×

รอปัจจัยกระตุ้นจากภาครัฐบาล

10.02.2024
  • LOADING...
การลงทุน

ภาวะการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา แชมป์ตลาดหุ้นก็ต้องยกให้พี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา รองลงมาก็ญี่ปุ่น แย่สุดก็จีน ที่เป็นแบบนี้ก็มีคำอธิบายค่อนข้างชัดเจน ส่วนตลาดหุ้นไทยโทนออกมาไม่ค่อยดี ประเด็นหลักๆ ก็ประมาณว่านักลงทุนต่างชาติเห็นว่าสินทรัพย์ที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐดูแล้วน่าจะมีความผันผวนน้อยกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่เศรษฐกิจก็ยังเข้มแข็ง ส่วนญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์เต็มๆ จากการที่สหรัฐฯ แบนจีน ส่วนพี่จีนก็อาการหนัก ทั้งจากการที่โดนสหรัฐฯ กีดกันทางการค้า ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยดึงคู่ค้าสำคัญคือประเทศแถบเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย ทรุดตัวลงตามไปด้วยกัน

 

มาเล่าเรื่องของสหรัฐอเมริกากัน ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีพัฒนาการที่ดีในด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างอุตสาหกรรม ธุรกิจเทคโนโลยีสร้างรายได้มหาศาลให้กับสหรัฐอเมริกา เราเห็นการเติบโตที่เข้มแข็งจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีต่อเนื่อง และเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าที่เคยประมาณการกันไว้ที่ 2.0%

 

ตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE ซึ่ง Fed ใช้เป็นตัวอ้างอิงในการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายออกมาตามคาด คือเพิ่มขึ้นแค่ 0.2% จากเดือนก่อนหน้า และ 2.9% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานในภาพรวมที่ยังคงดีอยู่ โดยตัวเลข Non-Farm Payroll เดือนธันวาคม ออกมาที่ 216,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาด 170,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.8% เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ผลประกอบการไตรมาส 4 ของปีที่แล้วของบริษัทใน S&P 500 ที่ประกาศแล้ว 25% ของทั้งหมด 500 บริษัท มีบริษัทที่รายงานกำไรดีกว่าคาดการณ์ ในส่วนของผลการประชุม Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดที่ 5.25-5.50% แต่ Fed ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย

 

สำหรับภาวะการลงทุนทั่วโลก ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม โดยดัชนีรายภูมิภาคปรับตัวตามปัจจัยเฉพาะตัว ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan ลดลง 5.5% MSCI Europe เพิ่มขึ้น 1.5% และ S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.6% ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4 bps เป็น 4.21% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 3 bps เป็น 3.91% ในส่วนราคาทองปรับตัวลง 1.1% เป็น 2,039.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น 1.9% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 6.1% เป็น 81.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งกว่าคาด หลัง IMF ออกมาปรับประมาณการณ์การเติบโตของ World GDP ขึ้นเป็น 3.1% จากเดิมที่ 2.9%

 

หันมาดูภาวะการลงทุนในประเทศไทยกันบ้าง เริ่มจากตลาดหุ้นไทยเดือนมกราคม ปรับตัวลงต่ออีก 3.6% จากที่ลดลง 15.5% ในปี 2566 ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำกว่า MSCI ACWI 4% ทั้งหมดนี้ก็มาจากการคาดการณ์แนวโน้มกำไรที่อ่อนแอ และแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่หันไปถือครองทรัพย์สินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตขึ้นเพียง 1.8% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าเดิมที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.5% อิงจากการรายงานของกระทรวงการคลัง

 

ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่ -0.83% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยตัว 2 ปี ปรับตัวลง 7 bps เป็น 2.27% และตัว 10 ปี ปรับตัวลง 5 bps เป็น 2.65% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยอีก 30,050 ล้านบาท และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้ 6,255 ล้านบาท ในเดือนมกราคม จากปี 2566 ที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิในหุ้นไทย -192,490 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 10,930 ล้านบาท

 

การที่เงินทุนไหลออกในเดือนมกราคม ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบค่าเงินสหรัฐฯ อ่อนค่า 3.4% เป็น 35.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2567 แนวโน้มเดือน กุมภาพันธ์ ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้น่าจะเริ่มทรงตัวและรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสำคัญ

 

การจัดพอร์ตในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ 50% โดยแบ่งเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25% ญี่ปุ่นและเวียดนาม รวมกันไม่เกิน 15% ประเทศไทย 10% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนในทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10% โดยยังคงเน้นการลงทุนที่ REIT

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X