“คลาวด์คือเทคโนโลยีที่ปลดล็อกข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล มันทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้เหมือนกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน และผมมองว่านั่นแหละคือสิ่งที่เปลี่ยนโลก” ไฮเม่ย์ วาลเลซ (Jaime Vallés) รองประธานบริษัท Amazon Web Services (AWS) และผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ)
หากจะพูดถึงหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากในปัจจุบันกับธุรกิจยุคดิจิทัลที่ต้องอาศัยความเร็วในการปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยดังกล่าวก็คงจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘คลาวด์’ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการเซิร์ฟเวอร์ ประหยัดต้นทุน และคืนความยืดหยุ่นรวมทั้งความปลอดภัย เพื่อให้ธุรกิจได้โฟกัสเวลาทั้งหมดไปกับสิ่งที่สร้างคุณค่ากับธุรกิจมากกว่า
THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ 2 ผู้บริหารจากบริษัทผู้นำด้านคลาวด์ระดับโลกอย่าง ไฮเม่ย์ วาลเลซ พร้อมด้วย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ Amazon Web Services (AWS) ประเทศไทย เกี่ยวกับประเด็นของการพัฒนาระบบนิเวศและวิสัยทัศน์การทำธุรกิจของบริษัทในไทย
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ (ซ้ายมือ) และ ไฮเม่ย์ วาลเลซ (ขวามือ)
อุดช่องโหว่และเติมเต็มศักยภาพของบุคลากรไทย
ไฮเม่ย์เริ่มจากการอัปเดตภาพรวมระบบนิเวศและพัฒนาการของผู้ใช้งานคลาวด์ในประเทศไทยว่า ในตอนนี้ธุรกิจจำนวนมากในบ้านเราโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง (SMBs) รวมทั้งสตาร์ทอัพนั้นมีการหันมาใช้ระบบคลาวด์กันอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติจาก Colorlib ที่ระบุว่า 94% ของบริษัททั่วโลกในปี 2023 มีการใช้งานระบบคลาวด์อย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
แน่นอนว่า เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน ทักษะของแรงงานในโลกอนาคตก็ต้องแปรผันตามความต้องการของตลาด ซึ่งนั่นยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนา และทาง AWS เองได้ตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าวจึงสร้างโครงการที่เปิดให้นักพัฒนา, นักเรียน, และผู้ที่สนใจในด้านไอทีสามารถเข้าไปศึกษาได้มากถึง 64 คอร์สภาษาไทยบน AWS Skill Builder โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหา ‘ช่องว่าง’ ของความรู้และความต้องการจากภาคธุรกิจ
นอกเหนือจากประเด็นโครงสร้างเทคโนโลยีที่ AWS มีให้อย่างเพียงพอและพร้อมรองรับการใช้งานแล้ว เรื่องทักษะความรู้เป็นสิ่งที่บริษัทถือว่าองค์ประกอบสำคัญที่จะนำพาคนไทยไปสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้สำเร็จ “หากเราขาดบุคลากรที่มีความรู้ ต่อให้เครื่องมือจะดีแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย” ไฮเม่ย์กล่าว
ณ สิ้นปี 2023 มีคนกว่า 21 ล้านคนทั่วโลกที่ได้ใบรับรองการเรียนกับ AWS แล้ว โดย 50,000 คนในนั้นเป็นคนไทย แต่สิ่งที่ AWS จะเดินหน้าทำต่อคือร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อวางแผนนำหลักสูตรนี้เข้าสู่ระบบการสอนในระดับมหาวิทยาลัย 51 แห่งในประเทศ ผ่านโปรแกรมอย่าง AWS Academy และ AWS Educate
ถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ? นั่นเป็นเพราะว่าบริษัทเทคโนโลยี 94% ต้องเจอกับปัญหาการจ้างงานคนสายเทค ในขณะที่บริษัทแบบเดิมอยู่ที่ 60% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงและแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของทักษะดิจิทัลที่องค์กรต้องการแต่จำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้การพัฒนา ‘คน’ ที่ตอบโจทย์กับงานในอนาคตเป็นกุญแจที่จะพาเศรษฐกิจให้เติบโตได้
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในไทยระยะยาว
AWS Asia Pacific (Bangkok) Region คือแผนการลงทุนของบริษัทที่เริ่มต้นในปี 2022 ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในประเทศไทย ด้วยระยะเวลา 15 ปี ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center), ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน, สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการบริการจากธุรกิจระดับภูมิภาค
สาเหตุที่ AWS ลงทุนเงินจำนวนมหาศาลนี้มากับประเทศไทย เป็นเพราะเราเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคเอเชียที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมยุคดิจิทัลมากขึ้นจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ
“เราเห็นได้ชัดเจนว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตกับบริการคลาวด์ของเรามาจากธุรกิจขนาดเล็กและกลาง รวมทั้งสตาร์ทอัพที่หันมาใช้งานคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ไฮเม่ย์แชร์มุมมองของสภาพแวดล้อมธุรกิจที่ต่างออกไปจากในอดีต
เมื่อความต้องการใช้งานเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงที่สามารถรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับตัว AWS Asia Pacific (Bangkok) Region วัตสันอธิบายเสริมถึงการตัดสินใจที่เข้ามาเปิดโครงสร้างพื้นฐานตัวนี้ในประเทศไทยว่า “ปัจจุบันลูกค้าในประเทศไทยยังต้องพึ่งพา Region ในต่างประเทศอยู่ แต่เมื่อคนต้องการใช้คลาวด์ที่มีการประมวลผลได้อย่างรวดเร็วและมีต้องการเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยในประเทศไทย เช่น ผู้ใช้งานภาครัฐที่ตั้งใจจะทำให้การบริการประชาชนอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อความสะดวกสบายที่มากขึ้นโดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์สถานที่เก็บข้อมูล (Data Residency)”
นอกจากนี้ AWS ยังให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าศูนย์ข้อมูลทั่วโลกจะต้องใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบ 100% ภายในปี 2025
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย แต่อย่างที่ไฮเม่ย์ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าสุดท้ายแล้วการพัฒนาคนให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างเต็มรูปแบบจะเป็นปัจจัยสำคัญต่ออนาคต ซึ่งในตอนนี้ AWS ก็เตรียมพร้อมด้วยการลงทุนทั้งคนและโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย
“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้เรา คิดได้เร็วขึ้น ทำได้มากขึ้น และก้าวข้ามขีดจำกัดได้มากกว่า ดังนั้นยิ่งเรามีเครื่องมือมากเท่าไร โอกาสที่คนหนึ่งคนจะสามารถสร้างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปข้างหน้าก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น” ไฮเม่ย์กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: Jaap Arriens / NurPhoto via Getty Images, Galeanu Mihai / Getty Images