เวลา 00.00 น. ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถนนทุกสายที่มาจากโรงพยาบาลตำรวจจะมาบรรจบกันที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ คฤหาสน์หลังใหญ่ล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวมุก ตั้งอยู่ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่พักโทษ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทยนับสองทศวรรษและมากที่สุดในเวลานี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจบ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนทักษิณพักโทษ 18 ก.พ. นี้
- จากวัน ‘ทักษิณ’ เหยียบแผ่นดินไทย (อีกครั้ง) สู่วันพักโทษ
- 8 ข้อปฏิบัติระหว่าง ‘พักโทษ’ ทำดีมีสิทธิ ‘พ้นโทษ’
‘ทักษิณ’ ได้รับการพักโทษภายใต้คุณสมบัติคือ มีเหตุพิเศษ เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, มีการจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และต้องปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไข 8 ข้อของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ. 2560
พักโทษด้วยเงื่อนไข 8 ข้อ
- ต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
- ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน กระทำผิดอาญา
- ประกอบอาชีพโดยสุจริต
- ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา
- ห้ามพกพาอาวุธ
- ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
- ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะบุตรสาวคนเล็ก ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ‘ครอบครัวชินวัตร’ ได้เตรียมการปัดฝุ่นทำความสะอาดบ้านจันทร์ส่องหล้าสำหรับต้อนรับคุณพ่อ เพราะปัจจุบันบ้านนี้ไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว
ครอบครัวชินวัตร: (จากซ้าย) คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์, พานทองแท้ ชินวัตร, แพทองธาร ชินวัตร, ทักษิณ ชินวัตร และ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์
ภาพ: ฐานิส สุดโต
บ้านจันทร์ส่องหล้ามีความสำคัญอย่างไร
‘จันทร์ส่องหล้า’ เป็นชื่อเรือนรักและบ้านพักส่วนตัวของ ‘ทักษิณ’ กับ ‘คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ ที่อาศัยอยู่มาด้วยกันตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัว กระทั่งถึงตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นสถานที่ที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549
หมายเหตุ: บ้านจันทร์ส่องหล้าถูกทางการแจ้งว่าเป็นที่อยู่ของ ทักษิณ ชินวัตร ในระบบทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย
ปัจจุบัน ‘คุณหญิงพจมาน’ ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว โดยย้ายไปอยู่คฤหาสน์หลังใหม่ที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลย่านรามอินทรา ที่ถูกเรียกกันอย่างติดปากว่า ‘บ้านเลขที่ 38’ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังสนามฟุตบอลอัลไพน์ อันเป็นธุรกิจของ ‘โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร’ ลูกชายคนโต และติดกับโครงการบ้านจัดสรร บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา ของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตระกูลชินวัตรถือหุ้นใหญ่
ในอดีตนั้น ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ถูกเปรียบว่าเป็นบ้านที่ ‘จันทร์ไม่หยุดส่องแสง’ และถูกยกให้เป็น ‘เซฟเฮาส์’ ของนักการเมือง รัฐมนตรี นักธุรกิจ และ สส. สายตรงตระกูลชินวัตร เพื่อพบปะพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ของการเมืองไทยอย่างไม่ขาดสาย
ทั้งยังเคยเป็น ‘สถานที่รับรอง’ บุคคลสำคัญ ‘ระดับโลก’ อย่าง จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐฯ และ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีคนที่ 42 เมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยในช่วงแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2547 ด้วย
ในปี 2556 บ้านจันทร์ส่องหล้าเคยตกเป็นเป้าทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ได้บุกไปโจมตีคนในตระกูลชินวัตรถึงบริเวณหน้าบ้าน ด้วยการตั้งโทรโข่งปราศรัยเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
นอกจากนั้น ในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้นำเอกสารเรียกเก็บภาษีมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาทไปติดที่หน้าบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจบางพลัดร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีการอ้างว่าเป็นเงินภาษีที่ได้จากการซื้อ-ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประมาณ 3,000 ล้านหุ้น
ขณะนั้น ‘นพดล ปัทมะ’ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของทักษิณ ได้ชี้แจงว่า การซื้อ-ขายหุ้นในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงและไม่มีเงินได้ จึงไม่ต้องชำระภาษี และได้ยื่นคำขออุทธรณ์ต่อกรมสรรพากร
อย่างไรก็ตาม บ้านจันทร์ส่องหล้าปรากฏอยู่บนหน้าสื่อครั้งสุดท้ายคือเมื่อครั้งถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับฉลองวันเกิดปีที่ 59 ของทักษิณร่วมกับคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ก่อนที่จะต้องพลัดถิ่นไปอยู่ต่างประเทศยาวนานเกือบ 16 ปี
นอกจากนี้ มีกระแสข่าวว่า ‘สมเด็จฮุน เซน’ ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือนนี้ เพื่อมาเยี่ยมเยียน ‘เพื่อนรัก’ ผู้เป็นมิตรแท้ หลังได้รับการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ตามที่เคยสัญญาไว้
กระนั้น หลังการพักโทษครั้งนี้ คอการเมืองหลายคนไม่อาจละสายตาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยได้ แม้หลายคนต่างจดจำว่า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เป็นเรือนรับรอง เป็นเซฟเฮาส์ของนักการเมือง นักธุรกิจ
เมื่อ ‘นายใหญ่’ ได้กลับบ้าน มีอิสระ และคัมแบ็กสู่การเมืองไทย นี่อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอีกครั้ง ทั้งการปรับคณะรัฐมนตรี เดินเกมสลับพรรคร่วมรัฐบาล หรือที่หนักที่สุดคือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
เรื่องนี้ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกปากให้จับตาหลังวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ให้ดี ประเทศอาจตกอยู่ในภาวะมี 2 นายกรัฐมนตรี หากรัฐบาลไม่ระมัดระวัง คงหนีไม่พ้นความยุ่งยากต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแน่นอน
อ้างอิง: