กระทรวงการคลังเล็งออก ‘พันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ’ ครั้งแรกในรอบ 20 ปี วงเงิน 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าเผยผลการศึกษาภายในมีนาคมนี้
จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สบน. อยู่ระหว่างศึกษาการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bond: FCY) โดยคาดว่าจะเห็นผลการศึกษาที่ชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคมปี 2567
นอกจากนี้ ในเบื้องต้น วงเงินการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศดังกล่าวจะอยู่ที่ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท)
ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า กรณีที่ตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินในประเทศอยู่ในสภาวะตึงตัว ซึ่ง สบน. สามารถพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ มาตรา 22 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ตามความจำเป็น
ประกอบกับประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ หรือคิดเป็นเพียง 1.4% เท่านั้นของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด
ทั้งนี้ ไทยไม่ได้ออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศมานานราว 20 ปีแล้ว สำหรับพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ (ดอลลาร์บอนด์) โดยครั้งสุดท้ายที่ออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศคือซามูไรบอนด์เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
จินดารัตน์ยังเปิดเผย ‘ข้อดี’ ของการออกพันธบัตรสกุลต่างประเทศ ได้แก่
- สามารถช่วยให้รัฐบาลไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้น
- ลดโอกาสของการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน (Crowding Out Effect)
- ทำหน้าที่เป็นต้นทุนอ้างอิง (Reference) ให้กับภาคเอกชนของไทยที่จะออก FCY Bond ได้
อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศก็มีความเสี่ยง โดย ‘ข้อเสีย’ หลักคือ ต้นทุนดอกเบี้ยในต่างประเทศยังสูงกว่าในประเทศ ทำให้ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจเพิ่มขึ้น ดังนั้น สบน. จึงต้องศึกษาและประเมินความคุ้มค่าก่อน โดยความคุ้มค่าในที่นี้รวมไปถึงโครงการรองรับต่างๆ ที่จะนำเงินที่กู้มาไปใช้
“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างศึกษา ยังไม่รู้ว่าจะออกเป็นสกุลเงินอะไร โดยเงื่อนไขคือต้องมีความคุ้มค่า ทำให้ต้นทุนของเอกชนที่ไปกู้ต่างประเทศมีความเป็นธรรมมากขึ้น ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเราออกหมดแล้ว มีแค่เราที่ยังไม่ได้ออก โดยปัจจุบัน สนบ. ได้เริ่มหารือในเรื่องนี้กับ ก.ล.ต. แล้ว”
จินดารัตน์เปิดเผยต่อว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวบิดเบือนที่ว่า การออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศจะทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้ สบน. ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่าเข้าข่ายข่าวปลอม (Fake News) ผ่านระบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567)