จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลการประกาศเตือนจากสมาพันธ์นักบินนานาชาติ เรื่อง ความปลอดภัยการใช้งานทางขับและทางขับเคลื่อนเข้าหลุมจอดอากาศยาน (Taxiway and Taxilane) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีสภาพพื้นผิวอ่อนและเป็นปัญหามายาวนานตั้งแต่ปี 2551
ล่าสุด บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดย พันตรี กมล วงศ์สมบุญ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชี้แจงว่าที่ผ่านมา ทอท. ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นผิว Taxiway และ Taxilane อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีแผนดำเนินงานแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสภาพพื้นผิวทางวิ่ง (Runway) ทางขับ (Taxiway) และลานจอดอากาศยานให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และหากได้รับแจ้งหรือตรวจพบความชำรุดบกพร่องจะทำการปิดพื้นที่เพื่อซ่อมแซมพื้นผิวอย่างเร่งด่วนในทันที
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะกลางจะมีการซ่อมแซมพื้นผิวโดยเปลี่ยนชั้นวัสดุแอสฟัลต์เดิมเป็นวัสดุแอสฟัลต์ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยในปี 2560-2561 ได้ดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ทางขับ G และ C และทางขับเข้าสู่หลุมจอด T8 และ T12 ไปแล้ว และหากตรวจพบพื้นที่ชำรุดเสียหายจะดำเนินการปิดพื้นที่และเร่งดำเนินการซ่อมแซมพื้นผิวให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสารและอากาศยาน
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการออกแบบการก่อสร้างซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานด้วยวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต ซึ่งเมื่อออกแบบแล้วเสร็จจะเปิดประมูลหาบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องผิวทางอย่างถาวร
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการทดลองติดตั้งระบบระบายน้ำใต้ดิน (Subdrain) ในการซ่อมพื้นที่ที่มีปัญหา พบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้งานด้วยดี และจะขยายการติดตั้งระบบดังกล่าวในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาต่อไป และจากการดำเนินงานในระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System) ซึ่งมีการเก็บสถิติการแตกของพื้นผิวและการแก้ไขโดยการปิดพื้นที่ซ่อมฉุกเฉิน พบว่าสถิติการตรวจพบพื้นผิวแตกมีแนวโน้มลดลง การปิดซ่อมฉุกเฉินลดลง และในปัจจุบันยังตรวจไม่พบเหตุการณ์อากาศยานโดน FOD จากพื้นผิวที่แตกร่อน แต่การปิดซ่อมพื้นที่อาจส่งผลต่อความคับคั่งด้านการจราจรของอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัยของการใช้งานทางวิ่งและทางขับ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาคุณภาพผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อรายงานและประเมินสถานการณ์ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้วย