วันนี้ (1 มีนาคม) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พร้อมด้วยข้าราชการจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 31 ฉบับ
โดยปดิพัทธ์กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ ตามที่มีข่าวออกไปว่าตนมาบุก ไม่ใช่เลย แต่เป็นการมาขอประชุมร่วมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของร่างกฎหมาย เพราะจากที่ตนเคยสอบถามถึงสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีไม่เซ็นรับรองร่างกฎหมาย เนื่องจากต้องรอรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ แต่เมื่อไม่มีรายละเอียดบอกว่าแต่ละร่างรอหน่วยงานไหน อย่างไร และไม่ทราบถึงขั้นตอน
ตนจึงอยากรู้ว่าจะทำอย่างไร จึงมาขอหารือกับทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนจะได้เจอใครหรือไม่นั้นไม่เป็นไร เพราะตนเพียงแค่อยากมารู้ขั้นตอน และเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะได้หารือกัน
ขอเหตุผลที่ชัดเจน รัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้สด
ปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ไม่มาตอบกระทู้ถามสด สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ควรต้องทราบ เพราะต้องมีเอกสารชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจน แต่ในเอกสารชี้แจงแต่ละครั้งไม่มีรายละเอียดว่าติดภารกิจอะไร
เมื่อถามถึงกรณีที่ สส. พรรคเพื่อไทย มองว่าการที่รองประธานสภาเดินทางมาในวันนี้ จะเป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหารและทำเกินหน้าที่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มากดดันให้เซ็น และไม่ได้มองว่าตัวเองรุกล้ำ อาจจะไม่เห็นชอบ แต่ไม่อย่างนั้นจะไม่ชัดเจน และเจ้าของร่างก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงร่างของตัวเองหรือไม่ ซึ่งการจะร่างกฎหมายการเงินถือว่ามีขอบเขตที่กว้างมาก เช่น ร่างกฎหมายรับราชการทหารและการถ่ายโอนกำลังพล ร่างกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) และร่างกฎหมายเปิดเผยข้อมูลมลพิษ ทั้งหมดนี้ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน
ทำเนียบ-สภา ไปมาหาสู่ไม่ผิดธรรมเนียม
ส่วนจะได้พูดคุยกับฝ่ายบริหารหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ถือว่าเป็นการพูดคุยครั้งแรก ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ต้องเข้าใจฝั่งรัฐบาลด้วย แต่ถ้าหากไม่พูดคุยกันและโต้ตอบผ่านทางสื่อมวลชนอย่างเดียว ก็ไม่มีโอกาสปรับปรุง ซึ่งตนได้ส่งหนังสือประสานงานมายังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ปดิพัทธ์ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของวิป แต่ตนเป็นรองประธานสภาที่กำกับดูแลเรื่องการตรากฎหมายโดยตรง ดูให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และการมาทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ ประธานสภาและรองประธานสภาคนที่ 2 ไม่ได้มีความเห็น ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
ปดิพัทธ์ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ในการพิจารณากฎหมายก็มีหลายอย่างที่ทำให้บางร่างไม่เข้าสภาสักที หากสภาทำได้เพียงแค่รอร่างจากรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักการสากล อย่างไรก็ตาม ทั้งทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาต้องทำงานใกล้ชิดกัน ซึ่งฝ่ายบริหารก็เข้าสภาบ่อย สภาก็มีโอกาสมาเยี่ยมคารวะพูดคุยเพื่อให้แก้ไขปัญหา ตนมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดธรรมเนียมอะไร และไม่คิดว่าเราต้องวางตัวห่างกัน
เมื่อถามย้ำว่า เป้าหมายการเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ อยากจะเห็นภาพอะไร ปดิพัทธ์กล่าวว่า เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างสภากับรัฐบาล อาทิ ท่าทีของประธานวิปรัฐบาลที่เรียกร้องให้เข้ามาตอบกระทู้ ขั้นตอนทางธุรการต้องเนี้ยบกว่านี้ ควรระบุให้ชัดเจนว่าติดภารกิจอะไร ไม่ใช่ตอบโต้กันผ่านสื่อมวลชน
ส่งกฎหมายต้องโปร่งใส
“ผมไม่ได้ไร้เดียงสา เพราะมันมีจังหวะทางการเมืองที่จะทำให้ร่างกฎหมายไหนเข้าหรือไม่เข้า แต่อย่างน้อยต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมาว่าติดเรื่องอะไรบ้าง”
ส่วนที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นเรื่องของมารยาท ปดิพัทธ์กล่าวว่า การที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ดีขึ้นมันผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบหรือ มาแบบไม่สุภาพหรือ ตนเข้ามาเพื่อขอความร่วมมือและหาทางออกในการพิจารณากฎหมายให้ประเทศชาติ แต่ถ้าหากมองว่าเป็นการรุกล้ำก็มีสิทธิที่จะวิจารณ์ แต่ยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีชี้แจง ประสานเข้าพบไม่ราบรื่น เหตุหนังสือสวนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากปดิพัทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จสิ้น ได้เดินเท้าต่อมายังบริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมโชว์ภาพเอกสารที่ส่งมายังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที คณะของ จงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มาพบกับปดิพัทธ์ พร้อมเชิญขึ้นไปพูดคุยที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2
โดยปดิพัทธ์ได้ชี้แจงเหตุผลในการมาว่า เพื่อมาดูกระบวนการทำงานทางธุรการ รวมถึงมาสอบถามเรื่องการตอบกระทู้ถาม ต่อจากนี้อยากให้ชี้แจงชัดเจนขึ้น อีกประเด็นคือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนที่ส่งมาที่ทำเนียบ หลังจากหารือในการประชุมสภา เราจะติดตามได้อย่างไร เนื่องจากประธานสภาร้อนใจว่าเรื่องหารือมีการตอบรับน้อย
ด้านจงเจริญกล่าวว่า มีการมอบหมายให้ตนไปพบปดิพัทธ์ที่รัฐสภา ตนจึงอยู่ระหว่างการรอว่าจะให้ไปพบเมื่อไร เป็นจังหวะที่หนังสือส่งสวนทางกัน จึงอาจดูขลุกขลักในวันนี้