×

หนี้ครัวเรือนไทยจ่อโตแซง GDP

14.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หนี้ครัวเรือนไทยจ่อโตแซงหน้า GDP ในปี 2566 โดยตามข้อมูลของเครดิตบูโรแสดงให้เห็นว่า ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ที่คาดว่าจะอยู่ไม่ถึง 2%
  • ห่วงหนี้รถยนต์ หลังยอดหนี้เสีย (NPL) ในสินเชื่อประเภทดังกล่าวพุ่ง 28% ในปี 2566
  • จับตาสินเชื่อบ้าน หลังยอด SM พุ่ง 31% เริ่มออกอาการคล้ายกับสินเชื่อรถยนต์เมื่อหลายปีที่แล้ว
  • ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปีนี้ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อ GDP
  • ระบุ ลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระลูกหนี้ลงได้ และไม่ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยแย่ลง เนื่องจากมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนเข้มงวดขึ้น

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ยอดสินเชื่อครัวเรือนคงค้างทั้งหมด (Loan Outstanding) จากฐานข้อมูลของเครดิตบูโรในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 13.68 ล้านล้านบาท (จาก 84.3 บัญชี) เพิ่มขึ้นถึง 3.7% YoY โดยการขยายตัวระดับดังกล่าวคาดว่าจะสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีเดียวกัน

 

โดยตามประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.8% เท่านั้น

 

สำหรับหนี้เสีย (NPL) บุคคลธรรมดา จากฐานข้อมูลเครดิตบูโร ณ เดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% YoY โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็น 2.6 แสนล้านบาท รองลงมาคือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท

 

ขณะที่หนี้รอเน่า หรือ Special Mention (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ในปี 2566 อยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 17.8%YoY โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้รถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท รองลงมาคือหนี้ที่อยู่อาศัยที่ 1.78 แสนล้านบาท

 

 

หนี้ครัวเรือนไทย ‘อันตราย-ฉุดรั้งเศรษฐกิจ’

 

สุรพลยังมองด้วยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ 90% ต่อ GDP ถือเป็นระดับอันตราย เนื่องจากระดับมาตรฐานสากลหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ไม่เกิน 80% ของ GDP นอกจากนี้ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower Middle Income Countries)

 

นอกจากนี้ระดับหนี้ครัวเรือนที่ 90% ต่อ GDP ยังถือเป็นระดับที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สินระดับนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปค่อนข้างยาก

 

“ถ้าเศรษฐกิจยังโตช้า ไทยอาจจะต้องอยู่กับปัญหานี้นานกว่าที่เราหวังไว้” สุรพลกล่าว

 

สัดส่วน NPL พุ่ง 3 ไตรมาสติด สินเชื่อรถยนต์ฝีแตก ต้องการการเยียวยา

 

เมื่อเจาะเป็นรายกลุ่มหนี้พบว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน จากระดับ 6.0% ในไตรมาส 1/66 เป็น 7.3% ในไตรมาสที่ 2-3 ก่อนจะเพิ่มเป็น 7.6% ในไตรมาสที่ 4/66

 

โดยกลุ่มสินเชื่อที่น่ากังวลที่สุดในกลุ่ม NPL คือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% ของ NPL ทั้งหมด และเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) พบว่า มูลหนี้เสียในสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 28%

 

สุรพลระบุว่า ความน่ากังวลของกลุ่มหนี้ NPL อยู่ที่รถยนต์ เนื่องจากหนี้เสียในสินเชื่อรถยนต์เร่งตัวขึ้นเร็วมากโดยเพิ่มถึง 28%YoY และนำไปสู่การยึดรถ การนำรถไปคืน และการนำรถเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น

 

โดยภาวะเช่นนี้ยังทำให้ราคารถมือสองตกลง ทำให้แบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ขาดทุนยามนำรถไปขาย (Loss on Sale) ท่ามกลางการดิสรัปต์ของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทำให้ราคารถยนต์สันดาปร่วงลงไปอยู่แล้ว ทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่อรถยนต์ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

สินเชื่อบ้านอาการเริ่มออก คล้ายกับสินเชื่อรถยนต์

 

สำหรับสถานการณ์หนี้ในกลุ่ม SM ก็ไม่ได้ดีไปกว่า NPL เนื่องจากสัดส่วนหนี้ SM กลับมาเร่งตัวขึ้นในไตรมาสท้ายๆ ของปี จากระดับ 3.5% ในไตรมาสที่ 2/66 เป็น 3.6% ในไตรมาสที่ 3/66 และแตะ 4.5% ในไตรมาสที่ 4/66

 

สุรพลกล่าวว่า หนี้กลุ่ม SM จำนวน 6.1 แสนล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2566 เป็นสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%YoY โดยจำนวนนี้ยังเป็นสัญญาสินเชื่อบ้านมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้าน – 1.2 แสนล้านบาท

 

“อัตราการเติบโตของหนี้บ้านกลุ่ม SM ที่สูงถึง 31% หมายความว่า คนเริ่มผ่อนบ้านไม่ค่อยไหว เห็นได้จากคนที่กู้ซื้อบ้านมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำและเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนว่า สินเชื่อบ้านอาการเริ่มออก คล้ายกับปัญหาสินเชื่อรถยนต์เมื่อหลายปีที่แล้ว”

 

 

คาดหนี้ครัวเรือนปี 2567 ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อ GDP

 

สุรพลประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อ GDP แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นได้หากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เอื้ออำนวย

 

“หากเกิดการลดดอกเบี้ยในปลายปี นักท่องเที่ยวกลับมา ไม่มีสงครามเพิ่มขึ้น ราคาพลังงานพอไปได้ จีนไม่ทุ่มสต็อกออกมาขาย ไทยพอส่งออกไปได้ คนมีโบนัสในปี 2567 เอามาโปะหนี้ได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอาจจะดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก ทั้งจากภาคการผลิตที่เป็นแหล่งจ้างงานรายใหญ่ของไทย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานที่จะส่งผลต่อค่าครองชีพ” สุรพลกล่าว

 

สุรพลยังเชื่อว่า หากการเติบโตของ GDP สูงกว่าการเติบโตของหนี้ต่อเนื่อง เช่น GDP โต 4% หนี้ครัวเรือนโตแค่ 2% โอกาสเห็นสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะมีโอกาสไปถึง 80% ‘ง่ายขึ้น’

 

เชื่อลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระลูกหนี้ได้ โดยไม่ทำให้ปัญหาหนี้หนักขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันมาตลอดว่า การคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบราว 10 ปี ส่วนหนึ่งทำเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินและกระบวนการสะสางหนี้ (Deleveraging) กล่าวคือ เป็นการลดความต้องการสินเชื่อใหม่ของลูกหนี้ในอีกทางหนึ่ง

 

โดยสุรพลกลับมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการช่วยลดภาระของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยดีขึ้น เนื่องจากการลดดอกเบี้ยทำให้ยอดผ่อนลดลง และภาระหนี้ของลูกหนี้ก็เบาขึ้น

 

พร้อมทั้งมองว่า การลดดอกเบี้ยไม่น่าจะทำให้การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินง่ายขึ้น เนื่องจากในปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเร่งปรับโครงสร้างหนี้ผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์ ‘2 ต้อง และ 1 ห้าม’

 

ซึ่งสุรพลมองว่า เป็นมาตรการที่จะกดดันเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินให้ปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง ปล่อยกู้แล้วต้องตามไปดูแลลูกหนี้ ไม่ใช่ปล่อยกู้แล้วรอแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียว

 

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ 2 ต้อง และ 1 ห้าม มีรายละเอียดดังนี้ 

 

โดยต้องที่ 1 คือ ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย 1 ครั้ง และต้องที่ 2 คือ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เมื่อเป็นหนี้เสียอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสในการแก้หนี้ต่อเนื่อง ขณะที่ 1 ห้าม คือ ห้ามขายหนี้เสียของลูกหนี้ออกไปบริหารที่อื่น (AMC) โดยยังไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้เป็นการภายในก่อน

 

นอกจากนี้ในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหลายฉบับยังชี้ให้เห็นว่า ความเข้มงวดในการปล่อยกู้ปัจจุบันไม่ได้ง่าย มีอัตราปฏิเสธ (Reject Rate) สูงขึ้น

 

หนี้ไทยปัจจุบัน ‘ต่างจาก’ ยุคต้มยำกุ้ง ต้องการความเมตตามากขึ้น

 

สุรพลยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ปรากฏการณ์หนี้ปัจจุบันไม่เหมือนกับปี 2540 ที่เปรียบได้กับดาวหางพุ่งชนโลกที่ไดโนเสาร์หรือบริษัทใหญ่เป็นกลุ่มที่ตายก่อน แต่ปัญหาปัจจุบันเป็นเหมือนไฟลามป่า เป็นโรคระบาดที่ทำให้หญ้าแพรกตายหมด จึงจำเป็นต้องมีฝน เพื่อให้หญ้าค่อยๆ งอกขึ้นมาใหม่ 

 

“สิ่งที่ไทยกำลังเจอคือฝนทิ้งช่วง มีทั้งรบกัน ของแพง ฝนไม่มาตามนัด เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ ต้องการความเมตตามากกว่านี้ นโยบายที่ทำต้องคำนึงว่าทำกับชีวิตคน ไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิตเหมือนในอดีต” สุรพลกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X