กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ป.ป.ส. แจงกฎกระทรวงยาบ้า 5 เม็ด ขีดเส้นใต้ ‘เสพ-ครอบครอง’ ผิดหมด
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมกันแถลงข่าวมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยใช้เวลาในการแถลงกว่า 1 ชั่วโมง
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของกฎกระทรวงฉบับนี้และนำไปสื่อสารในทางที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาพใหญ่หรือสังคมโดยรวม ในการที่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็น Quick Win จะต้องงดยาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี พร้อมเน้นย้ำถึงนโยบายรัฐบาล 3 ป. ได้แก่
- ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง จุดแตกหักชัยชนะของยาเสพติดอยู่ที่ชุมชน จึงใช้มาตรการนี้รองรับ ให้ชุมชนเป็นฐานในการฟื้นฟูยาเสพติด
- เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เป็นการให้โอกาสกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดที่ไม่มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการบำบัดฟื้นฟูทั้งมิติการแพทย์และสังคม โดยการจะนำเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูได้ต้องมีความชัดเจนว่าเขาเป็นผู้เสพหรือไม่
- การปราบผู้ค้าผู้ที่เกี่ยวข้อง โทษหนักยึดทรัพย์ กำจัดข้าราชการที่ทำผิดโดยถอนรากถอนโคน
นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำอีกว่า คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมดถือว่ามีความผิดทั้งหมด ต้องรับโทษ ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมยาเสพติด แต่เป็นการเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ใช้มาตรการให้ชุมชนป้องกันยาเสพติด ให้โอกาสผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ไม่ใช่ผู้ค้าให้กลับตัวเป็นคนดี เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู แต่จะต้องมีความชัดเจนว่าเป็นผู้ป่วยหรือไม่ โดยยืนยันว่าใครที่มียาบ้าในการครอบครอง ผู้เสพ ผู้ครอบครอง ผู้ค้า มีความผิดทั้งหมดตามกระบวนการกฎหมาย
แต่สำหรับผู้เสพ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเสพ เช่น ผลปัสสาวะเป็นสีม่วง มีความผิดฐานมียาเสพติดไว้เสพ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนผู้ที่มียาเสพติดครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด มีโทษฐานครอบครองยาเสพติด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ไม่มีกำหนดปริมาณเม็ด แต่ดูจากพฤติการณ์ มีความผิดจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-1,500,000 บาท
“ผมขีดเส้นใต้ชัดเจนว่าหากใครมีพฤติกรรมเสพยาบ้าหรือมียาบ้าไว้ในครอบครองล้วนมีความผิด แต่กฎหมายฉบับนี้เห็นว่าถ้าให้โอกาสคนหลงผิดมียาเสพติดเล็กน้อย เช่น มียาบ้า 5 เม็ด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขามีไว้เพื่อเสพ แล้วยินยอมเข้าสู่การบำบัดโดยสมัครใจ ต้องผ่านการบำบัดจนครบหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้”
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ผู้เสพติดจะต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์ ต้องได้รับใบรับรองจากผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ ซึ่งเป็นแพทย์ลงนามรับรอง ส่วนผู้ใช้ยาเสพติดแต่ไม่มีอาการ จะต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจากสังคมหรือค่ายบำบัด ถ้าผ่านการรับรองจากผู้อำนวยการสถานบำบัดฯ ลงนามครบแล้วทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จึงจะพ้นจากความผิด ไม่ต้องรับผิด
ดังนั้นการบำบัดรักษาเป็นกระบวนการหนึ่งของการลงโทษ ไม่ใช่ไม่มีความผิด แต่เพื่อคืนคนเข้าสู่สังคม ซึ่งระยะเวลาในการบำบัดผู้เสพยาเสพติดนับตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และระยะยาว ใช้เวลาบำบัดอย่างน้อย 3-4 เดือน โดยผู้ที่ครอบครองยาผ่านขั้นตอนบำบัดทั้งหมด ส่งไปชุมชนบำบัด เป็นค่าย ฟื้นฟูทางสังคม ฟื้นฟูอาชีพความเป็นอยู่ เพื่อลดอัตราการกลับไปเสพยา แต่หากผู้เสพยาเสพติดปฏิเสธเข้าสู่กระบวนการบำบัด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเดิม
ส่วนเรื่องที่มีคนเข้าใจผิดกันมากว่าตนไปออกกฎหมาย นพ.ชลน่าน เน้นย้ำว่า ไม่ได้ออกกฎหมาย แต่เป็นกฎกระทรวงรองรับเท่านั้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันพิจารณา โดยกระทรวงสาธารณสุขนำร่างนี้รับฟังความเห็น 15 วันช่วงปลายเดือนธันวาคม มีผู้แสดงความเห็นเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย และ ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว และตนได้ลงนามเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา
ขณะที่ พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การครอบครองเพื่อเสพยาบ้า 5 เม็ดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมา 21 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการก็จะไปถึงชั้นศาล เท่ากับผู้ที่ครอบครองต้องไปอยู่ในเรือนจำ ไปเจอเสือสิงห์กระทิงแรด บางครั้งเผลอ ถ้ากฎหมายไม่ให้โอกาสเขาก็จะกลับมาเป็นลูกมือของผู้ค้ารายย่อย-รายใหญ่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกกฎกระทรวงมารองรับ ครอบครองเพื่อเสพ 5 เม็ด สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ ตนถือว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อให้โอกาสคน
ด้าน พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดมีพื้นฐานมาจากปัญหาครอบครัว ถ้าครอบครัวเข้มแข็งยาเสพติดก็จะน้อยลง การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเราจับตามแนวชายแดน เส้น 2,400 กิโลเมตรติดกับเมียนมา แต่ทางด้าน สปป.ลาว 1,800 กิโลเมตร
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่า ป.ป.ส. ทำงานเชิงรุก พร้อมเห็นด้วยกับกฎกระทรวงที่ออกมาว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเสพหรือไม่ โดยหากมีพยานหลักฐานเพียงพอยืนยันว่ามีการจำหน่ายก็จะดำเนินคดีในข้อหาจำหน่าย หากไม่มีประวัติก็สมัครเข้ารับการรักษา หากไม่สมัครเข้าจะมีโทษข้อหาหนักเช่นเดิม
จากนั้น นพ.ชลน่าน ได้เปิดคลิปที่อินฟลูเอ็นเซอร์ให้ข้อมูลกับสังคม พร้อมกล่าวเสริมว่า อินฟลูเอ็นเซอร์หลายคนให้ข้อมูลผิดพลาด แต่ก็ได้ลงคลิปแก้ไขข้อมูลแล้ว ซึ่งด้วยความเคารพ ตนคิดว่ายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นต้องช่วยกัน
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า ข่าวสารเรื่องยาเสพติดเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจมาก อินฟลูเอ็นเซอร์เองมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคม จึงขอฝากเพราะเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่สื่อสารต้องแม่น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะคำพูดบางคำไปแปลความผิด เช่น หมอชลน่านออกกฎหมาย คำพูดแค่นี้โดยสามัญสำนึกของคนที่เขารู้ก็รู้ว่าพูดผิด เพราะกฎหมายต้องออกโดยรัฐสภา แต่เขาเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ทุกคนฟัง แล้วทุกคนไม่ได้ฟังด้วยเหตุผล ฟังเพราะเขาชอบ ถึงขนาดจะเข้าชื่อถอดถอนตน
นพ.ชลน่าน กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีอารมณ์ว่า มีประเด็นหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมแล้วพูดในเชิงลบมาก เช่น “ใช้สมองส่วนไหนคิด” “ออกมาได้อย่างไร” แล้วมีการพูดทำนองเสียดสีว่า “รัฐมนตรีไม่โทษหรอก เพราะเขาเพิ่งเข้ามา แต่ไปโทษข้าราชการประจำ”
“คำว่าไม่โทษหรอก หน้าผมชานะครับ ก็คือด่าทางอ้อม คือเป็นนายตำรวจระดับผู้ใหญ่ แม้จะเกษียณอายุไปแล้ว ผมอยากจะให้ท่านดูกฎหมายให้ชัด ก่อนที่จะพูดอะไร ท่านเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ถ้าสื่อกฎหมายให้ถูกต้อง สื่อแนวทางที่ชัด ท่านจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากเลย ผมกราบขอร้องท่านเถอะครับให้ใช้องค์ความรู้ ความสามารถ การยอมรับของท่านให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมือง…ผมไม่ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ แต่ขอฝากท่าน ท่านรู้ตัวดี ท่านเป็นนักกฎหมาย เป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นมือปราบ แต่ท่านไปสื่อสารในทางที่ผิด ทำให้สังคมเกิดความสับสนแตกแยก มันเป็นอันตราย” นพ.ชลน่าน กล่าว