×

เตือน โดนัทช็อกโกแลต 8 ยี่ห้อดังมีไขมันทรานส์สูงเกินค่ากำหนด

10.05.2018
  • LOADING...

นิตยสาร ฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยผลการทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต พบว่ามีเพียง 5 ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อที่ทำการสุ่มตรวจ ด้าน WHO แนะนำให้เลี่ยงบริโภคและกระตุ้น อย.ให้ออกมาตรการต่อผู้ผลิต

 

องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าค่ามาตรฐานไขมันทรานส์ในอาหารมีได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค จึงจะไม่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งจากการทดสอบโดนัทรสช็อกโกแลต 13 ยี่ห้อในประเทศไทย มีเพียง 5 ยี่ห้อที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่

  • คริสปี้ครีม (Krispy Kreme Doughnuts ช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2067 กรัมต่อชิ้น
  • เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0824 กรัมต่อชิ้น
  • เบรดทอล์ค (BreadTalk โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2029 กรัมต่อชิ้น
  • แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough ดับเบิ้ล ช็อค) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัมต่อชิ้น
  • แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.1272 กรัมต่อชิ้น

 

ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์เกินกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนด ได้แก่

  • ยามาซากิ (Yamazaki โดนัทช็อกโกแลต)
  • มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut ChocRing Classic) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8690 กรัมต่อชิ้น
  • ซับไลม์ โดนัท (Sublime Doughnuts โดนัทดาร์กช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัมต่อชิ้น
  • เทสโก้ โลตัส (โดนัทรวมรสช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 1.7449 กรัมต่อชิ้น
  • เอ็น.เค. โดนัท (NK Donut ริงจิ๋ว ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8626 กรัมต่อชิ้น
  • ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts ช็อกโกแลต ฟลาวเวอร์) มีปริมาณไขมันทรานส์ 2.7553 กรัมต่อชิ้น
  • ฟู้ดส์แลนด์ (Foodland โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 3.0484 กรัมต่อชิ้น
  • บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.9560 กรัมต่อชิ้น

 

นอกจากนี้โดนัทส่วนใหญ่ยังให้พลังงานสูงด้วย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี

 

ทาง รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำไปผลิตอาหาร การบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน ร่างกายจะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และลดระดับไขมันดีลง (HDL) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดัน รวมถึงทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด เป็นปัจจัยเสี่ยงให้หลอดเลือดตีบมากขึ้น แนะนำให้ผู้บริโภคเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันชนิดดังกล่าว

 

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวเสริมว่า “ตามที่ อย. เคยเสนอยกร่างกฎหมายเรื่องการห้ามนำส่วนประกอบที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหารนั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีประกาศออกมา จึงอยากให้ อย. เร่งพิจารณาการออกประกาศดังกล่าว โดยบังคับใช้กับผู้ผลิตอาหารให้ใช้ได้ไม่ควรเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X