วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา พิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงการเข้าชื่อ สส. พรรคประชาธิปัตย์ 20 รายชื่อ เพื่อยื่นขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
พิทักษ์เดชกล่าวว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร แต่เมื่อกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจในลักษณะที่ทำให้เกิดความสงสัยกับสังคม ขัดกับหลักบ้านเมืองและหลักนิติรัฐนิติธรรม จึงจำเป็นต้องยื่นขอแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจมากยิ่งขึ้น โดยที่สภาชุดที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์เคยยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาแล้ว แต่เมื่อสภาหมดวาระไปจึงทำให้เรื่องตกไป
พิทักษ์เดชกล่าวถึงเหตุผลในการยื่นแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาตามมาตรฐานสากล ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ เช่น รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักการและเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษ จำคุก และการพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ดังนั้นจึงควรแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดกระบวนการที่รัดกุมและโปร่งใส
โดยการขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายจะกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความอิสระ โปร่งใส และมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เป็นผู้พิจารณาขั้นต้นเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง และให้ศาลที่คดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งในการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขังในแต่ละคราวไป
รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นใหม่ให้พิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญา คดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง
พิทักษ์เดชยังกล่าวด้วยว่า จากกรณีที่เป็นข่าวอยู่ถือเป็นบาดแผลของกระบวนการยุติธรรม หากต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใสสะอาดและรอบคอบในการพิจารณา น้ำที่ลงสู่อ่าวสู่ทะเลก็จะสกปรก
“ผมถือได้ว่าเป็นบาดแผลสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่กระทบต่อหลักบ้านเมืองที่ประชาชนพึ่งหวัง หลักนิติธรรมที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นต่อพี่น้องประชาชนเป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น เชื่อได้ว่ากรณีเช่นนี้เป็นการใช้บรรทัดฐานที่มีความแตกต่างกัน จะทำให้บุคคลที่หนีคดีอีกหลายคนใช้กรณีแบบนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อหลบเลี่ยงในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” พิทักษ์เดชกล่าว
พรรคประชาธิปัตย์จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทั้งในและนอกสภา ยืนยันว่าประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งกับใครเป็นการส่วนตัว แต่เป็นการขัดแย้งการละเมิดหลักการของบ้านเมืองและความยุติธรรม จึงเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ร่วมกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดผลสำเร็จ