีกฉบับที่เสนอโดยวรรณวิภา สส. ของพรรคก้าวไกล ที่มีมติรับหลักการในวาระแรก และผ่านเข้าไปในชั้นกรรมาธิการ ที่มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับการลาคลอด 180 วัน และการคุ้มครองลูกจ้างของรัฐ จึงหวังว่าในชั้นกรรมาธิการจะมีการพูดคุยในรายละเอียด และผลักดันให้แรงงานมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ของเซีย ฝ่ายรัฐบาลมองว่าสุดโต่งเกินไป จะทำให้ระบบ SMEs ล้มนั้น เซียกล่าวว่า เรามีมาตรการที่ดูแลพี่น้อง SMEs อยู่หลายเรื่อง แต่ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายที่วางกรอบกำหนดไม่ให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นไปได้ยากมาก หากฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย เป็นต้น
แยกเสนอกฎหมาย หวั่นโดนปัดตก
ขณะที่วรรณวิภากล่าวว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกลแยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็น 2 ฉบับ เพราะมีประสบการณ์จากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตีตกทั้งฉบับ รอบนี้จึงแยกเป็นร่างที่เกี่ยวกับการเงินและไม่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งหลังจากนี้ในชั้นกรรมาธิการก็ต้องไปต่อสู้กันเรื่องสิทธิลาคลอด ซึ่งตนเขียนขอบเขตของคนใช้แรงงานไว้กว้างมาก เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภท
เชื่อนักการเมืองเป็นกลุ่มเดียวกับนายทุน
ด้าน สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี กล่าวว่า การทำงาน การพักผ่อน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กฎหมายของพวกเราไม่ได้ก้าวหน้าเกินไปเลย คนคนหนึ่งที่เกิดมาไม่ควรมีโอกาสใช้ชีวิตหรือพักผ่อนเหรอ คนที่กล่าวว่ากฎหมายของเราก้าวหน้าเกินไป หัวจิตหัวใจของเขาทำด้วยอะไร ถึงไม่เห็นความเป็นมนุษย์ แล้วจะมาบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อ SMEs ตนขอย้ำว่าเลิกมุดหัวอยู่หลัง SMEs ต้นทุนแรงงานเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งของ SMEs ลองไปดูว่าต้นทุนส่วนอื่นมีอะไรบ้าง การจัดการค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
“เวลาที่แรงงานเรียกร้องสิทธิขึ้นมา คุณก็ได้แต่โหน SMEs เอา SMEs เป็นเกราะกำบัง เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ วันนี้พวกเราพรรคก้าวไกลได้กระชากหน้ากากนักการเมืองบางกลุ่มที่แฝงตัวเป็นหนึ่งเดียวกับนายทุน ขัดขวางสิทธิประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ วันนี้เห็นแล้วว่านักการเมืองบางกลุ่มเกาะกินเป็นหนึ่งเดียวกับนายทุนอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน” สหัสวัตกล่าว
‘ชนินทร์’ ชี้ ไม่รับ 1 ฉบับ หวั่นกระทบเศรษฐกิจ บริษัทเล็กปรับตัวไม่ทัน
ด้าน ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับอีกร่างนั้น ผู้แทนจากพรรคร่วมรัฐบาลได้อภิปรายชัดเจนว่า ร่างดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและภาคการผลิตมากขึ้น 30% และอาจส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันล้มตายลง ซึ่งจะเกิดผลในทางกลับกัน โดยอาจสร้างผลลบทำให้พี่น้องแรงงานจำนวนมากไม่สามารถหางานได้ หรือต้องถูกเลิกจ้างแทน กฎหมายที่คาดหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงแทน
“พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เรามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน และสมดุลกับทุกฝ่าย ภายใต้เป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนดีขึ้น จะเลือกคิดเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้นไม่ได้” ชนินทร์กล่าว