×

จากนอกสภาสู่ในสภา ‘รัฐ-ฝ่ายค้าน’ ถกญัตติขบวนเสด็จฯ หวังสังคมคลี่คลาย

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2024
  • LOADING...
ญัตติขบวนเสด็จ

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ในการอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจา ที่เสนอโดย อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขอใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 50 เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือความจำเป็นรีบด่วนในการรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ

 

โดยมี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส. บัญชีรายชื่อ เป็นผู้เสนอเหตุผลให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ให้มีความเหมาะสมและทันสมัย รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ โดยมีสมาชิก สส. ยกมือรับรองมากกว่า 50 คน

 

ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ประธานการประชุม ได้เน้นย้ำสมาชิกให้ปฏิบัติตามข้อบังคับข้อที่ 69 ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือวาจาที่ไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวชื่อสมาชิกหรือบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น 

 

THE STANDARD รวบรวมการอภิปรายของเหล่าผู้แทนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ถึงความเห็นที่มีต่อมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

 

‘เอกนัฏ’ ลั่น โกรธถึงขีดสุด หวั่นกลายเป็นแฟชั่นบั่นทอนสถาบันฯ 

 

เอกนัฏลุกขึ้นอภิปรายเหตุผลสนับสนุนเป็นคนแรก ว่าเหตุผลที่ตนได้เสนอญัตติด่วนในวันนี้ เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีการเผยแพร่บนพื้นที่สื่ออย่างกว้างขวางในการรบกวนก่อกวนขบวนเสด็จฯ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนำไปสู่ความวุ่นวาย และกลายเป็นค่านิยมหรือแฟชั่นที่ไปบั่นทอนสถาบันฯ 

 

เอกนัฏกล่าวว่า ขบวนเสด็จฯ เป็นขบวนที่สั้นมาก เห็นได้ชัดว่าระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อการสัญจรของประชาชน และไม่ปิดถนน แต่ปรากฏว่ามีรถยนต์ของผู้ก่อเหตุวิ่งมาด้วยความเร็ว พยายามวิ่งไล่ขบวนเสด็จฯ 

 

“ผมรู้สึกโกรธครับ โกรธมาก ว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ แต่เชื่อหรือไม่ ในขณะที่ผมรู้สึกโกรธจนจะถึงขีดสุด กระทั่งจะเกิดเป็นความรังเกียจกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มีประโยคหนึ่งที่แว่วมาบันดาลใจให้ลดโทสะลง คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสไว้ว่า Thailand is the land of compromise (ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม) We love them all the same หลังจากสื่อต่างชาติยื่นไมค์จ่อพระโอษฐ์ในช่วงเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่มีการรบกวนขบวนเสด็จฯ เมื่อปลายปี 2563 ท่านมีพระราชดำรัสตรัสไว้ชัดเจน ทำให้ตนดึงสติลดลงมาจากความโกรธ” เอกนัฏระบุ

 

เอกนัฏระบุว่า ตนรอมาเกือบ 1 สัปดาห์ จนกระทั่งมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผู้ก่อเหตุยังเหิมเกริม ไปทำโพลที่ BTS สถานีสยาม จนทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะ เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และหากเราปล่อยปละละเลยในที่สุดสถานการณ์จะเริ่มมีการประท้วงปะทะกันในหมู่ประชาชน อาจปะทุไปถึงระดับประเทศ จึงขอได้ใช้หน้าที่ สส. ในการเปิดพื้นที่ตรงนี้เพื่อส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับปรุงใน 3 แนวทาง คือ 

 

  1. บังคับใช้กฎหมายในทันที ยืนยันว่าไม่ใช่การล่าแม่มด แต่เพื่อความสะดวกเรียบร้อย 
  2. เป็นโอกาสที่ดีที่จะหาข้อสรุปทบทวนระเบียบ มาตรการต่างๆ และแผนการอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ อัปเดตไปตามกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป และผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาช้าไป 
  3. ประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน 

 

‘จุรินทร์’ รับไม่ได้ การกระทำมิบังควร ย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจประชาชน 

 

ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมเสนอญัตติ ระบุว่า ตนเองและ ปชป. มีจุดยืนชัดเจนในการให้ความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จฯ จึงเป็นเหตุที่ตนเองและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา 

 

จุรินทร์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของญัตติมี 2 ประการ คือ

 

  1. ประสงค์ให้ สส. ได้มีมติให้ส่งความเห็นของสภาเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ
  2. ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรรับไปประกอบการพิจารณาด้วย

 

ทั้งนี้ตนมีความเห็นต่อพฤติกรรมคุกคามขบวนเสด็จฯ 3 ข้อ คือ

 

  1. เป็นการกระทำอันไม่บังควรเกิน ย่ำยีพระผู้เป็นดวงใจของประชาชน
  2. ขบวนเสด็จฯ ไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร
  3. สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด 

 

จุรินทร์ระบุด้วยว่า รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ามีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนอกจากส่วนราชการในพระองค์ ตามมาตรา 6 ที่ระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย 

 

“ผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องยอมรับว่า ท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากเกิดเหตุ 7-8 วัน นายกรัฐมนตรีจึงเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ” จุรินทร์กล่าว

 

พร้อมเสนอ 4 ข้อให้สภาได้พิจารณาคือ

 

  1. รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมาย และเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
  2. รัฐบาลต้องยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดไม่ว่ากับฝ่ายใด
  3. ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ และส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้น
  4. รัฐบาลควรพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าสมควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะการเพิ่มบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิด

 

‘สส. ปูอัด’ ขออย่าเพิ่งตัดสิน ‘ตะวัน’ 

 

จากนั้น ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม.พรรคไทยก้าวหน้า อภิปรายระบุว่า ในพื้นที่ กทม. มีการปรับตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจร มีการเปิดช่องทางพิเศษให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีการเตรียมเคลียร์ถนนก่อนขบวนเสด็จฯ ล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ซึ่งตนมองว่ามากเกินไป จึงขอเสนอ 3 แนวทางในการลดผลกระทบการปิดการจราจรคือ

 

  1. ให้ปิดเฉพาะช่องทางเสด็จ และเปิดช่องทางอื่นให้ประชาชนสัญจร
  2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเพื่อประชาชนจะได้หลีกเลี่ยงเส้นทาง
  3. ควรจะมีหน่วยงานเป็นเจ้าภาพช่วยเหลือเยียวยาจากการปิดการจราจร 

 

ไชยามพวานยังระบุถึงกรณี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ว่า ขออย่าเพิ่งตัดสินในตัวน้อง จนกว่าจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ถ้าถึงจุดที่ทราบแล้วก็แล้วแต่ดุลพินิจของกระบวนการยุติธรรม

 

‘วิโรจน์’ ไม่เห็นด้วยปมความรุนแรง  

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกอภิปรายว่า การรบกวนมาตรการการอารักขาขบวนเสด็จฯ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนัก คือการพยายามทำให้การอารักขาส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด 

 

“คุณปิดปากประชาชนให้พูดไม่ได้ คุณบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ดังนั้น การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด คนที่ต้องทำหน้าที่นั้นก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะมาตรา 5 ควรจะเพิ่มเติมให้การปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัยให้คำนึงถึงประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินควร” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันฯ ที่สุด หากรัฐปล่อยให้บุคคลที่นิยมความรุนแรงทำร้ายคนที่คิดต่างโดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดในระยะยาว มีแต่จะทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียพระเกียรติ และรัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ไม่ใช่แค่ในสภา แต่หมายถึงเวทีสาธารณะทั่วไป เพราะปัจจุบันวงสนทนาสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังกลายเป็นเรื่องต้องห้าม พร้อมทำท่าจุ๊ปาก ห้ามพูด และกล่าวต่อว่า หากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งห่างเหินจากประชาชน 

 

‘โรม’ ขอทุกคนตั้งสติอย่าทำให้หวาดกลัวเกินเหตุ

 

ด้าน รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า ขอให้ทุกคนมีสติ อย่าสร้างสถานการณ์ให้น่าหวาดกลัวเกินความเป็นจริง หากจะมีการแก้ไขกฎหมายต้องใช้อย่างโปร่งใสและสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มิฉะนั้นจะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ 

 

‘พนิดา’ ป้อง ‘ตะวัน’ ห่วงขบวนการขู่ฆ่า  

 

พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายระบุว่า หากจะพิจารณาเรื่องการถวายความปลอดภัย ต้องมองมากกว่าเรื่องการอารักขาขบวนเสด็จ จึงอยากจะชวนเพื่อนสมาชิกและสังคมไทยทบทวนประเด็นนี้ผ่านเรื่องราวของตะวัน

 

“ไม่ได้ตัดสินว่าตะวันเหมาะสมหรือไม่ ถูกผิดอย่างไร แต่อยากชวนคิดตาม แล้วฝากข้อสังเกตนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี ถึงคำถามสำคัญที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบร่วมกัน ว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” พนิดากล่าว

 

พนิดากล่าวต่อว่า แรกเริ่มหลายคนเห็นชื่อตะวันตั้งแต่ปี 2564 จากกรณีที่ตำรวจถีบรถมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมล้ม จากนั้นตะวันก็ได้ปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้ง โดยการถือกระดาษสอบถามความคิดเห็นผู้คนตามที่สาธารณะ ประเด็นหลักของตะวันคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สันติวิธีที่เขาเลือกกลับทำให้ตะวันถูกจับไปถึง 5 ครั้ง 

 

จากไทม์ไลน์ที่ตนเล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่าการต่อสู้ของตะวันตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้มีท่าทีที่เปลี่ยนไป เกิดจากการปิดกั้นการแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ที่หากเยาวชนคนนี้ยังไม่หยุดดื้อรั้นก็จะต้องกำราบปราบปรามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอม ตนอยากชวนให้ทุกคนมองถึงแก่นของเหตุการณ์นี้ ว่านี่คือผลลัพธ์ของการปิดกั้นการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำของประเทศในการบริหารความสัมพันธ์ของประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

สิ่งที่ตนกังวลที่สุดคือ ‘ขบวนการเก็บตะวัน’ ที่มีการขู่ฆ่าอย่างเปิดเผย นี่เป็นโจทย์เร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไข ตนเชื่อว่าเราคงไม่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เงียบเชียบ ไม่กล้าพูดแสดงความเห็น ออกมาพูดก็ถูกจับกุมคุมขัง เจอกับนิติสงคราม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำให้ตาย ทั้งนี้หากการลดช่องว่างความไม่เข้าใจกันก็ทำให้สังคมนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น พูดคุยกับเถียงกันได้มากขึ้น ตนคิดว่าตอนนี้ยังไม่สายเกินไป

 

‘ชัยธวัช’ เสนอรัฐบาลสร้างกุศโลบายทางการเมือง และหยุดการกล่าวหาอีกฝ่าย

 

ชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายว่า การรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากลที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นตรงกัน ซึ่งขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเหมาะสมแล้ว ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร ซึ่งการพิจารณาไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น

 

ชัยธวัชยังกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมมาวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ที่เสด็จไปด้วยระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จฯ และเกิดการลอบวางระเบิดในที่ประทับของพระองค์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น

 

ชัยธวัชระบุว่า เราทราบกันดีว่าไม่ใช่ปัญหาการเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งเราเรียนรู้ได้จากกรณีของตะวัน 

 

“เราปิดปากเขา สุดท้ายเขาเลยเลือกที่จะตะโกน นี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกันผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกนอยู่ ด้วยความเคารพผม คิดว่าคนที่กำลังตะโกนก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้น การตะโกนยิ่งทำให้ไม่มีใครฟังอาจเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชยังเสนอให้รัฐบาลสร้างกุศโลบายทางการเมือง และหยุดการกล่าวหาอีกฝ่ายว่าหนักแผ่นดิน หรือนิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้น หรือไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น หรือนำความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน เพราะสุดท้าย ต่อให้ใช้กำลังหรือการใช้อาวุธก็ไม่ใช่ทางออก ดังนั้นจึงควรจบปัญหาที่เกิดขึ้นทางการเมืองนี้ด้วยการนิรโทษกรรม และหวังว่ารัฐบาลและ สส. จะมีสติ ระงับความโกรธ เช่นเดียวกับที่เอกนัฏจัดการอารมณ์ไม่ให้บานปลายจนเกิดการปะทะขัดแย้ง

 

‘ชาดา’ เผยมีขบวนการหนุนม็อบเด็ก 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ใช้สิทธิพาดพิงอภิปรายว่า ถ้าขบวนการต่างๆ เกิดขึ้นจากเด็ก จากความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติก็เป็นอีกเรื่อง แต่ปัญหาคือมีผู้อยู่เบื้องหลัง มีการมอบเงินสนับสนุนให้เด็ก มีกลุ่มต่างชาติไปประกันตัว และกดดันเจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจ ทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น 

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เกิดการปะทุของคนไทยและเป็นที่มาของญัตติในวันนี้ ทั้งที่ประเทศไทยไม่เคยเกิดปัญหาเหล่านี้ แต่เป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะเข้ามาข้องแวะและสร้างความเสื่อมให้กับสถาบันฯ ทั้งที่คนไทยทุกคนยอมรับได้กับขบวนเสด็จฯ เนื่องจากทราบว่าเป็นการทำพระราชกรณียกิจ เสด็จฯ ไปเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เป็นความรู้สึกที่คนไทยทุกคนยอมรับ และมีมานานหลายร้อยปี แต่ตนเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่หวังดีจากคนนอกประเทศหรือคนกลุ่มหนึ่ง 

 

ชาดากล่าวว่า คนไทยจะต้องตระหนักว่าใครอยู่เบื้องหลังเด็กเหล่านี้ ทำอย่างนี้เพื่ออะไร หากจะพูดเรื่องนี้ต้องพูดกันยาวซึ่งเชื่อว่า ถ้ามีจิตที่บริสุทธิ์ต่อประเทศนี้ก็มีพื้นที่ที่จะคุยกัน การจะพูดอะไรต้องจริงใจ พูดและกระทำต้องไปในทิศทางเดียวกัน อย่าพูดอย่างทำอย่าง 

 

จากนั้นชาดาได้โชว์เอกสาร พร้อมกล่าวว่า ไม่อยากจะพูดว่ามีหลักฐานเอกสารในมือว่าใครสนับสนุนเงินทองบ้าง

 

มีหลักฐาน ผู้ช่วย สส. ส่งเงินหนุน

 

ภายหลังปิดญัตติขบวนเสด็จฯ เสร็จสิ้นแล้ว พรรคก้าวไกลยังใช้สิทธิหารือเรื่องของการส่งญัตตินี้ไปคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อ เนื่องจากมีเฮตสปีช (Hate Speech) จำนวนมาก และมีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสีบุคคลภายนอกโดยที่เขาไม่ได้มีโอกาสชี้แจง และยังพูดถึงว่ามีขบวนการสนับสนุนการเงินอยู่เบื้องหลังกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว ดังนั้นหากจะส่งก็ควรจะขอหลักฐานจากผู้อภิปรายประกอบไปด้วย และจะได้ยืนยันว่าสิ่งที่ท่านพูดไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสีหรือกล่าวหาลอยๆ

 

จากนั้นชาดาจึงลุกขึ้นประท้วง ยืนยันว่ามีหลักฐานอยู่ในมือแล้วแต่ไม่อยากสร้างความขัดแย้ง ที่ผ่านมาท่านเริ่มก่อนนะ มีหลักฐานแต่ยังจับไม่ได้ ถ้าจับได้เขาดำเนินคดีแน่นอน และถ้าถามว่าใครอยากรู้จะบอกให้ว่าเป็นผู้ช่วย สส. ท่านใดที่ส่งเงินให้กับขบวนการพวกนี้ ตนจึงบอกว่าอย่านำตนเข้าไปสู่วงจรให้องค์ประกอบมันครบ คนอย่างตนถ้าไม่ใช่ความจริงไม่พูด และสิ่งที่สำคัญ ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน 

 

ระหว่างนั้น รักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ว่าอยากให้ชาดาแจ้งว่า ลุกขึ้นพูดตามข้อบังคับใด ทำให้เหตุการณ์ในห้องประชุมเริ่มตึงเครียด รักชนกที่นั่งอยู่บริเวณโซนด้านหน้าพรรคก้าวไกลได้ลุกขึ้นเดินมาหาชาดาที่อยู่บริเวณด้านหลังที่นั่งพรรคภูมิใจไทย พูดคุยสักพัก ก่อนที่ชาดาจะเดินตรงไปหารังสิมันต์ และคุยกันด้วยท่าทางอย่างมีอารมณ์นานกว่า 3 นาที

 

ส่งไม้ต่อ ครม. ปรับปรุงมาตรฐานถวายความปลอดภัย

 

ก่อนที่ที่ประชุมสภาจะมีมติส่งรายงานการประชุมเรื่องญัตติด่วนนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการถวายความปลอดภัยให้มีความเข้มงวดมากขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันยังส่งความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำไปพิจารณาประกอบการตราพระราชบัญญัติด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X