วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ศาลแขวงดุสิต จำเลยในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการจัดการชุมนุม ‘ไม่ถอยไม่ทน’ ที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เป็นจำเลยเดินทางมาร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาศาลในคดีดังกล่าว
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดจริง ให้จำคุกคนละ 4 เดือน โทษปรับทางอาญาคนละ 1,000 บาท โทษปรับทางพินัยคนละ 10,200 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ซึ่งทั้งหมดได้ยื่นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อ
จำเลยในคดีนี้มีใครบ้าง
- โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา
- เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์
- บอล-ธนวัฒน์ วงค์ไชย
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
- ปิยบุตร แสงกนกกุล
- พรรณิการ์ วานิช
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร
ศาลตัดสินอย่างไร
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า เมื่อจำเลยประกาศเชิญชวนผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของกลุ่ม จำเลยเองย่อมรู้อยู่แล้วว่าหากประกาศโพสต์เชิญชวนจะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก
ดังนั้นจำเลยจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่สามารถรับผิดชอบต่อการชุมนุมไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธารณะและการชุมนุมอยู่ในเขตพระราชฐาน ใกล้กับวังสระปทุมในระยะ 150 เมตร
พิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 8 จำนวน 4 เดือน ปรับ 1,000 บาท เมื่อพิเคราะห์อายุประวัติสถานะทางสังคม ความมีชื่อเสียง และมีผู้ติดตามจำนวนมาก จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และการชุมนุมเป็นการแสดงออกแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง เห็นควรให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
ส่วนกรณีที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับพินัย ศาลสั่งปรับ10,200 บาท
พิธา-ปิยบุตร และทนายว่าอย่างไรหลังฟังคำตัดสิน
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะทนายความ ระบุว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของระยะ 150 เมตรของเขตพระราชฐานว่าวัดจากจุดไหน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวมีการเทียบเคียงกับคดีอื่นที่มีการชุมนุมในสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว
อีกทั้งในประเด็นเรื่องของการไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลแขวงจังหวัดเชียงรายเคยมีคำวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ทราบเท่านั้น แต่หากมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รับรู้แล้ว
ซึ่งคดีนี้ตำรวจรับรู้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 แล้วว่ามีการชุมนุม เนื่องจากจำเลยมีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะทนายคิดว่าจำเลยควรที่จะอุทธรณ์คดี เรื่องนี้ไม่ต้องการเอาชนะ แต่ต้องการความจริง ตนเคารพคำพิพากษาศาล แต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไม่ต้องถามทางอัยการ
ขณะที่พิธากล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่นว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์คดี เพราะมีประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน ว่าอาจมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตรว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ พร้อมระบุว่าการที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง
ด้านปิยบุตรกล่าวว่า คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท
ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นาน หลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ ศาลใช้ระยะเวลาอ่านคำพิพากษานานกว่าการชุมนุมดังกล่าวด้วยซ้ำสุดท้าย ถูกจำคุกถึง 4 เดือน ปรับ 10,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมายก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป
ทำไมถึงนัดชุมนุม ‘ไม่ถอยไม่ทน’
13 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีที่ธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 191.2 ล้านบาท
ธนาธรจึงประกาศนัดหมายประชาชนในวันเดียวกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้เข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก ในช่วงเย็นของวันที่ 14 ธันวาคม 2562
ในการชุมนุมครั้งนั้นมีประชาชนรวมถึงแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากจนล้นจากบริเวณสกายวอล์ก และแกนนำในการชุมนุมครั้งนั้นถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา