×

เศรษฐาจี้แบงก์ชาติ ทำนโยบายการเงินให้สอดประสานคลัง หลัง ‘เงินเฟ้อติดลบ’ ส่งสัญญาณ ‘เศรษฐกิจอ่อนแอ

05.02.2024
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มองเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติด เป็นสัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแอ และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลังและนโยบายการเงินจะต้องสอดประสานกัน

 

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และ X โดยระบุว่า การที่เงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลังซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติจะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำคงจะแก้ปัญหาได้ยาก

 

สอดคล้องกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์แถลงอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ลบ 1.11% ติดลบติดกันเป็นเวลา 4 เดือน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐแต่ก็อยู่ในระดับต่ำจนน่าเป็นห่วง

 

อย่างไรก็ตามสาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่กำลังซื้อของประชาชนขาดเพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประชาชนไม่กล้าใช้จ่ายเนื่องจากกังวลเรื่องหนี้สิน ขณะที่ภาคเอกชนไม่มีการลงทุน ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ โดยขยายตัวแค่เพียงประชาชนกลุ่มบน ส่วนกลุ่มฐานรากไม่มีการขยายตัวเนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ 

 

นอกจากนี้ จุลพันธ์ยังย้ำอีกว่า การทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องมีความประสานกัน พร้อมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันซึ่งอยู่ระดับสูงสุดในรอบราว 10 ปีเป็นภาระของประชาชน

 

“เรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของ กนง. เพราะผมชัดเจนแล้วว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นภาระกับประชาชน ซึ่งก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย มีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้นเพราะประชาชนได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งมาก เห็นจากกำไรที่ออกมา ดังนั้นการทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องมีความประสานกัน”

 

ศูนย์วิจัยมองไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ประเด็นที่ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยติดลบหนักสุดในเกือบ 3 ปี ส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงหรือไม่?

 

ณัฐพรระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลง กล่าวคือ เมื่อคนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ราคาสินค้าบางรายการจึงปรับตัวลง ‘แต่ไม่ได้มาก’ เนื่องจากปัจจัยหลักยังมาจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง 

 

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากประเด็นสินค้าจีนตีตลาดด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกำลังติดตามดูอยู่ 

 

ณัฐพรกล่าวอีกว่า แม้ว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อไทยจะเข้าข่ายคำนิยาม ‘เงินฝืด’ คือเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติด “แต่การจะบอกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ต้องดูภาวะเศรษฐกิจอื่นรอบๆ ด้วย” เช่น การลดลงของราคาสินค้าต้องกระจายตัวในแทบทุกหมวด รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การจ้างงาน ยอดขอรับสวัสดิการว่างงาน และเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันหรือไม่ 

 

สำหรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2567 นี้ KResearch มองไว้อยู่ที่ 0.8% (ยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต)

 

เงินเฟ้อ ‘ติดลบ’ ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กนง. แค่ไหน?

 

ณัฐพรกล่าวว่า ปัจจัยเงินเฟ้อน่าจะมีนัยต่อการตัดสินใจของแบงก์ชาติก็ต่อเมื่อรายการสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อลดลงแทบทุกรายการ คล้ายกับที่เคยเกิดเมื่อช่วงโควิด รวมถึงเมื่อตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง

 

สำหรับในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เนื่องจาก กนง. ต้องประเมินหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ

 

“ต้องจับตาดูว่า กนง. มองทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ในช่วงที่เหลืออย่างไร เนื่องจากตามที่ให้ข่าวมาก่อนหน้านี้ ในการประชุมครั้งนี้แบงก์ชาติจะปรับตัวเลขประมาณการ รวมทั้งต้องจับตาดูสัญญาณจากผลการลงมติในวันพุธนี้ว่า คณะกรรมการจะลงเสียงเป็นเอกฉันท์หรือไม่ มีเสียงแตกหรือไม่”

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลงในช่วงครึ่งหลังของปีมากขึ้น หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ทาง กนง. ประเมินไว้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้าและความไม่แน่นอนของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต

 

ดังนั้น “ต้องติดตามการประชุมวันพุธนี้ เพื่อดูสัญญาณว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะเร็วกว่านั้น หรือจะยังคงอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง” ณัฐพรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X