เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวอีกครั้งโดยไม่คาดคิดในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2023 ส่งผลให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) จากการที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน และทำให้แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค สร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางญี่ปุ่นในการหาทางออกเพื่อยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
สำนักงานคณะรัฐมนตรีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นหดตัวที่อัตรา 0.4% ต่อปี ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ 3 เดือนก่อนหน้า GDP เพิ่งจะหดตัวไป 3.3%
เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างลดการใช้จ่ายลง
ขณะเดียวกันตัวเลขดังกล่าวสร้างความประหลาดใจอย่างมาก เพราะบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ราว 1.1%
ตัวเลข GDP ล่าสุดของญี่ปุ่นยังทำให้ขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปรับลดลงจากอันดับ 3 ของโลกมาอยู่ในอันดับที่ 4 ในปี 2023 ทำให้เศรษฐกิจที่ก่อนหน้านี้เคยใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกอย่างเยอรมนีขยับขึ้นเบียดแซงญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแทน
ขณะเดียวกันรายงานระบุว่า ผลลัพธ์ GDP รายไตรมาสที่อ่อนแอเกินคาดจะทำให้หนทางข้างหน้าของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เต็มไปด้วยเมฆหมอกมากขึ้น และมีความซับซ้อนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งแต่เดิมบรรดานักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักเห็นว่า BOJ มีโอกาสที่จะเริ่มหั่นดอกเบี้ยช่วงเดือนเมษายน
ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ BOJ ได้ให้น้ำหนักกับการอภิปรายเกี่ยวกับการออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์ และสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่รุนแรงใดๆ
กระนั้นข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (15 กุมภาพันธ์) กลับเน้นย้ำถึงน้ำหนักความสำคัญในการคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไป รวมถึงสะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบางเพราะพึ่งพาดีมานด์จากภายนอกเป็นหลัก โดยแม้จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากการส่งออกสุทธิของญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาที่กระเตื้องเพียง 0.2% ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่พอจะฝากความหวังไว้ได้ก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งญี่ปุ่นเพิ่งจะสร้างสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภายในญี่ปุ่นยังคงมีภาวะเปราะบาง เนื่องจากเงินเฟ้อญี่ปุ่นขณะนี้ทำให้การใช้จ่ายลดลง ขณะที่การบริโภคในภาคเอกชนลดลง 0.2% เนื่องจากครัวเรือนต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้หันมาคุมเข้มเรื่องการใช้จ่าย ขณะที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนกลับลดลง 2.5% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามหลังอัตราเงินเฟ้อ
คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวกับรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า นโยบายการเงินของประเทศจะยังคงผ่อนคลายต่อไปในขณะนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยติดลบจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
อ้างอิง: