นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บรรดาเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลไปจนองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีต่างเดินพาเหรดเรียงหน้ากระดานออกมากดดันการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ออกแบบและกำหนดนโยบายการเงินโดยอิสระ ท่านทั้งหลายที่มีเก้าอี้ในฝ่ายบริหารเรียกร้องให้ กนง. และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจออกจากสภาวการณ์วิกฤตที่รัฐบาลนิยามไว้ และเพื่อลดภาระต่างๆ อันเกิดจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ กนง. กำหนดไว้ที่ระดับร้อยละ 2.50 ต่อปีมาระยะหนึ่งแล้ว
แต่ถ้อยแถลงของ ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้รั้งตำแหน่งเลขานุการ กนง. ที่ประกาศออกมาว่า “คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี” ก็ทำให้บรรยากาศระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลเดินเข้าสู่ความร้อนแรงในทันทีทันใด การให้สัมภาษณ์ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ระบุว่า “ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหมก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายอยู่แล้ว ทาง กนง. มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เราอยากเห็นนโยบายการเงินการคลังไปด้วยกัน ตอนนี้เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนแล้ว” รวมถึงการออกมาเรียกร้องให้ กนง. จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งก่อนการประชุมตามปกติ ยิ่งเป็นการเหยียบคันเร่งให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มิเพียงเท่านั้น หน่วยงานดูแลเศรษฐกิจอย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ออกมาให้ท้ายรัฐบาลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจว่า ภาพรวมการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวลดลงกว่าที่เคยพยากรณ์ไว้ และยังเน้นย้ำข้อกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนและหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สูงมาก จนนำไปสู่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูงจนกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในที่สุด พร้อมทั้งเสนอแนะแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องหยิบยกเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาพิจารณาอย่างจริงจัง
แต่กระนั้นก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธาน กนง. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สวนกลับผู้นำรัฐบาลว่า ต่อให้ลดก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายใช้สอยมากขึ้น หรือทำให้บริษัทไทยส่งออกได้มากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยาวิเศษ และเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล หาใช่เรื่องของแบงก์ชาติแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวสะท้อนข้อคิดที่ว่า แบงก์ชาติก็คือแบงก์ชาติ อย่ามากดดันเสียให้ยาก
การให้สัมภาษณ์แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อนของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยิ่งไปสะกิดต่อมความโกรธของนายกรัฐมนตรีแบบตรงไปตรงมา ซึ่งให้สัมภาษณ์ย้อนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติว่า “เรื่องของประชาชน ความเดือดร้อนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าที่ท่านพูดให้มา 3 ข้อ ไม่มีคำว่าประชาชนเลย ผมอยากจะให้ท่านกลับไปคิดว่าประชาชนวันนี้เดือดร้อน” ซึ่งเป็นการดิสเครดิตแบงก์ชาติว่าไม่เห็นหัวประชาชน และยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ผมก็จะทำครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ต่อไป แล้วดูสิว่ามีคนอื่นจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย” ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลจะเดินหน้ากดดันแบงก์ชาติต่อไปและน่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
การเดินหน้าท้ารบของรัฐบาลที่พุ่งไปยังเป้าหมายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เพราะเป็นที่ตระหนักกันดีว่าธนาคารกลางมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ หากรัฐบาลประสงค์ที่จะแทรกแซงการทำหน้าที่ของธนาคารกลางเมื่อใดแล้ว ต้นทุนของการแทรกแซงการทำหน้าที่ของธนาคารกลางโดยรัฐบาลจะสูงมาก และบางครั้งอาจจะเกินกว่าที่ระบบเศรษฐกิจจะรับไหว
งานวิจัยของ Kenneth Rogoff เรื่อง The Optimal Degree of Commitment to an Intermediate Monetary Target ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Quarterly Journal of Economics ปี 2528 และงานวิจัยของ Susanne Lohmann เรื่อง Optimal Commitment in Monetary Policy: Credibility versus Flexibility ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The American Economic Review ปี 2535 ได้สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงินสามารถบริหารจัดการภาวะเงินเฟ้อได้มีประสิทธิผลมากกว่าธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร
คำว่า “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลางสามารถวัดโดยการใช้เหตุการณ์ที่ผู้ว่าการธนาคารกลางถูกสั่งปลดกลางอากาศหรือถูกกดดันให้ลาออก และสถานการณ์ที่ผู้ว่าการธนาคารกลางที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นแทนคนเก่ามาจากคนที่รัฐบาลสั่งซ้ายหันขวาหันได้
การเตะโด่งผู้ว่าการธนาคารกลางออกจากตำแหน่งโดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปลดจากตำแหน่ง การสั่งย้ายจากตำแหน่ง หรือการกดดันให้ยื่นใบลาออก ต่างสะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่าการคนนั้นหาได้นอบน้อมหรือพินอบพิเทารัฐบาลด้วยการออกแบบเมนูนโยบายการเงินที่เอาอกเอาใจฝ่ายบริหารให้สมประสงค์ กล่าวคือ เบอร์หนึ่งของแบงก์ชาติไม่สนใจที่จะชดเชยงบประมาณขาดดุลที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ไม่สนใจนโยบายการเงินแบบขยายตัวเพื่อหาประโยชน์จากการได้อย่างเสียอย่างระยะสั้นระหว่างผลผลิตกับอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเชิงประจักษ์ ได้แก่ การปลด Martin Redrado ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอาร์เจนตินาโดยประธานาธิบดี Cristina Fernandez ในปี 2553 หรือการปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล โดยคำสั่งของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2544 เป็นต้น
การเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศเป็นเรื่องใหญ่สำหรับตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะต้นทุนของการสลับสับเปลี่ยนผู้นำของธนาคารกลางสูงเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้ถูกศึกษาโดย Guillermo Vuletin และ Ling Zhu ซึ่งตีพิมพ์บทความเรื่อง Replacing a “Disobedient” Central Bank Governor with a “Docile” One: A Novel Measure of Central Bank Independence and Its Effect on Inflation ในวารสาร Journal of Money, Credit and Banking ผลการศึกษาเปิดเผยว่า การปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และการกระทำเพื่อหวังผลทางการเมืองดังกล่าวนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าระดับปกติ และเหตุการณ์ภาวะเงินเฟ้อจะเลวร้ายมากขึ้นหากรัฐบาลแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล
นอกเหนือไปจากการตอบสนองเชิงลบของระบบเศรษฐกิจแล้ว ตลาดการเงินก็มีปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน เนื่องจากตลาดการเงินมีข้อสมมติที่ว่า ความเป็นอิสระและความอนุรักษนิยมของธนาคารกลางที่จะกำหนดนโยบายการเงินของประเทศสามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำว่า “ความอนุรักษนิยมของธนาคารกลาง” หมายถึง ธนาคารกลางมีอคติเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในระดับที่สูงกว่ารัฐบาล หากรัฐบาลแทรกแซงธนาคารกลางโดยการปลดผู้ว่าฯ แล้ว ตลาดย่อมเห็นว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางถูกกระทบกระเทือน และย่อมนำไปสู่การคาดการณ์ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป
งานวิจัยเรื่อง Do Markets Care about Central Bank Governor Changes? Evidence from Emerging Markets โดย Christoph Moser และ Axel Dreher ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Money, Credit and Banking ระบุว่า การลาออกหรือการปลดผู้ว่าการธนาคารกลางจะมีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดการเงินในวันที่ประกาศข่าวทันที และการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ คนใหม่จะยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินจะลังเลที่จะเชื่อมั่นในผู้ว่าฯ คนที่ทำหน้าที่แทนว่า นโยบายการเงินจะมีประสิทธิผลในการจัดการเงินเฟ้อหรือไม่
เพราะฉะนั้นการแสดงออกของรัฐบาลที่กดดันการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีต่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก และผลลัพธ์จากการเผชิญหน้าย่อมบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาด และหากผู้ว่าฯ อยู่ไม่ได้แล้ว กรรมทั้งหมดจะตกแก่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเห็นแก่ประเทศไทย รัฐบาลควรหยุดแทรกแซงการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติได้แล้ว