เปิดต้นปีมา พี่จีนก็ทำนักลงทุนทั่วโลกระส่ำระสายด้วยคำสั่งล้มละลายของ ‘China Evergrande’ ยักษ์ใหญ่อสังหาที่มีหนี้สินสูงที่สุดในโลก เซ่นวิกฤตฟองสบู่อสังหาจีน จุดชนวนความวิตกกังวลรอบใหม่เกี่ยวกับปัญหาหนี้ของจีนที่เรื้อรังกินเวลายาวกันทีเดียว
และแน่นอนว่าหุ้นไหลรูดรับข่าวร้ายในทันที แต่คนที่ติดดอยหุ้นจีนอย่าเพิ่งหดหู่หมดหวังกันนะครับ
เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนต้นแบบสาย VI ที่ออกมาพูดถึงหุ้นจีนเป็นครั้งแรก ผมว่าน่าจะช่วยให้คุณมีคำตอบได้ว่า คุณจะลงทุนหุ้นจีนต่อดีหรือเข็ดขยาดแล้ว…ถอยดีกว่า!! และมองในระยะข้างหน้า ต้องรอจีนนานแค่ไหนถึงจะพลิกฟื้นกลับมาได้ และกลับมาแบบไหน
ปีแห่งความเจ็บปวดของจีน จาก ‘China Evergrande’ สู่โดมิโนอสังหาในจีน
ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ศาลฮ่องกงสั่งให้ China Evergrande เลิกกิจการ และนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เนื่องจาก Evergrande ปราศจากความคืบหน้าในการนำเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ และแผนการฟื้นฟูกิจการที่เป็นไปได้ ขณะที่ศาลเห็นว่าผลประโยชน์ของเจ้าหนี้จะได้รับการปกป้องมากกว่าถ้ามีคำสั่งให้ Evergrande เลิกกิจการ
ในวันที่ข่าวร้ายปกคลุมจีน ราคาหุ้นของ Evergrande ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงตกวูบลงมาเกือบๆ 21% ในช่วงแรกๆ ของการเทรดเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกสั่งระงับการซื้อขายไป ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งยังปรับตัวขึ้น 0.9% และมีราคาหุ้นของบริษัทอสังหาบางตัวขยับขึ้น เช่น Country Garden หรือ Sunac China Holdings เป็นต้น
ท่ามกลางความวิตกกังวลของตลาดว่า ประเด็นการขายทรัพย์สินของ Evergrande อาจส่งผลกระทบทั่วโลก แม้ว่าหน่วยงานกำกับของจีนยืนยันว่าสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ โดยข้อมูลเอกสารที่ยื่นต่อศาลนั้น Evergrande ติดหนี้กลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติ 25,400 ล้านดอลลาร์ และติดหนี้ภายในประเทศสูงกว่าอย่างมาก โดยตามการประมาณการของ Evergrande เอง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 Evergrande มีหนี้สินรวม 328,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินรวมที่มีราวๆ 240,000 ล้านดอลลาร์
The China Evergrande Group เป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ที่มีธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 90% ทำให้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า หากศาลฮ่องกงมีคำสั่งขายทรัพย์สิน Evergrande แล้วจะส่งผลต่อระบบการเงินของจีนอย่างไร รวมถึงกระทบการดำเนินงานของ Evergrande ในจีน ซึ่งบริษัทยังพยายามที่จะส่งมอบห้องที่พักอาศัยให้แก่กลุ่มลูกค้า
ผลกระทบของการยุติกิจการในฮ่องกง คาดว่าเป็นคลื่นกระแทกผ่านตลาดหุ้นจีนที่เปราะบางอยู่แล้วให้ดำลึกลงได้อีก และซ้ำเติมภาคอสังหาให้ตกต่ำลงเป็นระยะๆ ตลอดช่วงปีนี้ ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีสัดส่วนราว 20-30% ของเศรษฐกิจจีน (GDP) ถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จีนยังมีเครื่องยนต์อื่นๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนด้วย นำโดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยี ภาคบริการและท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี
รัฐบาลยันไม่อัดมาตรการขนานใหญ่ มุ่งแก้โครงสร้าง เน้นโตระยะยาว
แม้ในปี 2566 จีนเผชิญวิกฤตอสังหา แต่เศรษฐกิจก็ยังสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 ของจีน ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5% โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่าจะมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และเปลี่ยนรูปแบบการเติบโตจากที่เคยเน้นการส่งออกเป็นหลัก ไปเป็นการเพิ่มบทบาทของการบริโภคให้มากขึ้น
ผมเห็นข่าว หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเรียกความเชื่อมั่นในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอสเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า “ในปี 2566 เศรษฐกิจจีนขยายตัวราว 5.2% สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่ง GDP ที่ปรับตัวในทิศทางขาขึ้นนั้น ปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจไม่ได้มาจากการพึ่งพาการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เท่านั้น เนื่องจากเราไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแค่ในระยะสั้น แต่เผชิญกับความเสี่ยงในระยะยาว”
พร้อมกับพยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนโดยตรง (FDI) ในจีนเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวกับบรรดาผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติ 14 รายว่า “การลงทุนในจีนจะให้ผลตอบแทนมหาศาลและมีอนาคตที่ดีกว่า จีนมีความพร้อมที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่บริษัทต่างชาติในจีนเผชิญอยู่”
ซึ่งผู้บริหารจาก 14 บริษัทข้ามชาติเข้าร่วมงานนั้น รวมถึงผู้บริหารจาก เจพีมอร์แกนเชส (JPMorgan Chase), วอลมาร์ต (Walmart), อินเทล (Intel), บีเอเอสเอฟ (BASF), โฟล์กสวาเกน (Volkswagen) และซีเมนส์ (Siemens)
หากถามว่าในปีนี้ 2567 เศรษฐกิจจีนยังเติบโตแค่ไหนภายใต้โจทย์แก้วิกฤตอสังหา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP จีนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.6% เนื่องจากวิกฤตการณ์ในภาคอสังหายังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ขณะที่ภาคการลงทุนยังไม่เห็นแนวโน้มเชิงบวก บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในจีนลดการลงทุนหรือคงระดับการลงทุนไว้เท่าเดิมในปี 2566 และส่วนใหญ่มองไม่เห็นแนวโน้มเชิงบวกสำหรับปี 2567 โดยมีเพียง 1 ใน 4 ของผู้สำรวจเท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น
ต้องยอมรับว่าเวลานี้จีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์บริษัทต่างชาติกำลังสูญเสียความมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการฟื้นตัวที่ซบเซาหลังจากโควิด นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปราบปรามและการควบคุมจากรัฐบาลยังก่อให้เกิดความกังวลให้กับตลาดและบริษัทในต่างประเทศ สะท้อนผ่านข้อมูลเป็นทางการระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 หรือราว 11 เดือน จีนมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่ำสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชุดเล็กๆ เท่านั้น โดยเน้นใช้นโยบายการเงินเป็นหลักผ่านการลดดอกเบี้ยและผ่อนคลายข้อจำกัดให้กับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอสังหา เป็นเครื่องมือในการช่วยดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและประชาชน อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ประกาศมาตรการอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านหยวน แต่ก็เป็นการตั้งงบประมาณใช้จ่ายข้ามปี และเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่การแจกเงินหรือกระตุ้นการใช้จ่ายภาคบริโภคเท่าที่ควร
ผ่านมาถึงต้นปีนี้เรายังเห็นจีนเน้นใช้นโยบายการเงินเป็นหัวหอกในการดูแลปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การประชุมธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
PBOC ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย LPR หลังจากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ระดับ 2.5% เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง 0.10% สู่ระดับ 2.40% เพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด และกระตุ้นการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ธนาคารกลางจีนยังได้อัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 9.95 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 1.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 15 มกราคมผ่านโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5%
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เหลือ 0.5% ช่วยเพิ่มสภาพคล่องระยะยาวได้ 1 ล้านล้านหยวน
การที่ธนาคารกลางจีนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันดังกล่าว ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เนื่องจากมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า PBOC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืดและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ดร.นิเวศน์มอง “หุ้นจีนลงลึกแต่ยังไม่สุด ถือลงทุน 5-10 ปี ก็ได้ผลตอบแทนคุ้ม”
สำหรับโอกาสการพลิกฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจจีนและตลาดหุ้นจีนในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมขออ้างอิงความเห็นบางส่วนของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนต้นแบบสาย VI หรือหุ้นเน้นคุณค่า มาให้ฟังดีกว่าครับ เพราะเป็นครั้งแรกที่ ดร.นิเวศน์ออกมาพูดถึงหุ้นจีนได้อย่างน่าสนใจใน บทความ ‘Big VS Little Dragon /ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร: สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)’ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567
ดร.นิเวศน์มองหุ้นจีนผ่านตลาดหุ้นฮ่องกงว่า ดัชนีฮั่งเส็งตกต่ำต่อเนื่องมานานและราคาหุ้นถูกมาก ดัชนีฮั่งเส็งวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 อยู่ที่ 15,309 จุด และต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2561 ที่ 32,887 จุด หรือต่ำกว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วถึง 53% นอกจากนั้นยังเป็นจุดที่ต่ำกว่าดัชนีเมื่อ 23 ปีมาแล้ว พูดง่ายๆ คนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงในช่วงปลายปี 2543 และถือมาจนถึงวันนี้แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น ปีที่แล้วดัชนีติดลบไป ‘มากที่สุดในโลก’ กว่า 20% และนับจากต้นปีนี้ก็ติดลบไปอีก 9% แล้ว
การที่ดัชนีตกต่ำต่อเนื่องมายาวนานและยิ่งตกมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ค่า PE เหลือไม่เกิน 10 เท่า ก็ทำให้ราคาหุ้นในตลาดฮ่องกงต่ำมากทั้งๆ ที่เป็นตลาดของหุ้นขนาดใหญ่ชั้นดีรวมถึงหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก ซึ่งหุ้นเหล่านี้มีความสามารถแข่งขันได้ไม่แพ้บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกา โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีผู้ใช้มากพอที่จะทำให้มี Economies of Scale และไม่ล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอน
ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า โอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้มีราคาสมกับพื้นฐานของกิจการได้ไม่ยาก โดยเฉพาะถ้ารัฐจีนเริ่มปรับหรือปฏิรูปการดำเนินงานใหม่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะงักงันในช่วงเร็วๆ นี้
หุ้นจีนนั้นมีความท้าทายมากในแง่ที่ว่า จีนเองถึงจะมีปัญหามากในช่วงนี้ แต่ศักยภาพของคนสูงมาก และก็คงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เหนือสิ่งอื่นใด เทคโนโลยีของจีนไม่แพ้ใครในโลก ถึงจุดหนึ่งก็อาจสามารถชดเชยจำนวนคนที่ลดลง ชดเชยอุปสรรคจากระบบการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หรือไม่ระบบก็อาจเปลี่ยนกลับไปได้เสมอ และเมื่อทุกอย่างคลี่คลายลง แม้ว่าจะชั่วคราว ดัชนีหุ้นจีนก็อาจวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ทำกำไรให้กับนักลงทุน ‘ผู้กล้า’ ได้อย่างงดงาม
หลังจากบทความนี้ออกมาไม่กี่วัน จีนก็มีข่าวว่ารัฐบาลจีนเตรียมพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดหุ้น ด้วยการอัดฉีดวงเงิน 2 ล้านล้านหยวน หรือมูลค่าราว 6% ของ Market Cap เนื่องจากตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งเป็นการไหลลงต่อเนื่องจากต้นปีที่แล้ว ข่าวมาตรการนี้ส่งผลทางจิตวิทยาให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวเด้งขึ้นอย่างรวดเร็วราว 10% ทีเดียว ในช่วงวันที่ 23-24 มกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้น โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจากบัญชีของรัฐวิสาหกิจจีนที่อยู่นอกประเทศ (Offshore) จะนำมาซื้อหุ้นในประเทศ (Onshore) ผ่านระบบ Shanghai-Hong Kong Stock Connect และยังคาดว่าทางการจีนจะใช้วงเงินในประเทศอีกอย่างน้อย 3 แสนล้านหยวนเพื่อเข้าลงทุนหุ้นในประเทศผ่านบริษัท China Securities Finance Corp. หรือ Central Huijin Investment อีกด้วย
ท่ามกลางกระแสเสียงสะท้อนจากตลาด มองว่าตอนนี้จีนยังไม่ได้ประกาศออกมาตรการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ช่วยจุดพลุให้ตลาดออกอาการ ‘ดี๊ด๊า’ ขึ้นมาได้
ในส่วนตัวผมมองว่า ขนาดเม็ดเงินของมาตรการนี้ หากมีการประกาศเป็นทางการจริงๆ ขึ้นมาก็นับว่ามีขนาดใหญ่มาก เพราะถ้าย้อนดูช่วงที่ตลาดหุ้นจีนเคยปรับตัวลงแรงราวช่วงปี 2558-2559 ภาครัฐเคยออกมาตรการนี้มาเพื่อลดความผันผวน โดยมีเม็ดเงินเข้าซื้อราว 1 ล้านล้านหยวนในช่วงเวลา 2 เดือน แต่หลังจากนั้นก็พบว่าตลาดหุ้นปรับตัวลงต่อ แต่สำหรับมาตรการใหม่ที่จะออกรอบนี้ ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าขนาดของมาตรการนี้จะหนุนให้ตลาดหุ้นเป็นบวกได้แค่ไหน เพราะยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกหรือลบ เช่น แนวทางและระยะเวลาในการแก้วิกฤตที่มีอยู่ ตัวพื้นฐานเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทในตลาด และปัจจัยนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งเศรษฐกิจและเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดระยะยาว แต่อย่างน้อยเราก็พอเห็นแนวโน้มช่วยจำกัดกรอบขาลง หรือ Downside ของตลาดหุ้นได้ในระยะสั้นๆ
ขณะที่ ดร.นิเวศน์ชี้โอกาสการลงทุนผ่านรายการ ลงทุนแมน ด้วยว่า ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ด้วยพื้นฐานการปกครองจากอังกฤษ จึงมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะมาตรฐานระบบบัญชี ซึ่งหุ้นจีนในตลาดหุ้นฮ่องกงมีบริษัทใหญ่ๆ แบรนด์ดังของโลกจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย แต่ก็ยอมรับว่าปัจจัยพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจแบบยอดเยี่ยมต่อไปนั้นน่าจะเริ่มมีเครื่องหมายคำถาม เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สังคมจีนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นระบบการปกครองและการบริหารงานด้านเศรษฐกิจก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเอื้ออำนวย โดยเฉพาะการประกาศนโยบายใหม่ของผู้นำคือ ‘Common Prosperity’ หรือการพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยการลดความมั่งคั่งของคนรวยลง ซึ่งน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงไปมาก
ถ้ามองด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน ในระยะข้างหน้าเมื่อปัญหาในจีนสงบราบคาบและกลับมาได้ ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตสูง 7% เหมือนในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ทั้งโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นและระบบการปกครอง ทำให้เศรษฐกิจโตได้เท่านี้ แต่เนื่องด้วยจีนมีขนาดการบริโภคที่ใหญ่ จึงทำให้ยังมีความสามารถในการทำกำไรและผลประกอบการของบริษัทเติบโตได้ พร้อมที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้สูงอยู่ระดับ 7-15%
หากคุณลงทุนในระยะยาวก็ถือว่าให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและสูง เพราะอย่าลืมว่า ปัจจุบันไม่มีทางเลือกในการลงทุนในอสังหาเหมือนสมัยก่อนที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นหรือทำกำไรได้มากกว่า เนื่องจากคนจีนเริ่มตระหนักได้ว่า การลงทุนในอสังหาไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม หรือจะรวยจากการลงทุนในอสังหาได้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้นหากจะลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดก็มีแต่หุ้น เพราะบริษัทยังมีกำไรดี และอาจได้เงินปันผลมากขึ้นด้วย และในที่สุดก็เชื่อว่าราคาหุ้นจะกลับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นเมื่อสถานการณ์เลวร้ายสงบลง
สำหรับมุมมองส่วนตัวของผม หากใครที่กำลังเลือกหุ้นจีนที่จะลงทุน คุณต้องทำการบ้านอย่างหนักนะครับ แม้จะบอกว่ายึดหลัก ‘เลือกหุ้นคุณภาพดี ราคาถูก’ ก็ไม่ใช่จะดูกันง่ายๆ ครับ ไม่ว่าจะดูโมเดลธุรกิจของบริษัทนั้นว่ามีความสามารถในการทำกำไร และมีโอกาสเติบโตในระยะยาวอย่างไร การดูทีมผู้บริหาร การดูผลประกอบการย้อนหลัง การดูราคาหุ้นย้อนหลังที่เคยสูงสุดและลงต่ำ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของตัวหุ้นนั้นๆ ด้วย ยังไม่นับเรื่องอุปสรรคทางภาษาอีกนะครับ
แต่ข้อมูลเหล่านี้รวบรวมไว้ใน Jitta.com ที่คุณสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลหุ้นจีนทุกตัวที่มีในตลาดจีนทุกตลาด หากจะให้ง่ายกว่านั้นเลือกหุ้นที่ผมจัดอันดับ (Ranking) ไว้แล้วไปทำการบ้านต่อเอง ก็ช่วยย่นระยะเวลาไปได้มากทีเดียว
ผมอยากกระซิบว่าจริงๆ ตอนนี้มีหุ้นจีนหลายตัวที่มีผลประกอบการดี แต่ราคาหุ้นร่วงลงมามาก แม้แต่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเข้ามาเก็บหุ้นถือเพิ่มขึ้นเลยครับ หากคุณเห็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ แจ็ค หม่า และ โจเซฟ ไซ ซึ่งเป็นสองผู้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ได้เข้าซื้อหุ้น Alibaba รวมกันเป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหุ้น Alibaba พุ่งขึ้นถึง 8% ซึ่งประเด็นดังกล่าวสร้าง Sentiment บวกต่อหุ้นเทคของจีน ส่วนหุ้น BYD ก็มีรายงานข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือหุ้นสัดส่วน 20% หรือหุ้น Tencent ราคาหุ้นร่วงเหลือเพียง 280 กว่าหยวนต่อหุ้น จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 800 หยวน เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นครับ ยังมีหุ้นดีๆ อีกมากมายในตลาดหุ้นจีนให้คุณได้เลือกหา ผมเชื่อว่าถ้าใครจะทยอยซื้อในวันนี้ และถือลงทุนระยะยาว 5-10 ปีก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนแน่นอนและค่อนข้างมากด้วย เพราะอย่างน้อยบริษัทดีๆ ยังทำกำไรได้ มีเงินปันผลให้ ซึ่งในแต่ละปีที่ได้รับก็คุ้มแล้ว และในระยะยาวที่ราคาหุ้นกลับมาก็จะได้มากขึ้น
ส่วนใครที่จะเข้าซื้อตอนนี้และต้องการลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี ถามว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน ก็ยังเป็นคำถามอยู่เหมือนกันครับ
ส่วนใครที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ผมก็อยากให้นึกถึงปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็จะนึกถึงประโยคทอง ‘จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นกล้า’ ยึดเป็นแนวทางของนักลงทุนสาย VI ครับ
ทั้งนี้ ผมไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้นจีนทันทีนะครับ เพียงแต่ชี้โอกาสการลงทุนหุ้นจีนที่ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องหันมามองและศึกษาข้อมูลหุ้นรายตัว เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อจังหวะการลงทุนมาถึงครับ แน่นอนครับ การทำการบ้านไว้ก่อนอย่างรอบคอบและรอบด้าน จะทำให้คุณมีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีมากขึ้น และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดีๆ จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างมีหลักการ
และอีกข้อคิดที่ผมอยากฝากเพื่อนนักลงทุน ด้วยคำกล่าวของไอดอลสาย VI ของผมท่านเดิมครับ ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่คอยย้ำเตือนผมเสมอว่า ‘Bad news is an investor’s best friend’ คำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว
ไม่ว่าข่าวดีหรือข่าวร้ายย่อมมีผลกับการตัดสินใจของนักลงทุน และความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นอยู่เสมอ จนหลายครั้งแค่ข่าวร้ายระยะสั้นๆ อาจทำให้เราลืมมองความเป็นจริงในระยะยาวอยู่บ่อยครั้ง
และข่าวร้ายเองก็มีผลต่อสภาพจิตใจของมนุษย์มากกว่าข่าวดีเสียด้วย นั่นทำให้คำพูดของบัฟเฟตต์มากระตุกต่อมคิดและเตือนใจนักลงทุนได้ดี
เมื่อคุณเจอข่าวร้ายขอให้มองมันเป็นเพื่อนที่แสนดีคนหนึ่ง ที่เขาอาจมากระซิบบอกคุณว่า ตอนนี้อาจเป็นโอกาสที่จะได้หุ้นดีราคาถูกแล้วก็เป็นได้ครับ