×

เลือกตั้งอินโดนีเซีย: กันจาร์ ปราโนโว ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล ชูนโยบายสานต่อ โจโก วิโดโด แต่คะแนนนิยมเป็นรองคู่แข่ง

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2024
  • LOADING...
Ganjar Pranowo

กันจาร์ ปราโนโว เป็นอีกหนึ่งแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่หวังเร่งสปีดทำคะแนนคืนในช่วงโค้งสุดท้าย หลังคะแนนนิยมยังตามหลังผู้สมัครอีก 2 คนในโพลสำรวจก่อนเลือกตั้ง

 

เขาเป็นใครมาจากไหน บทความนี้จะพาไปรู้จักเขาให้มากยิ่งขึ้น

 

กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียจากพรรครัฐบาล (Indonesian Democratic Party of Struggle / PDI-P) เขาสูญเสียความนิยมไปในปีที่ผ่านมา เมื่อผู้สนับสนุนย้ายข้างไปเชียร์คู่แข่งอย่าง ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ที่แซงขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่งแทน

 

“เราจะนำประเทศภายใต้การบริหารที่สะอาด และเราจะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งไม่ใช่แค่คำสัญญา แต่เราถือเป็นพันธสัญญา” กันจาร์กล่าวระหว่างการดีเบตของบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม

 

กันจาร์ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ประธานาธิบดีของประชาชน’ ยังกล่าวถึงโครงการประชานิยมเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเขาสัญญาว่า ทุกหมู่บ้านในอินโดนีเซียจะต้องมีคลินิกอย่างน้อย 1 แห่ง เด็กอย่างน้อย 1 คนในทุกครัวเรือนจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย จะให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับนักเรียน-นักศึกษา และปรับปรุงสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย

 

จากเต็งหนึ่งสู่เต็งบ๊วย 

 

อะไรที่ทำให้ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่ง ถูกจับตาว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แดนอิเหนา กลับกลายมาเป็นรองด้วยคะแนนนิยมที่ตกลงไปอยู่ท้ายสุดในบรรดาแคนดิเดต 3 คน 

 

ก่อนหน้านี้ กันจาร์ วัย 55 ปี ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ความนิยมของเขาได้รับแรงหนุนจากการที่เขาขยันปรากฏตัวตามสื่อโซเชียล โดยเขามักจะตอบโพสต์ผู้ติดตามโดยตรง โดยเฉพาะข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะในจังหวัดชวากลาง

 

แต่ความนิยมของเขาเริ่มลดลงเมื่อต้นปี 2023 หลังจากที่เขาแสดงความเห็นคัดค้านการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก U20 ของทีมชาติอิสราเอล โดยแต่เดิมนั้น สนามกีฬามานาฮานในเมืองสุราการ์ตาของจังหวัดชวากลางจะเป็นสถานที่สำหรับพิธีเปิดและปิด อย่างไรก็ดี การต่อต้านทีมอิสราเอลในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกทำให้อินโดนีเซียถูกถอดจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับแฟนฟุตบอลในประเทศเป็นอย่างมาก

 

หลังจากนั้น คะแนนนิยมของกันจาร์ก็ตกลงมาเท่ากับรัฐมนตรีกลาโหม ปราโบโว ซูเบียนโต โดยทั้งกันจาร์และปราโบโวต่างให้คำมั่นว่าจะสานต่อนโยบายหลักๆ ของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งกำลังจะครบวาระดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนนิยมที่ยังสูงถึง 70-80% 

 

ความนิยมของกันจาร์ลดลงอีกจนกลายเป็นรองปราโบโว หลังจากที่ปราโบโวเสนอชื่อ ยิบราน รากาบูมิง นายกเทศมนตรีสุราการ์ตา ซึ่งเป็นบุตรชายของโจโกวีเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี 

 

“มีการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้สนับสนุนโจโกวีที่ตอนแรกจะโหวตให้กันจาร์ พวกเขาย้ายไปเป็นผู้สนับสนุนปราโบโวแทน” บูร์ฮานุดดีน มูห์ตาดี กรรมการบริหารของสำนักโพล Indikator Politik Indonesia กล่าว ผลการสำรวจเมื่อเดือนมกราคมพบว่า ปราโบโวมีคะแนนนำอยู่ที่ 48.55% ตามมาด้วย อานีส บาสวีดัน อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตาที่ 24.17% และกันจาร์กลายเป็นที่โหล่ ด้วยคะแนนรั้งท้าย 21.6%

 

แม้โจโกวียังไม่ได้ประกาศสนับสนุนผู้สมัครคนใดอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ของโจโกวีกับกันจาร์ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งจากพรรครัฐบาลจะไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหาเสียงของกันจาร์ 

 

และแม้กันจาร์ยังคงประกาศสนับสนุนนโยบายสำคัญๆ ของโจโกวี เช่น การย้ายเมืองหลวงของประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

 

“ประชาชนรู้สึกสับสน เนื่องจากกันจาร์ประกาศว่าจะสานต่อและปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนกับแนวทางหาเสียงของปราโบโว แต่ปราโบโวมีภาษีดีกว่า เพราะได้ลูกชายของโจโกวีมาช่วยหนุนคะแนนนิยม ในฐานะคู่ชิงรองประธานาธิบดี” โยเอส ซี. เคนาวัส นักวิจัยจาก Atma Jaya Catholic University ในอินโดนีเซีย กล่าวกับ Nikkei Asia

 

เขาเสริมว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง กันจาร์อาจแสดงการต่อต้านโจโกวีชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ โมฮัมหมัด มาห์ฟุด คู่ชิงรองประธานาธิบดีของกันจาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง ในคณะรัฐมนตรีของโจโกวี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

วัยเด็กยากจน

 

กันจาร์เกิดที่ชวากลางในปี 1968 เขาเป็นบุตรชายของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน กันจาร์ระบุในชีวประวัติของตนเองว่า ครอบครัวของเขาประสบปัญหาทางการเงินจนถึงจุดที่ต้องจำนองที่ดินกับธนาคารเพื่อนำเงินมาเป็นค่าเล่าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Gadjah Mada University (UGM) ซึ่งโจโกวีเองก็เป็นศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้

 

สิถี อาติโกห์ ภรรยาของเขา ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวนักการศาสนา โดยปู่ของเธอเป็นบุคคลสำคัญของกลุ่ม Nahdlatul Ulama (NU) ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ขณะที่ มูฮัมหมัด ซีเนดีน อาลัม กันจาร์ ลูกชายของกันจาร์ มีบทบาทอย่างมากในการหาเสียงของบิดา และกลายเป็นที่รู้จักจากการปรากฏตัวตามที่สาธารณะ รวมถึงบนโซเชียลมีเดีย 

 

เส้นทางการเมือง

 

เรียกได้ว่ากันจาร์เป็นลูกหม้อของพรรค PDI-P เพราะเขาเริ่มต้นอาชีพนักการเมืองกับพรรค และเป็น สส. ของพรรคมาตั้งแต่ปี 2004-2013 ก่อนชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลางในปี 2013 และอีกสมัยในปี 2018 จนกระทั่งหมดวาระในปีที่แล้ว 

 

กันจาร์ประกาศเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่จะทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตสูงถึง 7% ต่อปี ซึ่งเป็นคำสัญญาที่โจโกวีเคยประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2014 แต่ไม่สามารถทำได้

 

โดยกันจาร์ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยการวิจัยเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม

 

“เราจะเพิ่มอัตราส่วนเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในอินโดนีเซียเป็น 1% ของ GDP” เขาประกาศกับผู้เข้าร่วมงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว

 

ในระหว่างที่เป็นผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง กันจาร์ถูกวิจารณ์ว่าละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เขาอนุมัติให้ Semen Indonesia บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของรัฐ สร้างโรงงานในย่าน Rembang Regency การก่อสร้างเผชิญกับการประท้วงอย่างรุนแรงจากเกษตรกรในท้องถิ่นและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงการดังกล่าวส่งผลเสียต่อแหล่งน้ำและเกษตรกรรมในท้องถิ่น ขณะที่กันจาร์ชี้แจงว่า เขาเพียงปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนงานของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น 

 

หวังลุ้นเลือกตั้งรอบ 2

 

ทั้งนี้ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเสียงข้างมาก (เกินกึ่งหนึ่ง) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกจะต้องไปตัดเชือกกันในการเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งทีมหาเสียงและผู้สนับสนุนของกันจาร์ยังเชื่อว่ากันจาร์จะไปถึงจุดนั้นได้

 

“เรามองในแง่ดีว่า กันจาร์และมาห์ฟุดจะทำได้” ปันเงรัน เซียฮาน โฆษกทีมหาเสียงของกันจาร์และมาห์ฟุดกล่าว

 

ภาพ: Yasuyoshi CHIBA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising