นิยามของบ้านยุคนี้มีวิวัฒนาการต่างไปจากอดีตมาก ที่เห็นชัดอย่างหนึ่งคือมันไม่ใช่แค่ที่นอนของเราอีกต่อไป สำหรับหลายๆ คนบ้านในวันนี้ต้องเป็นทั้งที่ทำงาน ห้องเรียน ห้องกิจกรรม และพื้นที่ทำงานสร้างสรรค์อีกสารพัด เราสังเกตว่าการประยุกต์ใช้มุมในบ้านเพื่อการ ‘เรียนรู้’ และ ‘พัฒนาทักษะใหม่’ กำลังเป็นเทรนด์ที่เบ่งบานทั่วโลก
วันนี้เราจึงอยากชวนคุณสำรวจแนวคิดการออกแบบ Study Space ในบ้าน เพื่อตอบเทรนด์ ‘การเรียนรู้ไม่รู้จบ’ นี้สักหน่อย เริ่มกันที่ข้อดีของการออกแบบ ‘มุมทำงาน’ ให้เป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์จริงๆ กันก่อน หากเราตั้งใจจัดสรรพื้นที่ส่วนนี้เป็นอย่างดี เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
- เราจะมีสมาธิดีขึ้น ความสงบและเป็นส่วนตัวย่อมเอื้อให้โฟกัสกับสิ่งตรงหน้าได้นานกว่าเดิม
- ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์จากความตั้งใจของเราจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ พื้นที่ที่เป็นสัดส่วนจะช่วยเรื่องการจัดสรรเวลาและสร้างวินัยในตัวเราขึ้นมาได้
- พลังใจ หากเราออกแบบมุมเนิร์ดให้ตรงจริตตัวเองได้สุดๆ แล้วล่ะก็ เรื่องยากๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมาเสียอย่างนั้น
แต่การออกแบบ Study Space หรือ Working Corner ให้ลงตัว (และไม่ใช่ที่แอบหลับ) ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำความเข้าใจฟังก์ชัน จิตวิทยาการใช้สี รวมไปถึงเรื่องการยศาสตร์ และความตระหนักในสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละบุคคลด้วย
เริ่มจากความเข้าใจความต้องการและเงื่อนไขของตัวเองที่สำคัญมากที่สุด อย่าเพิ่งเปิด Pinterest แล้วทำตามใครทั้งนั้น เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าจริงๆ แล้วสภาพแวดล้อมแบบไหนที่ใช่ตัวเราที่สุด โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็มีเช่น
- ขนาดพื้นที่: ตอบตัวเองให้ได้ว่าแค่ไหนคือพอดี พิจารณาอุปกรณ์ข้าวของที่เราต้องใช้เป็นประจำ เรามีหนังสือเยอะหรือเปล่า เราต้องใช้คอมพิวเตอร์กี่เครื่อง ต้องมีส่วนเก็บของแค่ไหน ฯลฯ
- โลเคชัน: พิจารณามุมบ้านที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ เช่น ที่ว่างข้างเตียง ห้องนั่งเล่นที่ไม่ค่อยได้ใช้ ห้องนอนสำรอง ฯลฯ พื้นที่เหล่านี้อาจเป็นคำตอบที่ใช่ก็ได้
- บรรยากาศ: สังเกตปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อสมาธิและความมุ่งมั่นของเราเอง เช่น เสียงรบกวน ปริมาณแสงสว่าง อุณหภูมิในห้องระหว่างวัน ฯลฯ
ต่อไปนี้คือขั้นตอนการคิดง่ายๆ ที่เรารวบรวมมาให้ สำหรับใครก็ตามที่อยากออกแบบบ้านให้เป็นพื้นที่พัฒนาตนเองอย่างแท้จริง
1. เลือกเฟอร์นิเจอร์ให้ตอบโจทย์
รู้ไว้เถิดว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ดีส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเราอย่างยิ่งยวด โดยชิ้นหลักๆ ที่เราต้องให้ความสำคัญคือ
โต๊ะ: ให้เลือกโต๊ะที่มีพื้นที่พอดีสำหรับการทำงานในแบบของเรา ต้องไม่เล็กหรือแคบเกินไป และควรมีที่เก็บของจำเป็นที่ต้องใช้เป็นประจำด้วย
เก้าอี้: จงลงทุนกับเก้าอี้ทำงานที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ เพราะความสบายและดีต่อสุขภาพหลังนั้นสำคัญกว่าที่คิด ถ้าเก้าอี้ตัวไหนนั่งนานแล้วปวดเมื่อย หลังงอ ขอให้เปลี่ยนโดยเร็ว ห้ามงกกับเก้าอี้ทำงานเด็ดขาด
2. ขจัดสิ่งรบกวนสมาธิ
สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับชั่วโมงการเรียนรู้ในแบบของเรา โดยขจัดสิ่งรบกวนสมาธิต่างๆ ออกไปให้หมด เช่น ย้ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่จำเป็นไปไว้ไกลๆ ปิดเสียงมือถือ ปิดทุกหน้าจออุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการทำสิ่งตรงหน้า ที่สำคัญอีกข้อคือการควบคุมปริมาณเสียงโดยรอบ เรื่องนี้แล้วแต่จริตของแต่ละคน บางคนต้องเงียบสงัดถึงจะมีสมาธิ ในขณะที่บางคนชอบมีเสียงเพลงคลอเบาๆ หรือมีเสียงอื่นในแบ็กกราวด์บ้างถึงจะทำงานได้ดี อย่างนี้เป็นต้น
3. จัดของเข้าที่ และเป็นตัวเรา
ความเป็นระเบียบของพื้นที่ทำงานคือขุมพลังอย่างหนึ่งในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง เรื่องนี้มีทิปส์ 2-3 ข้อที่ช่วยเราได้ เช่น
เก็บให้เรียบร้อยเสมอ: อย่าปล่อยให้พื้นที่เรียนรู้ของเราเป็นเหมือนสมรภูมิรบ จำไว้ว่าความรกไม่ใช่ความอุ่นใจ และไม่ได้นำความรู้ใดมาสู่สมองเรา
ตกแต่งให้สะท้อนตัวตน: เป็นเรื่องดีที่จะเติมสิ่งของที่บ่งบอกความเป็นตัวเราไว้ในมุมทำงานบ้าง อาจเป็นโปสเตอร์หนังที่ชอบ งานอาร์ต คำคม หรือรูปภาพ อะไรก็ได้ที่ให้พลังบวกกับเราในเวลาที่ขาดกำลังใจ
4. สร้างความรื่นรมย์
ทุกองค์ประกอบในห้องล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงานของมนุษย์เรา ฉะนั้นจงเลือกสิ่งที่พอดีกับความเป็นเราให้มากที่สุด เช่น
แสงสว่าง: ปริมาณแสงที่พอเหมาะจะทำให้เรามีสมาธิดีและไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อยล้า (โดยเฉพาะเรื่องดวงตา) การจัดโต๊ะเรียนหรือมุมทำงานไว้ใกล้หน้าต่างที่เปิดรับแสงธรรมชาติได้ถือเป็นเรื่องดี แต่หากแสงธรรมชาติที่มียังไม่พอ เราก็ต้องเติมแสงสั่งได้ตามจุดต่างๆ ไว้ด้วย เช่น เพิ่มความสว่างของโป๊ะไฟเพดาน เติมโคมไฟอ่านหนังสือ ฯลฯ
สีผนังและเฟอร์นิเจอร์: โทนสีที่ได้รับความนิยมตลอดกาลสำหรับห้อง Study Room คือโทนสีธรรมชาติ เช่น สีเทา เบจ น้ำตาลอมเทา และขาวออฟไวต์ ด้วยว่าโทนสีกลุ่มนี้ทำให้จิตใจสงบ เหมาะกับโมงยามที่ต้องการสมาธิ
แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีเฉดสีสนุกๆ ที่อินทีเรียร์ดีไซเนอร์แนะนำว่าใช้ได้ดีกับมุมทำงานเช่นกัน เช่น สีน้ำเงินเข้ม เขียวหัวเป็ด เหลืองมัสตาร์ด เพราะช่วยให้ห้องทำงานมีชีวิตชีวาขึ้นได้สำหรับสายครีเอทีฟ
ท้ายสุด การใส่ใจกับพื้นที่เรียนรู้ในบ้านไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่ให้ความฝันของเราได้เติบโตด้วย ซึ่งคงไม่มีดีไซน์ใน Pinterest ที่จะเหมาะสมกับความฝันของทุกคน เราต่างต้องค้นหาและเลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเอง และนั่นก็คือส่วนที่สนุกที่สุดและยากที่สุดในการทำบ้านเสมอ