อย่างที่รู้ หากเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนแข็งแกร่ง ย่อมสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่จำนวนธุรกิจชุมชนไทยที่ประสบความสำเร็จมีเพียงน้อยนิด ในขณะที่ธุรกิจที่จมอยู่กับปัญหา มองไม่เห็นแนวทางแก้ไขยังมีอีกมาก ด้วยเหตุนี้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง
โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ โดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นหนึ่งในโครงการที่มุ่งมั่นช่วยธุรกิจชุมชนไทยให้โผล่พ้นปัญหา เพราะโตโยต้าเชื่อว่า ประเทศไทยคืออีกบ้านของโตโยต้า การสร้างบ้านให้มั่นคงแข็งแรงย่อมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดงานแถลงข่าวฉลองความสำเร็จครบรอบ 10 ปี โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยอย่างครบวงจรควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ณ TOYOTA ALIVE
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จตลอด 10 ปี โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’
ย้อนกลับไปในปี 2557 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เกิดแนวคิดที่จะยกระดับการดำเนินงานของธุรกิจชุมชนไทย อันเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มพูนกำไร และดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ในการขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ จึงถือกำเนิดขึ้น
‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ คือโครงการนวัตกรรมสังคมของโตโยต้า ที่เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น ‘พี่เลี้ยงทางธุรกิจ’ ตั้งแต่ศึกษาปัญหา หาสาเหตุ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่
- วิถีโตโยต้า (Toyota Way) หลักปรัชญาที่เปรียบเสมือน DNA ของโตโยต้าทั่วโลก ว่าด้วยการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ร่วมไปกับหลักการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการทำงานเป็นทีม
- ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS: Toyota Production System)
- Just in Time ผลิตสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ในเวลาที่ลูกค้าต้องการ ในจำนวนที่ลูกค้าต้องการ
- Jidoka ตรวจสอบคุณภาพ 100% หยุดทันทีเมื่อพบปัญหาและแก้ไขทันที
- การไคเซ็น (Kaizen) หรือการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้คือองค์ความรู้ของโตโยต้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่นำไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ
นันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
นันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปี โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ ได้นำนวัตกรรมทางความคิดเหล่านี้มาถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ ผ่านความร่วมมือของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ เข้าไปศึกษาปัญหาที่หน้างานของแต่ละธุรกิจชุมชน และนำแนวความคิดพร้อมองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า เข้าไปพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจจนสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และสร้างผลกำไร พร้อมทั้งได้มีการยกระดับไปสู่การเปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ยังร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ นครราชสีมา ชลบุรี และโครงการชุมชนดีพร้อม ตลอดจนการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
การขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ของโครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจไปกว่า 2,089 ธุรกิจ ช่วยเพิ่มพูนผลกำไรได้เป็นมูลค่ารวม 805 ล้านบาท และส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้คนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้ไปแล้วกว่า 100,000 คน
ก้าวสู่ปีที่ 11 ยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทุกมิติ
การก้าวสู่ปีที่ 11 ของโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ มุ่งยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น
- การถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชน ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการชุมชน ในการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ร่วมกับการเสริมทักษะในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการสนับสนุนจากกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
- กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติผ่านกลไกความร่วมมือ Global Player ซึ่งจัดขึ้นโดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ภายใต้การดำเนินการร่วมกับบริษัทโตโยต้า ออโต้ บอดี้ ประเทศไทย จำกัด ตลอดระยะเวลา 3 ปี กับอีก 23 บริษัท โดยการนำองค์ความรู้ทั้งด้านการจัดการการผลิตและการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการไทย
- การร่วมดำเนินโครงการอื่นๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน
วิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
วิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมวางเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการสู่การเป็น Smart SME โดยกระตุ้นให้ SME ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจจากแนวคิดแบบเดิมๆ ไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ทันสมัยและก้าวทันโลก รู้จักการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทย ผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า โดยส่งเสริมทั้งในด้านผลิตผล คุณภาพ การส่งมอบสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่ส่งเสริมนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ระดับชุมชน ในขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งพร้อมให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยอย่างรอบด้าน จะเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการไทยต้องการ”
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป