ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้มาจากเพียงปัจจัยโครงสร้างเท่านั้น แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงย่อมทำให้ต้นทุนทั้งสำหรับการผลิตและการบริโภคสินค้าถาวรสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศได้ และมีส่วนทำให้เงินบาทแข็ง กระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยวได้ พร้อมตั้งคำถามต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ากำลังรอให้เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือไม่?
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2567 (TEA Annual Forum 2024) ในหัวข้อ ‘ฝ่าเศรษฐกิจปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’ โดยระบุว่า การปรับประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปสู่ระดับ 3.1% ในปี 2567 เป็นหนึ่งในข่าวดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศค่อนข้างมาก
“โดยปกติแล้ว GDP ไทยจะโตต่ำกว่า GDP โลกนิดหนึ่งในช่วงหลัง เพราะฉะนั้นอาจจะมองได้ว่า (การปรับขึ้นคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ของ IMF) เป็นข่าวดีส่วนหนึ่ง”
ดร.ศุภวุฒิ ระบุอีกว่า สิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญคือ กำลังซื้อจากต่างประเทศ (External Demand) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออกหรือท่องเที่ยว แต่เตือนว่าการปรับปรุงกำลังซื้อจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากมีความท้าทายหลายประการ เช่น แรงกดดันจากจีน
โดย ดร.ศุภวุฒิ คาดว่า จีนจะพยายามขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศของจีนที่แผ่วลงไป จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์และภาครัฐบาลท้องถิ่น
ปัญหาเศรษฐกิจไทยอาจ ‘ไม่ได้’ มาจากปัจจัยโครงสร้างเท่านั้น?
ดร.ศุภวุฒิ มองอีกว่า ปัญหาการส่งออกของไทยอาจไม่ได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างหรือความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งอาจมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง และเงินบาทที่แข็งค่าด้วย
โดย ดร.ศุภวุฒิ ได้ตั้งคำถามว่า “ปัญหาที่ทำให้ไทยขับเคลื่อนส่งออกได้ยาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานหรือความสามารถในการแข่งขันของไทยเพียงอย่างเดียวอย่างที่แบงก์ชาติพูดหรือเปล่า ผมว่ามีเรื่องอื่นด้วย มีคนตั้งคำถามว่าดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือเปล่า เพราะว่าถ้าดอกเบี้ยสูงก็เป็นต้นทุน ถ้าดอกเบี้ยสูงก็ทำให้บาทแข็ง
“ต้องยอมรับว่า ในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการ ต้นทุนอย่างดอกเบี้ยและค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้น มีผลกระทบจริงต่อกำไรในระยะสั้น และความมั่นใจในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
ดร.ศุภวุฒิ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในอดีตช่วง 5 ปีก่อนโควิด (ราวปี 2557-2562) ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7% ต่อปี ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ต่ำกว่าเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ตั้งไว้ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง โดยผลที่ตามมาคือ ทำให้กำลังซื้อในประเทศแผ่ว เห็นได้ชัดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) มหาศาล และเมื่อเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ แม้ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ทำให้บาทแข็ง ยิ่งซ้ำเติมผู้ส่งออก
“ดอกเบี้ยที่แท้จริงเกินกว่า 1% ดูเหมือนจะสูงเกินไป เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ไม่ถึง 1% และติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงปัจจุบันจึงอยู่ ‘สูงค่อนข้างมาก’ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็สงสัยว่าจะแรงกว่าที่แบงก์ชาติคิด”
รอเรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็ง?
ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติยืนยันมาตลอดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และเป็น Neutral Rate รองรับความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน โดยสามารถลดได้และเพิ่มได้ พร้อมย้ำว่า ความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีด้านเดียว
อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิ มองว่า “เงินเฟ้อไทยติดลบตั้งนานแล้ว ไปขึ้นดอกเบี้ยทำไม ต้องรอให้เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ”
สำหรับประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร ถ้านิยามทั่วไปก็บอกว่าไม่วิกฤต แต่ผมคิดว่า สำหรับหลายคนที่รายได้น้อย หนี้เยอะ แล้วดอกเบี้ยขึ้น สำหรับเขาก็วิกฤต
ส่วนปัญหากระแสเงินทุน (Fund Flow) ไหลออกจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ดร.ศุภวุฒิ มองว่า เป็นผลมาจากความมั่นใจ (Sentimemt) ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาเงินทุนไหลออกไม่ได้เกิดแค่ช่วงนี้ เนื่องจากหากไปดูหุ้นไทย 5 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นบวกเลย
ดร.ศุภวุฒิ แนะว่า วิธีแก้ที่เห็นได้ชัดคือ การชักชวนการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะการนำเงินทุนมาพร้อมกับเทคโนโลยี ความสามารถ และความเชี่ยวชาญของบริษัทต่างประเทศ ในการสร้างโรงงาน สร้างงาน และสร้างกำลังการผลิตในอนาคต
“ถ้าชักชวน FDI เข้ามาได้ กระแสเงินทุนก็จะไหลเข้ามา แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องมีแผนการในระยะยาว เพื่อบอกว่าจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทยอย่างไร ในภาคส่วนไหน” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
ภาพ: PASIEKA / Getty Images