หุ้น บมจ.ธนาคารไทยเครดิต หรือ CREDIT เข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) เป็นวันแรก ราคาเปิดการซื้อ-ขายที่ 27.50 บาท ลดลง 1.50 บาท ติดลบ 5.17% จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 29 บาท โดยระหว่างการซื้อ-ขาย ภาคเช้าราคาขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 27.75 บาท ขณะที่ราคาลงไปแตะระดับจุดต่ำสุดที่ 25.25 บาท จากนั้นราคามาปิดการซื้อ-ขาย ภาคเช้าที่ระดับ 26.25 บาท ลดลง 2.75 บาท ลบ 9.48%
CREDIT เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจธนาคาร ด้วยมูลค่าระดมทุน 1,876.47 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 35,649.39 ล้านบาท ซึ่ง CREDIT เป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์แห่งที่ 12 ที่เข้ามาจดทะเบียนใน SET ในรอบ 10 ปี และเป็นหุ้นลำดับที่ 2 ที่เข้ามาจดทะเบียน SET ในปี 2567
CREDIT เป็นธนาคารพาณิชย์เน้นการให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) มายาวนานกว่า 15 ปี แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มคนค้าขายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ผ่านสาขาการให้บริการกว่า 527 สาขา ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มี Net Interest Margin (NIM) สูงถึง 8.76% มีจำนวนสัญญาให้สินเชื่อกว่า 370,000 บัญชี
มีทุนชำระแล้ว 6,146.45 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 254.13 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของ OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. 189.42 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 64.71 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่
- บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ พนักงาน และผู้มีอุปการคุณของธนาคาร ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2567
- ผู้ลงทุนสถาบัน รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ
โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มี บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), บล.บัวหลวง และ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญร่วม
ผู้บริหารมองหุ้นต่ำจองตามภาวะตลาด
วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารไทยเครดิต เปิดเผยว่า กรณีหุ้น CREDIT เข้าซื้อ-ขายใน SET วันแรกมีราคาต่ำจอง IPO คาดว่าน่าจะเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้น โดยคงต้องเข้าไปตรวจสอบถึงสาเหตุของราคาหุ้นที่ปรับมาจากปัจจัยอะไร เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนเป็นนักลงทุนสถาบัน และมีนักลงทุนรายย่อยสัดส่วนน้อย
ขณะที่ในด้านปัจจัยพื้นฐานธนาคารเชื่อว่ายังเติบโตได้ โดยในปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าหมายรักษาการเติบโต 20-30% ทั้งในส่วนการปล่อยสินเชื่อและผลประกอบการ
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ส่วนแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) น่าจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่สูงมาก
ส่วนแผนการปล่อยสินเชื่อยังเน้นในกลุ่มสินเชื่อเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารมีความถนัด และยังเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนอีกจำนวนมาก ยังเป็นกลุ่มที่มีตลาดขนาดใหญ่ และมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจที่สูง จึงไม่มีความจำเป็นในการขยายไปธุรกิจใหม่
CREDIT มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่
- กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ และบุคคลในครอบครัวไชยวรรณ ถือหุ้น 68.70%
- OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. ถือหุ้น 7.60%
- มิจิตรา กุนารา ถือหุ้น 3.60%
FA มอง IPO ที่ 29 บาทต่อหุ้น ความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน
กนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของ CREDIT กล่าวว่า การตั้งราคาขายหุ้น IPO ที่ 29 บาทต่อหุ้น มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และลักษณะการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธนาคารไทยเครดิตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อรีเทลเพื่อพ่อค้าและแม่ค้า แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งแตกต่างจากธุรกิจ Non-Bank ที่เน้นการบริโภค ดังนั้นการตั้งราคา IPO ของหุ้น CREDIT จึงอยู่ช่วงกึ่งกลางของ 2 ธุรกิจ ซึ่งมองว่ามีความสมเหตุสมผล
โดยคิดจากอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value: P/BV) เท่ากับ 2 เท่า ถือว่าเป็นราคาเหมาะสมอยู่ระดับปานกลาง คือราคาต่ำกว่า Non-Bank ที่ P/BV เฉลี่ยที่ 2.6-3 เท่า และสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เล็กน้อย เฉลี่ยที่ 1.8 เท่า ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่สร้างการเติบโตคล้ายกับ Non-Bank
อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดไอพีโอผันผวน และภาวะตลาดขณะนี้ที่นักลงทุนยังรอติดตามหลายๆ ปัจจัย แต่เรายังมองว่าด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสดี และเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีธุรกิจแบงก์เข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีนักลงทุนสถาบันต่างชาติให้ความสนใจจองซื้อเต็ม และยังเป็นหุ้นแบงก์ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 8.2%