วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน และ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องของเป้าหมายในการนิรโทษกรรม ว่าการศึกษาครั้งนี้จะแตกต่างจากการศึกษาการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ทุกชุดที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ต่างกัน โดยเฉพาะความขัดแย้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดเผยถึงสาระสำคัญข้อเสนอให้กรรมาธิการการพิจารณา
“ผมเองได้เสนอว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะต้องไม่ใช่การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว ต้องมองในภาพรวมการสร้างความสมานฉันท์ การสร้างความปรองดองทางการเมือง ซึ่งเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นหนึ่งในนั้น และการนิรโทษกรรมในครั้งนี้อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้ยุติลง ดังนั้นเป้าหมายควรจะเป็นการนิรโทษกรรมเพื่อหยุดขยายความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต และเปิดทางเพื่อให้สามารถหาข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้ทางการเมืองในอนาคต” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชกล่าวย้ำว่า การสร้างความสมานฉันท์ไม่ใช่แค่เพียงการตรากฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น ส่วนกระบวนการที่จะทำให้ข้อขัดแย้งต่างๆ สามารถทำความเข้าใจ ลดการเผชิญหน้า ลดความหวาดระแวงลง และสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งกระบวนการนี้มีความสำคัญและอาจกลายเป็นกระบวนการที่เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งเนื้อหาจะไม่ได้จำกัดว่าจะนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง หรือครอบคลุมแค่ไหน หรือนิรโทษกรรมอะไร แต่ต้องมีกระบวนการให้เกิดการยอมรับก่อนที่จะเริ่มนิรโทษกรรม
ซึ่งทุกเรื่องจะต้องทำให้เกิดกระบวนการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญที่วันนี้ได้เสนอในที่ประชุม ซึ่งยอมรับว่าประเด็นนี้เป็นรายละเอียดที่ยังคงมีความเห็นต่างกัน แม้จะเห็นร่วมกันในหลักการใหญ่ ซึ่งบางคนเห็นว่าการรวมการนิรโทษมาตรา 112 ด้วยอาจกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะนิรโทษกรรมใครได้เลย หรือหากไม่รวมการนิรโทษในคดีมาตรา 112 อาจไม่ตอบโจทย์การที่จะระงับการขยายตัวของความขัดแย้งในปัจจุบัน
ซึ่งแนวโน้มอาจมีหลายตัวเลือก มีหลายแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการนิรโทษกรรม โดยจะนำไปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หรือการนิรโทษกรรมในบางเรื่องบางคดีที่มีความเห็นแตกต่างกันเยอะ อาจมีการวางเงื่อนไขว่าจะต้องมีกระบวนการอย่างไรบ้างเพื่อสร้างการยอมรับและนำไปสู่ข้อตกลงร่วมบางอย่าง จากนั้นถึงจะสามารถเสนอเรื่องนี้ให้ไปสู่การนิรโทษกรรมได้
ชัยธวัชยังกล่าวถึงกรณีที่มีภาพ ‘ตะวัน’ นักเคลื่อนไหว ถูกหามส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังอดอาหารนานกว่า 9 วัน และยังมีนักเคลื่อนไหวหลายคนใช้วิธีการนี้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมว่า
ตอนนี้พรรคไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรได้ และไม่ได้มีการส่งใครไปดูกรณีดังกล่าว ตอนนี้ให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่ แต่เราก็มีความเป็นห่วง เพราะเรื่องนี้เป็นรูปธรรมที่สะท้อนเรื่องของการนิรโทษกรรม ถ้าคิดจะนิรโทษกรรมแล้วเว้นฐานความผิดบางอย่างไว้แล้ว อาจไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะสถานการณ์การเมืองปัจจุบันไม่อาจละเว้นคดีการเมืองบางอย่างได้ แต่ตนก็เข้าใจความเห็นที่แตกต่างกัน ว่าถ้านิรโทษกรรมคนกลุ่มนี้ไปแล้ว จะนำไปสู่สภาวะแบบเดิมอีกหรือไม่ ตนเข้าใจความกังวลนี้ ตนจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ลองศึกษาสร้างกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้ หรือสร้างข้อตกลงร่วมที่จะนำไปสู่สังคมในอนาคตให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการนิรโทษกรรม