ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ไตรมาส 4/66 บันทึกด้อยค่า 18,433 ล้านบาท จากแผนถอนการลงทุนในธุรกิจ Red Lobster แต่ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ
บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 37% ขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.3% เทียบกับ 4.6% ในปี 2565 โดยการลดลงของกำไรสุทธิส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรจากการดำเนินงานและรายการที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน ได้แก่
- ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 236 ล้านบาท มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและการลดลงของเครดิตภาษี
อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิปกติที่อ้างอิงข้างต้นไม่รวมการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจากแผนถอนการลงทุนในธุรกิจ Red Lobster โดยบริษัทฯ มีการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวในไตรมาส 4/66 ที่มูลค่า 18,433 ล้านบาท (527 ล้านดอลลาร์) จากแผนถอนการลงทุนส่วนน้อยใน Red Lobster
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้อย่างเป็นเอกฉันท์ เรื่อง การขออนุมัติผ่อนผันหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของไทยยูเนี่ยนฯ ในปี 2566 ตามที่บริษัทฯ เสนอขอให้ไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีจากแผนดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขการหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีแล้วไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ประกอบกับทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัทฯ ในระดับ A+
สำหรับในปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ 136,153 ล้านบาท ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการขนส่งทั่วโลกที่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า
ขณะที่การดำเนินงานไตรมาส 4/66 มียอดขาย 35,529 ล้านบาท ลดลง 10.3% จากยอดขายที่อยู่ในระดับสูงปีก่อน มีสาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง, ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่มีปริมาณการขายที่ลดลง
ส่วนมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 1,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีสาเหตุจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 68 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 468 ล้านบาทในไตรมาส 4/65 ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และผลกระทบจาก i-Tail Dilution จำนวน 95 ล้านบาท โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิ (NPM) อยู่ที่ 3.5%
นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนฯ ยังได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ราคา 0.24 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทฯ จ่ายเงินปันรวม 0.54 บาทต่อหุ้น
ตั้งเป้ายอดขายปี 67 โต 3-4% พร้อมตั้งงบลงทุน 4-4.5 พันล้านบาท
สำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2567 ตั้งเป้าหมายยอดขายเพิ่มขึ้น 3-4% จากปี 2566 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17-18% อีกทั้งตั้งเป้าสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายอยู่ที่ 11-12% และตั้งงบลงทุนในปี 2567 ไว้ที่ 4-4.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจ
ด้าน ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4/66 กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็งมียอดขายอยู่ที่ 12,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 8% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.4% เป็นผลจากกลยุทธ์การบริหารจัดการขนาดองค์กรที่สหรัฐอเมริกาและการบริหารจัดการระบบสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโต 22.5%
เนื่องจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าหลักและระดับสินค้าคงคลังที่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการนำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียกและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยในไตรมาส 4/66 ไทยยูเนี่ยนฯ ยังมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกมูลค่าถึง 2,842 ล้านบาทมาจากความสามารถในการทำกำไร (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง ประกอบกับมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ
“ปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความท้าทายจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่กดดันตลาดที่ไทยยูเนี่ยนฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่ไทยยูเนี่ยนฯ ก็สามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ในไตรมาสสุดท้ายของปียังสามารถทำกำไรได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ” ธีรพงศ์กล่าว