×

สภามีมติ ‘เอกฉันท์’ รับหลักการยกเลิกคำสั่ง คสช. แก้ปัญหาชายแดนใต้

โดย THE STANDARD TEAM
21.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 พ.ศ. …. ที่ ยูนัยดี วาบา สส. ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วยฉบับที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ และฉบับที่ รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ

 

ยูนัยดีได้อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. เนื่องด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ของ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วม

 

ยูนัยดีกล่าวอีกว่า เดิมสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่คำสั่ง คสช. ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อให้สภาที่ปรึกษาเดิมได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่

 

ขณะที่รอมฎอนมอบหมายให้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายร่าง พ.ร.บ. โดยตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่ง คสช. ได้เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. เพื่อขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน ซึ่งมองว่ากำลังเดินไปผิดทาง จึงเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อยุติบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ฟื้นฟูสภาที่ปรึกษาฯ และจำกัดบทบาทของ กอ.รมน.

 

ชูศักดิ์อภิปรายว่า เป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่าควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม กล่าวได้ว่า ทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอมามีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์

 

ชูศักดิ์กล่าวอีกว่า กฎหมายไทยขณะนี้ ถ้ามีการยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้วออกคำสั่งประกาศต่างๆ ใช้เวลาเท่าใด บางคนก็ว่าใช้เวลาวันเดียว พอยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด ครั้นเราจะยกเลิกต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ผ่านวาระต่างๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี เรื่องนี้สภาผู้แทนราษฎรควรต้องตระหนักว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยทั้งสภาและศาลต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหาร ว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส. ว่าเราควรต้องตระหนักถึงหน้าที่ของเราในส่วนนี้ 

 

รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาชาติ อภิปรายหนุน 

 

ปรเมษฐ์ จินา สส. สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า คงจะไม่ว่ากัน เพราะในแต่ละสถานการณ์ก็จะมีวิธีการแก้ไขปัญหา ถ้าหากในวันนั้นพวกเราอยู่ที่นี่ก็คงจะตัดสินใจแบบนี้เหมือนกัน แต่เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยมาแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธี และเมื่อได้ประเมินบทเรียนที่ผ่านมาจะพบว่าคำสั่ง คสช. ยังแก้ปัญหาไม่ได้ดีเท่าที่ควร และเสนอว่าให้ใช้แนวคิดในสมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และเพิ่มสัดส่วนตัวแทนของประชาชนเข้าไปในสภาที่ปรึกษาฯ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัดของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เป็นทั้งแหล่งประมงและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้

 

ขณะที่ ซาการียา สะอิ สส. นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนโดยเน้นย้ำถึงบทบาทของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ที่คนจังหวัดอื่นอิจฉา เพราะงบประมาณมักจะลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตนเองพูดในฐานะคนในพื้นที่ อยากให้เป็นเหมือนจังหวัดอื่นๆ ไม่ได้ต้องการหน่วยงานพิเศษ แต่เราเลือกไม่ได้ งบประมาณหลายแสนล้านบาทที่เข้ามาไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นเลย

 

ซาการียากล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือเยียวยาคนในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต. ต้องสนับสนุน คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ต้องการอะไรพิเศษกว่าคนจังหวัดอื่น นอกจากสังคมดี เศรษฐกิจดี การศึกษาดี แต่ด้วยคำสั่ง คสช. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ซึ่งไม่ได้มีความเข้าใจในพื้นที่ จึงเห็นควรว่าควรยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และ กอ.รมน. ที่เป็นทหารก็ควรดูแลด้านความมั่นคง ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เราจึงควรเลือกคนให้ถูกกับงาน 

 

ขณะที่ ซูการ์โน มะทา สส. ยะลา พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายสนับสนุนการยกเลิกคำสั่ง คสช. แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ที่สุดควรยกเลิกถึง 3 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชาติได้ยื่นเข้าไปแล้ว เพื่อให้แก้ปัญหาอย่างครบวงจร และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนมาดูแลงบประมาณของ ศอ.บต. และกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา 

 

“รัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยมีความหวาดระแวงองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมถามกลับไปว่า ถ้ายังมีความหวาดระแวง มีข้อสงสัยในตัวแทนของประชาชน ที่มาพิจารณางบประมาณของ ศอ.บต. แล้ว ผ่านไป 20 ปี รัฐบาลผลักดันงบไปกว่า 5 แสนล้านบาท มีอะไรดีขึ้น แถมประชาชนกลับถูกปิดปาก ประชาชนแต่งชุดมลายูก็ไม่มีใครกล้าออกมาพูด ประชาชนแสดงอัตลักษณ์ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีใครมาดูแล กลับไปลิดรอนสิทธิ กล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ซ่องโจร เพราะไม่มีสภาที่ปรึกษาฯ ที่มาจากประชาชน อยากฝากให้คณะทำงานได้พิจารณายกเลิกคำสั่ง และให้ ศอ.บต. เป็นแม่งานในการพิจารณา ไม่ใช่ให้ทหารนำการพัฒนา”

 

จาตุรนต์ชี้ ก้าวแรกประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกฎหมาย 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อภิปรายว่า คำสั่งของคณะ คสช. ที่ 14/2559 อ้างว่าภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ งดใช้ทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษาฯ และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ทำหน้าที่แทน ประการที่สอง ให้เลขาธิการ ศอ.บต. รับฟังข้อคิดเห็นจากเลขาฯ กอ.รมน. ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า กอ.รมน. กำลังมีบทบาทมากขึ้น และประการสุดท้าย ให้ กอ.รมน. มีบทบาทปกป้องและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งที่จริงแล้วต้องเป็นฝ่ายพลเรือน

 

จาตุรนต์ตั้งคำถามว่า ทำไม คสช. หวั่นไหวต่อ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ และสภาที่ปรึกษาฯ มีบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น เพราะสภานี้มีอำนาจหน้าที่เชื่อมโยงกับประชาชน ฝ่ายกฎหมาย และเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพ ศอ.บต. มีหน้าที่ด้านสันติภาพ และสภาที่ปรึกษาฯ ก็มีหน้าที่เชื่อมโยง ป้อนความเห็นต่างๆ คณะกรรมการที่ปรึกษาที่ปรับมาจากสภาที่ปรึกษาฯ คนแต่งตั้งคือนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจเหลือหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา ศอ.บต. ให้ความเห็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็น หมายความว่านายกรัฐมนตรีไม่ถามก็ไม่ต้องให้ความคิดเห็น ต่างจากสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษา 

 

นอกจากนี้ก็แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม แต่การที่อำนาจหน้าที่หายไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากในทุกด้าน เช่น การเยียวยา ลูกหลานเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการดูแล การพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ปัญหาการศึกษา ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่สภาที่ปรึกษาฯ จะผลักดันเรื่องนี้ได้ 

 

จาตุรนต์กล่าวย้ำว่า ปัญหาคำสั่ง คสช. นอกจากไม่มีสภาที่ปรึกษาฯ แล้ว ยังมีเรื่องการขยายอำนาจของ กอ.รมน. เข้ามาล้วงลูก แทรกแซง ทำแทนหน่วยงานพลเรือน ทำให้เจตนารมณ์ของการมี ศอ.บต. นั้นถูกเปลี่ยนไป แทนที่จะให้ฝ่ายมีพลเรือนมีบทบาท สภาที่ปรึกษาฯ จะทำให้ ศอ.บต. กลับมามีบทบาทมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ใช่ยาวิเศษ เพราะในระยะหลังมีองค์กรที่สลับซับซ้อนมาก ระดับประเทศถึง 3 องค์กรอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดไปแล้วก็เหมือนเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ประกอบด้วยสภาความมั่นคงฯ, กอ.รมน. และ ศอ.บต. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทั้งหมด แต่ไม่มีการทำงานประสานร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้มีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ และกฎอัยการศึก จะเห็นได้ว่าโดยองค์กรและกฎหมาย กองทัพมีบทบาทเป็นหลักกดทับ วันนี้ถ้าเรายกเลิกคำสั่ง คสช. จะเป็นก้าวสำคัญในการระดมความคิดจากประชาชนให้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ และมาคิดกันว่าเราจะออกแบบระบบกฎหมายอย่างไร ทำให้เกิดความสงบต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สภาก็ตั้ง กมธ. รัฐบาลก็ตั้งคณะทำงานพูดคุย หากสภาเห็นชอบจะทำให้เข้าใจปัญหาและจะนำไปสู่การได้ผลมากยิ่งขึ้น

 

ท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559ฯ ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 421 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 421 คน และเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 31 คน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X