วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กนง. ส่งสัญญาณถึงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ประเมินว่าจะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว และ กนง. จำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่างๆ ในระยะต่อไป ขณะที่มีความเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ
การวิเคราะห์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ (7 กุมภาพันธ์) กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งที่ 1/2567
Krungthai COMPASS มองยังประเมินว่า ในการประชุมครั้งล่าสุด กนง. มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง สะท้อนได้จากการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ลงจากเดิมที่ 3.2% (ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) ลงสู่ช่วง 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8%) จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและจีนซึ่งฟื้นช้ากว่าที่คาด รวมทั้ง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จำกัดการเติบโตและเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ในด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง. ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 โดยมองว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำที่ 1.0% จากเดิมที่ 2.0% (ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) พร้อมทั้งระบุว่า เงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาไม่ได้ปรับลดเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ กนง. ยังส่งสัญญาณปรับท่าทีที่ผ่อนคลายขึ้น สะท้อนจากผลการลงมติที่มีกรรมการจำนวน 2 ใน 5 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ประเมินว่า กนง. จะยังไม่เร่งปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินและจำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่างๆ ในระยะต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว
ขณะที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ
นอกจากนี้ กนง. ยังสื่อสารว่า การลดดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อไป ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น และจำเป็นต้องติดตามท่าที กนง. และพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างใกล้ชิด