วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทต่อการออกเอกสารสิทธิ์ จุดหมุดนิรนาม ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่าง 3 หน่วยงาน ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ ส.ป.ก. ว่า เดี๋ยวจะคุยกับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่แล้ว ไม่มีอะไร โดยจะต้องยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก
ส่วนข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจากการใช้แผนที่คนละฉบับใช่หรือไม่ พล.ต.อ. พัชรวาท ระบุว่า มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง หลักกฎหมายเป็นหลัก ส่วนกรณีที่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังจ้องฮุบพื้นที่ดังกล่าว ก็ต้องไปถามเขาต้องเอาข้อเท็จจริงมาประกอบ และคิดว่าหลังการพูดคุยกับ ร.อ. ธรรมนัส ก็คงรู้เรื่องเพราะเป็นพรรคเดียวกันอยู่แล้ว
‘ธรรมนัส’ เร่งประสาน กรมแผนที่ทหารจัดทำวันแมป
ด้าน ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า หลังจากตนทราบว่ามีประเด็นข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาบนที่ดินที่เขาใหญ่ กับเจ้าหน้าที่อุทยานในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนได้ลงพื้นที่เพื่อไปเคลียร์ปัญหาไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด และระดับกรมมีปัญหาทะเลาะกัน ซึ่งตนเองได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.อ. พัชรวาท ซึ่งผู้บริหารระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีไม่ได้มีปัญหากัน
ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของ 2 กระทรวง ต้องทำความเข้าใจว่าในอดีตเป็นการกำกับดูแลภายใต้กระทรวงเดียวคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่พอมีการแยกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกไป จึงมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย และเน้นย้ำว่ามีหลักการง่ายๆ หลักสำคัญอย่างแรกคือ การบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดแนวเขตทับซ้อนว่าต้องแก้ไขอย่างไร โดยขณะนี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมให้รัฐมนตรีขับเคลื่อนแนวเขตที่เป็นของรัฐที่เรียกว่า วันแมป โดยกระทรวงกลาโหมมอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร ดำเนินการเรื่องแผนที่เพื่อยุติข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งตอนนี้ต้องรอทางกรมแผนที่ทหารเร่งดำเนินการ
ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สอง พื้นที่แนวเขตอุทยานมีกฎหมายชัดเจน ที่ต้องมีการคำนวณแนวเขตให้ชัดเจนประกอบกับหลักวิชาการ โดยแนวหลักความจริงพื้นที่ในเขตอุทยานกับพื้นที่ที่ประกาศเป็นแนวเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) มีพื้นที่ชนกันจะไม่ประกาศ ไม่จัดให้เกษตรกรเข้ามาทำกิน เนื่องจากเวลาเกษตรกรเข้ามาทำกิน ทำไร่ ทำสวน จะมีสัตว์ป่าลงมากินพืชผลเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องมาแก้ไขอีก และหากให้เกษตรกรเข้ามาทำกินในพื้นที่ติดกับเขตอุทยาน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องการบุกรุกเขตอุทยาน ดังนั้นนโยบายในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจะออกแนวทางในการปฏิบัติใหม่ โดยกำหนดพื้นที่ใดก็ตามที่เป็นเขตชนกันระหว่างที่อุทยานกับที่ ส.ป.ก. ห้ามจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรทำกินเด็ดขาด สงวนไปเป็นพื้นที่กันชน หรือ Buffer Zone และสงวนให้เป็นเขตป่าไม้ชุมชน โดยจะกำหนดแนวทางหลังประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน
ร.อ. ธรรมนัส ระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำงานเพื่อประเทศชาติ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งคู่ และในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้งหมดจะต้องกลับเข้ามาทำงานในส่วนกลางเพื่อความโปร่งใส ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่นั้น ได้รับรายงานจากเจ้ากรมแผนที่ทหารจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 2 สัปดาห์ในเรื่องของการทำแผน ขออย่าเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์และดึงประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในวันนี้จะหาจังหวะเข้าไปปรึกษา พล.ต.อ. พัชรวาท
ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ส่วนข้อกังวล หากมีชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะจัดสรรเป็นเขตกันชน รัฐบาลจะต้องหาที่ทำกินใหม่ให้เกษตรกร ขอย้ำว่าไม่ต้องกังวลและไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่มีปัญหา แต่ขอให้เกษตรกรทั่วประเทศมั่นใจรัฐบาลจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ ไม่ต้องกังวล
ชี้หากเป็นพื้นที่อุทยาน ‘ชัยวัฒน์’ มีอำนาจถอดหมุด
ขณะที่ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทาง พล.ต.อ. พัชรวาท และ ร.อ. ธรรมนัส จะหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นนี้ ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางที่เรียกว่า วันแมป คือการใช้แนวเขตที่ดินของรัฐมากำหนด และก่อนหน้านี้คือการนำแผนที่มาตราส่วนเดียวกันมาปรับให้เป็นแนวเขตเดียวกัน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่เขาใหญ่ รอให้เจ้ากรมแผนที่ทหารซึ่งขณะนี้กำลังลงพื้นที่อยู่ได้ดำเนินการ
เมื่อถามว่าก่อนที่จะมีการปักหมุดต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงทรัพย์ฯ ก่อนหรือไม่ จตุพรระบุว่า ในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีอยู่แล้ว แต่การที่หน่วยงานไหนจะเข้ามาต้องมาคุยกันก่อน เช่น แนวระดับจังหวัด หรือคณะกรรมการปฏิรูปจังหวัด แต่ส่วนนี้เป็นเรื่องของจังหวัดตนไม่ขอก้าวล่วง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วต้องมาคุยกัน เพราะมีอยู่ 3 เรื่องที่ต้องทำคือ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และวิทยาศาสตร์ คือการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเรามีอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าการที่ชัยวัฒน์ถอดหมุดสามารถทำได้หรือไม่ จตุพรระบุว่า สิ่งใดก็ตามที่อยู่ในเขตอุทยาน หากเข้าไปบุกรุกสามารถดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นเหตุที่มีความละเอียดอ่อน โดยป่าสงวนจะเป็นไข่ขาว อุทยานคือไข่แดง แต่จะขอเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดหากชัยวัฒน์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนยืนยันว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของชัยวัฒน์หากอยู่ในพื้นที่อุทยานก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นมรดกโลก จึงต้องไปพิสูจน์ทราบ ว่าการที่เจ้าหน้าที่ไปปักหมุดสามารถทำได้เลยหรือไม่ และต้องไปดูขั้นตอนของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จะต้องเข้ามาอย่างไร ต้องไปดูภาพรวมทั้งหมด รายการที่จะเข้าไปปักแนวเขตอะไรก็แล้วแต่ มีระเบียบรองรับอยู่แล้ว ว่าจะต้องมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ขั้นตอนละเอียดอยู่ และเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานที่จะหาข้อยุติในเรื่องนี้
ปัดมีใบสั่งการเมือง
เมื่อถามว่า ชัยวัฒน์มีการตั้งข้อสังเกตว่าการปักหมุดบริเวณดังกล่าวมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ จตุพรระบุว่า ขอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะทุกฝ่ายก็ทำตามกฎหมายของตัวเอง อยากให้รอคณะกรรมการเข้ามาดู ซึ่งเป็นเรื่องแนวเขตที่เราเห็นอยู่แล้วว่ามีปัญหา จึงจำเป็นต้องมีวันแมปขึ้นมา ในการแก้ไขแนวเขตที่ดินของรัฐ ถ้านำที่ดินของรัฐในส่วนของราชการมาดู เป็นที่ดินเกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ทุกฝ่ายมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ที่เราเรียกว่าโฉนดที่ดิน 1:4,000 ก็สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้หมด
จตุพรกล่าวว่า ไม่น่าจะมีเรื่องการเมืองมาอยู่เบื้องหลัง ส่วนจะมีใบสั่งให้ไปปักหมุดจุดนั้นหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะทั้ง 2 หน่วยงานยืนยันแผนที่ของตัวเอง ก็ต้องนำมาตรวจสอบ อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ถูก ส่วนพื้นที่ที่ปักหมุดจะเตรียมแบ่งไว้ให้ประชาชนทำกินหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯ แต่ยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
ส่วนจะคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรมอุทยานหรือไม่นั้น จตุพรยืนยันว่ามีพระราชกฤษฎีกาแนวเขตอยู่ เป็นข้อกฎหมาย
ยันให้ความเป็นธรรม ‘ชัยวัฒน์’ หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังกล่าวถึงกรณีที่ชัยวัฒน์ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคำตัดสินค้างเก่าคดีก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมิชอบ ชี้ผิดวินัยร้ายแรง และส่งอัยการสูงสุดฟันผิดอาญา ว่าทาง ป.ป.ช. ได้แจ้งเรื่องไปที่ต้นสังกัดของชัยวัฒน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางต้นสังกัดก็จะส่งรายละเอียดมาให้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอนอยู่ ทั้งเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ และชัยวัฒน์สามารถอุทธรณ์และร้องขอความเป็นธรรมกับทางกระทรวงได้ ซึ่งยอมรับว่าข้าราชการเราโดนแบบนี้มาเยอะ ก็เปิดให้เขาร้องขอความเป็นธรรมและเสนอหลักฐานเข้ามา
“เราก็ต้องดูแลคนของเรา คนทำงานก็ต้องยอมรับว่าต้องมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ถ้าผิดแล้วเป็นปัญหาเราก็ต้องดูแลเจ้าหน้าที่ของเรา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานให้เขา ลูกน้องของผมทุกคนผมดูแลหมด และให้ความเป็นธรรมทุกคน” จตุพรกล่าว
‘ธรรมนัส-พัชรวาท-ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ’ หารือที่ดิน ส.ป.ก.
จากนั้น ร.อ. ธรรมนัส และปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ได้เดินมารอยังห้องทำงานของ พล.ต.อ. พัชรวาท เพื่อพูดคุยถึงกรณีดังกล่าว โดยใช้เวลาการหารือไม่นาน ก่อนที่จะขึ้นประชุมคณะรัฐมนตรี