×

คู่มือเลือกตั้ง 101: รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2024

โดย THE STANDARD TEAM
12.02.2024
  • LOADING...
เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 205 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 270 ล้านคนทั่วประเทศจะออกไปคูหาเพื่อลงคะแนน

 

นอกจากเลือกผู้นำประเทศคนใหม่แล้ว ในวันเดียวกัน ชาวอินโดนีเซียจะใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ปกครองท้องถิ่นในทุกระดับอีกด้วย ซึ่งจะทำให้วันดังกล่าวเป็นวันเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดวันหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

 

เพื่อให้การติดตามศึกเลือกตั้งอินโดนีเซียได้อรรถรสมากขึ้น เรารวบรวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญมาไว้ที่นี่แล้ว

 

เลือกตั้งเมื่อไร

 

การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยคูหาเลือกตั้งจะเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 07.00-13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทย

 

อินโดนีเซียประกาศให้วันเลือกตั้งเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2019 จึงมีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึง 81% ตามข้อมูลสถิติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซีย

 

แคนดิเดตมีใครบ้าง ใครเป็นตัวเต็ง

 

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการชิงชัยกันของ 3 ผู้สมัคร ประกอบไปด้วย

 

เบอร์ 1 อานีส บาสวีดัน (ผู้สมัครอิสระ ลงใต้ธงแนวร่วมพรรค PKB-PKS)

เบอร์ 2 ปราโบโว ซูเบียนโต (พรรค Gerindra)

เบอร์ 3 กันจาร์ ปราโนโว (พรรค PDI Perjuangan / PDI-P, พรรครัฐบาลปัจจุบัน)

 

อดีตนักวิชาการ อดีตนายทหารยศนายพล และอดีตข้าราชการที่มาจากชนชั้นรากหญ้า จะมีคนใดคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อจากประธานาธิบดีโจโก ‘โจโกวี’ วิโดโด ซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยในปีนี้ ดังนั้นการเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าผู้นำประเทศครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 

ซึ่งโพลสำรวจช่วงเดือนมกราคม จัดทำโดย Indikator Politik Indonesia ชี้ว่า ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน มีคะแนนนิยมนำเป็นที่ 1 ที่ 48.55% ตามมาด้วย อานีส บาสวีดัน ที่ได้คะแนนสนับสนุน 24.17% ขณะที่ กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าฯ จังหวัดชวากลาง ตามมาเป็นที่ 3 ที่ 21.6%

 

สำหรับคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ประกอบด้วย

  • มูไฮมิน อิสกันดาร์ จับคู่กับ บาสวีดัน
  • ยิบราน รากาบูมิง รากา บุตรชายโจโกวี จับคู่กับ ปราโบโว
  • โมฮัมหมัด มาห์ฟุด จับคู่กับ กันจาร์

 

 

ใครมีสิทธิเลือกตั้ง และเลือกใครบ้าง

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ข้อมูลสถิติระบุว่า 52% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้มีอายุระหว่าง 17-40 ปี และประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งหมายความว่าประชากรกลุ่มเยาวชนเป็นกุญแจสำคัญที่จะตัดสินผลเลือกตั้งครั้งนี้

 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุด้วยว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบ่งเป็นเพศชาย 49.91% และ 50.09% เป็นเพศหญิง

 

อย่างไรก็ดี ข้าราชการตำรวจและทหารอินโดนีเซียถูกห้ามลงคะแนนเสียง 

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะได้รับบัตรลงคะแนน 5 ใบ เพื่อเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ผู้แทนระดับประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล/เทศบาล

 

อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองระดับประเทศอยู่ 18 พรรค และมีที่นั่งในรัฐสภา 575 ที่นั่ง

 

 

รู้ผลเลือกตั้งเมื่อไร

 

มีหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 820,000 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ถึงราว 17,000 เกาะ และการนับคะแนนจะเริ่มทันทีหลังปิดหีบเลือกตั้ง

 

คาดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการนับคะแนนเบื้องต้นได้ในช่วงค่ำของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ผลอย่างเป็นทางการอาจใช้เวลานานถึง 35 วัน ขึ้นอยู่กับว่าคะแนนสูสีกันมากเพียงใด

 

ตัดสินผู้ชนะอย่างไร

 

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 50% จึงจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ แต่หากไม่มีใครทำได้ ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกจะต้องไปชิงดำกันในการเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน

 

โพลจากสำนักต่างๆ แสดงให้เห็นว่าปราโบโวมีคะแนนนำเป็นเต็ง 1 ตามด้วยอานีสและกันจาร์ ตามลำดับ โดยคะแนนของผู้สมัคร 2 รายหลังยังทิ้งห่างกันไม่มากนักที่ราว 20% ส่วนปราโบโวนั้นถึงแม้มีคะแนนนำ แต่คะแนนยังแกว่งและมีโอกาสที่จะทำได้ไม่ถึง 50% ในวันเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าเขาไม่สามารถคว้าชัยชนะเด็ดขาดและต้องไปลุ้นในรอบ Run-Off

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่มีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม

 

ใครเป็นใคร เจาะประวัติย่อผู้สมัครประธานาธิบดีแต่ละคน

 

  • ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) 

 

ซูเบียนโต อดีตนายทหารยศนายพล วัย 72 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ในโพลสำรวจความคิดเห็นทุกสำนัก บรรดาผู้สนับสนุนเชื่อมั่นว่าปราโบโวเป็นผู้นำที่เด็ดขาดที่จะสามารถนำเสถียรภาพมาสู่อินโดนีเซีย เนื่องจากเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะสานต่อแผนการพัฒนาต่างๆ ของโจโกวี

 

ครั้งนี้เป็นการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 3 ของปราโบโว หลังจากที่เขาปราชัยให้กับโจโกวีมาทั้งสองครั้ง ในปี 2014 และ 2019 โดยมาคราวนี้ ปราโบโวประกาศลงสังเวียนคู่กับ ยิบราน รากาบูมิง รากา บุตรชายคนโตของโจโกวี ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเดินเกมที่ถูกต้อง เพราะการเลือกยิบรานมาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีนั้นทำให้ปราโบโวได้รับอานิสงส์จากความนิยมในตัวของโจโกวี ซึ่งสูงถึงราว 80%

 

นอกจากดึงคะแนนสนับสนุนมาจากแฟนคลับของโจโกวีแล้ว ปราโบโว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแต่ไหนแต่ไรว่าเป็นคนอารมณ์ร้อน โผงผางตามสไตล์ทหาร ยังพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ซอฟต์ลง โดยตลอดช่วงของการหาเสียง เขาได้แสดงมุมที่อ่อนโยน อย่างเช่น เล่นกับแมว แสดงอารมณ์ขัน แม้กระทั่งออกสเต็ปท่าเต้นบนเวทีหาเสียง ซึ่งช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของปราโบโวจากนายทหารผู้ดุดัน เป็นคุณปู่ผู้น่ารักโดนใจคนรุ่นใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ปราโบโวตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายค้านด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการลักพาตัวและทรมานนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 1990 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาปัวและติมอร์ตะวันออก รวมไปถึงการขาดความโปร่งใสในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมที่เขาเป็นเจ้ากระทรวง นอกเหนือไปจากข้อโต้แย้งล่าสุดเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติให้ยิบราน บุตรชายวัย 36 ปี ของโจโกวี ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แม้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ตาม

 

  • อานีส บาสวีดัน (Anies Baswedan) 

 

อานีส วัย 54 ปี เป็นนักวิชาการที่ผันตัวมาเล่นการเมือง เขาเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการชักชวนจากโจโกวีให้มารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี อานีสก็หันไปเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน และชนะการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงจาการ์ตาในปี 2017 ด้วยแรงสนับสนุนจากกลุ่มมุสลิมหัวอนุรักษ์

 

อานีสเป็นผู้สมัครคนเดียวใน 3 คนที่ประกาศไม่สานต่อโครงการย้ายเมืองหลวงของโจโกวี จากกรุงจาการ์ตา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชวา ไปยังเมืองใหม่อย่าง นูซันตารา บนเกาะบอร์เนียว เนื่องจากเขาเชื่อว่ามีปัญหาอื่นๆ เร่งด่วนกว่าที่ต้องจัดการ และรัฐบาลควรกระจายการลงทุนระหว่างพื้นที่ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

 

อานีสประกาศลงเลือกตั้งสนามใหญ่คู่กับ มูไฮมิน อิสกันดาร์ (Muhaimin Iskandar) ผู้นำ National Awakening Party (PKB) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ทั้งยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับองค์กรมุสลิมสายกลางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง Nahdlatul Ulama

 

  • กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo)

 

กันจาร์ อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง วัย 55 ปี มีประสบการณ์การทำงานด้านบริการสาธารณะมายาวนาน เขาเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลอย่าง Indonesia Democratic Party of Struggle (PDI-P) โดยถึงแม้โจโกวียังไม่ได้ประกาศสนับสนุนผู้สมัครคนใดอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ของโจโกวีกับกันจาร์ ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งจากพรรครัฐบาลจะไม่ชัดเจนเท่าไรนัก และยิ่งจืดจางลงเมื่อยิบราน ลูกชายของโจโกวี ได้เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของปราโบโว

 

กันจาร์มีพื้นเพมาจากชนชั้นรากหญ้า บิดาเป็นเพียงทหารยศชั้นประทวน ต้องกู้เงินเรียน เขาจึงใช้จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบในการเข้าถึงประชาชน เขาลงพื้นที่หาเสียงไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาและความกังวลของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม กันจาร์ก็มีจุดอ่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยในระหว่างที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง กันจาร์ได้อนุมัติโครงการพัฒนาเหมืองในจังหวัด ส่งผลให้เขาเผชิญกับการประท้วงอย่างรุนแรงจากชาวบ้าน เกษตรกรในท้องถิ่นและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของกันจาร์คือ มาห์ฟุด อดีตรัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง ซึ่งมาจากแบ็กกราวด์คล้ายกันกับกันจาร์ และเชื่อว่าคู่ของพวกเขาเข้าใจพี่น้องชาวอินโดนีเซียมากกว่าคู่แข่ง

 

ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียมีใครบ้าง?

 

โฉมหน้าประธานาธิบดีอินโดนีเซียทั้ง 7 คนนับตั้งแต่อินโดนีเซียประกาศเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

นโยบายหาเสียงที่ชาวอินโดนีเซียให้ความสำคัญ

 

  • ค่าครองชีพและปัญหาปากท้อง

 

เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั่วโลก ความกังวลหลักของชาวอินโดนีเซียคือค่าครองชีพและความสามารถในการหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว

 

การเติบโตของเศรษฐกิจของอินโดนีเซียชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.05% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับ 5.3% ในปีก่อนหน้า ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกที่อ่อนแอและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง

 

และเนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้กว่าครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ปัญหาการว่างงานจึงเป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยอัตราการว่างงานของอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม 2023 อยู่ที่ 5.32%

 

  • อิทธิพลของโจโกวี

 

เรื่องหนึ่งที่ชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งรู้สึกกังวลใจคือการที่โจโกวียังคงพยายามรักษาอิทธิพลของตนไว้แม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศแล้วก็ตาม โดยยิบราน ลูกชายของเขา สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพี่เขยของโจโกวีเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ได้แก้ไขเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัครจากที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ส่งผลให้ยิบราน ซึ่งมีอายุเพียง 36 ปีลงสมัครได้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างร้อนแรงในอินโดนีเซีย

 

  • ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย 

 

ปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอินโดนีเซียส่งผลให้เกิดการประท้วงในหมู่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึง Gadjah Mada University ในยอกยาการ์ตา และ Universitas Indonesia ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับชั้นนำของประเทศ โดยบรรดาเจ้าหน้าที่และนักศึกษากังวลเกี่ยวกับความยุติธรรมและความโปร่งใสในการเลือกตั้ง

 

“ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีโอกาสที่จะขยายตัวกลายเป็นขบวนการประท้วงของนักศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี 1997-1998” อเล็กซ์ อาริเฟียนโต นักวิจัยจาก S Rajaratnam School of International Studies (RSIS) ในสิงคโปร์ กล่าวกับ Al Jazeera

 

“รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการที่จะเลือกใช้เพื่อจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเคลื่อนไหวเติบโตเร็วขึ้นหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หากนักศึกษาไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง”

 

ใครเห็นด้วยย้ายเมืองหลวง

 

‘นโยบายย้ายเมืองหลวง’ จากกรุงจาการ์ตาไปยังนูซันตารา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากในศึกเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024 และเป็นประเด็นที่มีส่วนในการตัดสินใจโหวตเลือกของผู้มีสิทธิลงคะแนน

 

ซึ่ง 3 แคนดิเดต ได้แก่ ปราโบโว ซูเบียนโต, กันจาร์ ปราโนโว และ อานีส บาสวีดัน มีนโยบายที่ต่างกัน

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X