แม้เศรษฐกิจชะลอด้วยภาวะปัญหาเงินเฟ้อ สงคราม และดอกเบี้ยสูง หลายอุตสาหกรรมไทยอาจอยู่ในช่วงขาลง แต่ในทางกลับกัน ก็มีหลายธุรกิจที่ดูเหมือนจะยิ่งเฉิดฉายมาแรงแซงหลายธุรกิจ โดยล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยยอดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ในช่วงเวลา 4 ปีมีการลงทุนสูงกว่า 22,134.80 ล้านบาท และปีนี้จะมีอีกหลายประเทศที่ไม่ใช่แค่ค่ายใหญ่จากจีนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเหล่านี้ ปัจจัยอะไร และมีธุรกิจไหนบ้าง
วันที่ 5 มีนาคม 2567 อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดรับ Mega Trend โลกอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดมีนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างเข้าสู่ธุรกิจ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดต่อเนื่องและที่ยังมีช่องว่างโอกาสธุรกิจนี้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่องที่กำลังมาแรงประกอบด้วย 3 กลุ่ม
- กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า
- กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ
โดยกลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า (Control Charging Plug and Socket) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 31 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 14,537.19 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ผลประกอบการปี 2565 รายได้รวม 282,440.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 39,884.85 ล้านบาท หรือ 16.45%) กำไรรวม 22,654.61 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 4,417.05 ล้านบาท หรือ 24.22%)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Devices) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 122 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,674.67 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ปี 2565 รายได้รวม 592,925.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 58,889.21 ล้านบาท หรือ 11.03%) กำไรรวม 34,728.24 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 11,245.68 ล้านบาท หรือ 47.89%)
และกลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 31,758.46 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง ปี 2565 รายได้รวม 3,029.38 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2564 จำนวน 54.69 ล้านบาท หรือ 1.78%) ขาดทุนรวม 52.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 247.06 ล้านบาท หรือ 126.94%)
ญี่ปุ่นรั้งแชมป์เบอร์ 1
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนิติบุคคลส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสัญชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น เพราะสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบทั้งรายได้และกำไรที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดอื่น แต่เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า ถึงแม้ธุรกิจขนาดเล็กจะมีจำนวนน้อยกว่า แต่ก็สามารถสร้างรายได้และผลกำไรใกล้เคียงกับธุรกิจขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จอาจจะยังสร้างรายได้และผลกำไรที่ไม่ดีมากนัก แต่การลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน จึงต้องจับตามองประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจนี้ต่อไปในอนาคต
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง ขนเงินลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ EV ในไทยมากที่สุด
น่าสนใจว่าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีจำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,134.80 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์, จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
การลงทุน 4 ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง EV ได้แก่
- ธุรกิจนายหน้า / ค้าปลีก / ค้าส่ง (รถยนต์ไฟฟ้า / รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า / EV Battery) 4 ราย ทุน 310.80 ล้านบาท
- ธุรกิจ EV Charging Station 3 ราย ทุน 8,893.34 ล้านบาท
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต 2 ราย ทุน 371.68 ล้านบาท
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) 5 ราย ทุน 12,558.99 ล้านบาท
ทุนจีนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนรถ EV ต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถ EV มีแนวโน้มการลงทุนจากสัญชาติจีนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นแบรนด์จากประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตมากและส่งออกมากที่สุดในโลก
ปัจจุบันมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 1% ของสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศจีน ขณะเดียวกันค่ายรถจีนก็กำลังเข้ามาขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อเนื่อง
“อุตสาหกรรม EV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยความผันผวนของราคาน้ำมันหรือเทรนด์สิ่งแวดล้อม ถึงแม้อุตสาหกรรมจะเผชิญความท้าทายด้านการทำกำไร เนื่องจากราคารถ EV มีแนวโน้มถูกลงจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนารูปแบบรถ EV ให้ตอบสนองตรงจุด มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้อรมนยังกล่าวอีกว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 นักลงทุนไทยแห่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทุนจดทะเบียนรวมทะลุ 4.5 หมื่นล้านบาท
โดยมี 3 ธุรกิจสุดฮอตจัดตั้งสูงสุด ได้แก่
- ก่อสร้างอาคารทั่วไป
- อสังหาริมทรัพย์
- ภัตตาคาร / ร้านอาหาร คิดเป็นเกือบ 20% ของการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด
“ขณะที่ธุรกิจ e-Commerce ไม่น้อยหน้า จัดตั้งธุรกิจใหม่ 479 ราย ผลจากมาตรการเข้มของกรมสรรพากร ส่วนทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,542 ล้านบาท”
ส่วน 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามามากที่สุด คือ
- ญี่ปุ่น เงินลงทุน 15,930 ล้านบาท (60%)
- สิงคโปร์ เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท (7%)
- สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 959 ล้านบาท (4%)
- จีน เงินลงทุน 892 ล้านบาท (3%)
- ฮ่องกง เงินลงทุน 621 ล้านบาท (2%) และอื่นๆ
ภาพ: Peepo / Getty Images