×

‘พนัส ทัศนียานนท์’ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. เปิดตัวเตรียมลงสมัคร สว.ชุดใหม่ หวังแก้ไข รธน. ปี 60

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2024
  • LOADING...
พนัส ทัศนียานนท์

วันนี้ (1 มีนาคม) พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวผ่านคลิปเผยแพร่ทางแฟนเพจ ‘พนัส ทัศนียานนท์ Panat Tasneeyanond’ ว่า ตนตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) เพราะเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้มีการกำหนดระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

 

“ที่ผ่านมาได้เห็นกันแล้วว่า ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. จะถูกกีดกันจาก สว.”

 

พนัสกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจเช่นนั้น ก็เพราะว่าบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดไว้ว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก นอกจากจะต้องได้เสียงข้างมากจาก สส. แล้ว ยังต้องได้คะแนนเสียงจาก สว. 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของ 250 คน คือ 84 เสียง ตรงนี้เป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้รายมาตรา หรือจะแก้ฉบับเดิมแล้วเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด 

 

นอกจากนั้นแม้ผ่านด่านนี้ไปได้ ในวาระที่จะมีการรับรองก็ยังต้องอาศัยเสียงจากวุฒิสภาในการเห็นชอบด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้ 

 

เท่าที่เห็นความเป็นไปได้มีเพียงทางเดียว คือเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเข้าร่วมกับ สว.ชุดใหม่ และ สส. ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ที่จะเข้าเป็น สว.รุ่นใหม่ ที่จะต้องมีการเลือก หรือมีที่มาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะต้องมีความคิดในแนวทางเดียวกัน คือมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือยกเลิกแล้วเขียนใหม่ 

 

ส่วนที่เราจะเข้าไปแก้ไขก็ดีหรือยกเลิกก็ดี มีวัตถุประสงค์ที่จะเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเหตุว่าเท่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีเงื่อนไข มีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูประบบการเมืองของเราให้เป็นการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาได้โดยแท้จริง 

 

แก้ไขหลักอธิปไตยในรัฐธรรมนูญ

 

พนัสกล่าวว่า อันดับแรก สิ่งที่คิดว่ารัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือเขียนขึ้นใหม่ หลักสำคัญที่สุดประการแรกคือ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งโดยหลักนี้นัยก็คือ องค์กรซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนก็คือสภาผู้แทนราษฎร 

 

ฉะนั้น ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยของรัฐสภา ซึ่งเราเอาแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษ เขาถือว่าหลักรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาที่มีอำนาจสูงสุด 

 

แม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ระหว่างทั้ง 3 อำนาจนี้ จะมีอำนาจใดอำนาจหนึ่งเข้ามามีอำนาจเหนืออำนาจอื่นไม่ได้ 

 

แต่สำหรับอำนาจนิติบัญญัติ ในระหว่าง 3 อำนาจนี้ก็ต้องถือว่าอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้นเป็นอำนาจสูงสุด เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจประชาชน ซึ่งประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ สส. อยู่ในสภาผู้แทน ฉะนั้นนี่เป็นประการแรกที่เราจะต้องทำสิ่งนี้ให้ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้ไขหรือเขียนใหม่ 

 

สิ่งที่เป็นอุปสรรคขวางไม่สามารถทำให้เราเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็คือ อำนาจเหลื่อมกัน แทนที่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือรัฐสภา (สส. และ สว.) จะมีอำนาจสูงสุด ในฐานะที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย 

 

“ปรากฏว่าอำนาจสูงสุดไปอยู่ที่อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา เขียนมาทุกฉบับว่าให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งองค์กรตุลาการอื่นๆ อย่างเช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด หมายความว่าจะไปตัดสินคดีขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างไรก็ต้องถือว่าผูกพันตามนั้น เหมือนเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง” พนัสกล่าว

 

นอกจากนั้น เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง ไม่ใช่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ที่เป็นเพียงไม้ประดับ เป็นระบอบซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ 

 

เราจะต้องดูว่าเราจะปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นระบบที่ก่อตั้งขึ้นมานับแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จากการที่เรามีองค์กรเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้ได้มีส่วนส่งเสริมให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมากกว่าเดิม หรือกลับเป็นการขัดขวางไม่ให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้น 

 

“ความเห็นส่วนตัวผม ผมเห็นว่าเนื่องจากเรามีองค์กรอิสระรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริงได้“

 

เลิกยุบพรรคการเมือง

 

พนัสกล่าวต่อว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคการเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ความพยายามผลักดันให้บ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นที่รวมเจตจำนงประชาชน ซึ่งเขาเป็นเจ้าของประเทศ ในการก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นผู้แทนประชาชน เพื่อมีปากเสียงทำหน้าที่รัฐบาลแทนประชาชน 

 

เรากลับมีกฎหมายที่ให้ยุบพรรคการเมืองได้ก็เท่ากับให้องค์กรเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระสามารถที่จะล้มล้างเจตจำนงของประชาชนได้ ฉะนั้น การยุบพรรคการเมืองก็ดี การตัดสินว่านักการเมืองทำผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องนั้นเรื่องนี้ทั้งหลายแหล่ ผลก็คือการที่เรายอมรับว่า ศาล องค์กรตุลาการ มีอำนาจลบล้างมติของประชาชนได้ แม้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาเป็น สส. หรือ สว. ฉะนั้น อำนาจการยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายังมีศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ควรจะต้องยกเลิกไม่ให้มี เพราะการยุบพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการลงโทษคนอื่น ซึ่งเขาไม่ได้ทำอะไรผิดด้วย 

 

“ถ้าเราจะลงโทษคนทำผิดก็ควรจะลงโทษตัวบุคคล จะเป็นความผิดอาญาหรือผิดอะไรก็เป็นเรื่องคนนั้น ไม่ควรยุบพรรคด้วย เพราะการยุบพรรคมีผลต่อคนอื่นซึ่งเขาไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด”

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการผิดหลักความรับผิดทางกฎหมาย ซึ่งปกติแล้ว ความรับผิดทางกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการกระทำของตัวเขาเอง ถ้าเขาไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่เขาไปรวมตัวตั้งพรรคการเมืองด้วยกันก็ไม่ควรเป็นเหตุถูกยุบองค์กรพรรคการเมือง นี่เป็นอีกส่วนที่เราต้องพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นเรื่องที่เหมาะสมและมีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการยุบพรรคการเมืองก็ไม่ควรจะต้องมีต่อไป 

 

ยกเลิกหรือจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

 

พนัสกล่าวว่า สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่าเรามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง 

 

ทางแรกคือ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปเลย ซึ่งวิธีนี้คงไม่ใช่วิธีที่ยากอะไรในการที่จะเขียนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเพียงแต่ไม่บัญญัติหมวดที่ว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกไปเลย ซึ่งอยู่ในหมวด 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 

 

ส่วนทางเลือกที่ 2 ประการแรก คือปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจแต่เพียงการวินิจฉัยว่ากฎหมายซึ่งผ่านรัฐสภาออกมา มีความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ประการที่ 2 ให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดมีผลบังคับอย่างจริงจัง เพราะเหตุเท่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ มันเหมือนกับเป็นการหลอกลวงกันว่าประชาชนซึ่งถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญนั้น สามารถที่จะไปร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเยียวยาแก้ไขปัญหาให้ได้ 

 

แต่ปรากฏว่า ตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเองก็ดี บทบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าไปร้องเรียนไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้เลย 

 

เพราะในเบื้องต้นต้องไปขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำการกลั่นกรองก่อน หลังจากนั้นแล้วมีข้อกฎหมายอีกหลายข้อที่เป็นข้อยกเว้นว่า ถึงแม้จะมีเรื่องเสนอเข้ามาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่พิจารณาก็ได้ ซึ่งอันนี้เท่ากับเขียนไว้ให้ดูโก้หรูเท่านั้นเองว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ 

 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพที่สำคัญที่สุดที่ควรจะได้รับการคุ้มครองปกป้องอย่างจริงจัง โดยองค์กรศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะต้องเป็นเสรีภาพโดยแท้จริงในการแสดงความคิดเห็น เพราะสิ่งนี้คือหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามความเห็นของผม”

 

พนัส ทัศนียานนท์ คือใคร

 

สำหรับ พนัส ทัศนียานนท์ เป็นอดีตอัยการ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับ 2540, สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการเลือกตั้งปี 2543 

 

ก่อนหน้านี้พนัสเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก่อนยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X