×

นักวิชาการเสนอทางออกบ้านพักตุลาการ จัดการป่าแบบมีส่วนร่วม ชี้เป็นบริบทที่เหมาะสม

09.05.2018
  • LOADING...

การหาทางออกเกี่ยวกับกรณีการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเข้าหารือกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นว่า ให้คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพเป็นป่าดังเดิม โดยมีประชาชนชาวเชียงใหม่ร่วมกันปลูกป่า และห้ามผู้ใดเข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอีกต่อไป แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการรื้อบ้านพักที่ก่อสร้างไปแล้วหรือไม่

 

THE STANDARD ตรวจสอบปฏิกิริยาล่าสุดจากภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อวานนี้ โดยภาพรวมประชาชนยังมีความกังวลในแง่ความโปร่งใสในการจัดการปัญหา และต้องการให้ขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่ใช้มาตรา 44 อีกทั้งยังยืนยันว่าต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวกลับคืนเป็นผืนป่าดังเดิม

 

ขณะที่ในวันนี้ ได้ต่อสายถึง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อสอบถามถึงแนวคิดที่ต้องการให้มีการจัดการปัญหา โดยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น ‘พื้นที่เพื่อการจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วม’ สำหรับแนวคิดนี้ ดร.อานนท์ เปิดเผยว่า

 

“สิ่งที่ผมเน้นย้ำคือการให้ป่านั้นได้เติบโตไปตามธรรมชาติ ตามสภาพภูมิศาสตร์ และระบบนิเวศที่เหมาะสม พืชพันธุ์อาจมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่มหลากหลายสายพันธุ์ ในระยะยาวพืชพื้นถิ่นก็คาดว่าจะขึ้นมาตามธรรมชาติ เรียกได้ว่าหมดหน้าฝนก็น่าจะขึ้นมาแล้ว ซึ่งยอมรับว่าปัจจัยของไม้หลายสายพันธุ์นั้นรวมถึงมนุษย์ด้วย”

 

ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า “ผมพูดในนิยามของการจัดการพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพทั้งหมดในระยะยาว ควรจัดให้เป็นพื้นที่เพื่อการจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอุทยานหรือต้องยกให้เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรแต่อย่างใด เพราะบริบทของดอยสุเทพนั้นสามารถทำได้ และเรารู้ๆ กันว่าเจ้าหน้าที่เองก็อาจมีไม่พอ แต่ป่าดอยสุเทพนั้นมีทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ และชาวเชียงใหม่มีความรักและหวงแหนป่า สามารถเป็นหูเป็นตาให้กันได้ รวมถึงมีมหาวิทยาลัยที่มีนักวิชาการเก่งๆ คอยออกความเห็นกันได้ แบบนี้เป็นการจัดการด้วยส่วนร่วม ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ได้บอกว่าทุกที่สามารถจัดการป่าแบบนี้ได้ แต่ที่นี่มีบริบทที่เหมาะสมพอดีเท่านั้นเอง”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X