นอกจากกำหนดการลงนามเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้อตกลงฟรีวีซ่าไทย-จีนแล้ว กระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศเมื่อวันศุกร์ (26 มกราคม) ว่า หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน จะจัดการเจรจากับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างทริปเยือนไทย 4 วัน (26-29 มกราคม) โดยสองประเทศยังคงเดินหน้าสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อรักษาโมเมนตัมในความสัมพันธ์ หลังจากที่มีสัญญาณกระเตื้องขึ้น ภายหลังสีจิ้นผิงและโจ ไบเดน ได้พบกันในที่ประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปลายปีที่แล้ว
ประเด็นหารือมีอะไรบ้าง มีอะไรน่าจับตา
หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า การติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องระหว่างหวังอี้กับซัลลิแวนถือเป็นฉันทมติที่สำคัญระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐฯ โดยในระหว่างการประชุมรอบใหม่ที่กรุงเทพฯ นี้ หวังอี้ได้ยืนยันถึงจุดยืนของจีนเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และประเด็นไต้หวัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฝ่ายสหรัฐฯ ในประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาค
ด้านหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่า ซัลลิแวนจะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การโจมตีของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง โดยฝ่ายบริหารของไบเดนต้องการให้จีนหยุดการสนับสนุนทางทหารและการเงินต่ออิหร่าน เนื่องจากอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งกำลังก่อเหตุโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงเพื่อตอบโต้อิสราเอลที่โจมตีปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
“สหรัฐฯ คาดหวังว่าจีนจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในวิกฤตทะเลแดง และจะกดดันจีนผ่านสื่อ แต่เรารู้ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไปไกลกว่านั้น” หลู่เซียง นักวิจัยจาก Chinese Academy of Social Sciences บอกกับ Global Times สื่อของทางการจีน
หลู่กล่าวว่า จีนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลแดง แต่ทะเลแดงนั้นเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งโลก โดยจีนจะพยายามแสวงหาสันติภาพในทะเลแดงตามความสามารถของตน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ
ด้าน หลี่ไห่ตง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย China Foreign Affairs University กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่จะหารือในการประชุมระหว่างหวังอี้กับซัลลิแวนนั้นมีหลายแง่มุม การสื่อสารระหว่างหวังอี้และซัลลิแวนเป็นหนึ่งในกลไกที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้มากที่สุดระหว่างรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับหัวข้อต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลหลักและเร่งด่วนที่สุดของทั้งสองประเทศ
สหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในทะเลแดง วิกฤตยูเครน ปัญญาประดิษฐ์ และห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ประเด็นไต้หวันและปัญหาทะเลจีนใต้ยังคงเป็นข้อกังวลที่สำคัญอันดับต้นๆ ของจีน
รักษาโมเมนตัม
Financial Times รายงานอ้างแหล่งข่าวหลายรายว่า การประชุมระหว่างหวังอี้กับซัลลิแวนจะเป็นการติดต่อสื่อสารกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ พบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน
“การประชุมครั้งนี้เป็นการสานต่อความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการประชุมสุดยอดวูดไซด์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสี เพื่อคงไว้ซึ่งการสื่อสารทางยุทธศาสตร์และจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ” แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุ
นอกจากนี้ การประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงยังหมายถึงการปูทางไปสู่การสื่อสารขั้นต่อไประหว่างผู้นำ อย่างเช่นเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำจีนและสหรัฐฯ อาจพูดคุยกันทางโทรศัพท์ หรืออาจสื่อสารกันด้วยวิธีการอื่น
โดยในเทศกาลตรุษจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 สีได้สนทนาทางโทรศัพท์กับไบเดนเพื่ออวยพรปีใหม่ทางจันทรคติซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังอวยพรปีใหม่กันในวันขึ้นปีใหม่ 2024 ด้วย
คาดว่าสหรัฐฯ และจีนจะจัดการประชุมระดับสูงมากขึ้นในปีนี้ โดย Financial Times รายงานว่า เจเน็ต เยลเลน จะเดินทางเยือนจีน หลังจากเคยเยือนปักกิ่งครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเดินทางเยือนจีนด้วยเช่นกัน
การพบกันในประเทศที่สาม
หลี่ไห่ตงกล่าวว่า การประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและสหรัฐฯ ในประเทศที่สามดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว
การพบกันในประเทศที่สามจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบมากขึ้น ปฏิบัติได้จริง และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในประเด็นที่ยุ่งยาก รวมทั้งลดผลกระทบที่รุนแรงจากการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการเจรจา
ก่อนหน้านี้หวังอี้และซัลลิแวนเคยประชุมร่วมกันมา 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งครั้งแรกประชุมเป็นเวลา 10 ชั่วโมงที่กรุงเวียนนาในเดือนพฤษภาคม และการประชุมที่มอลตาในเดือนกันยายน กินเวลาถึง 12 ชั่วโมง
ทำไมเลือกเวลานี้
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้เขียนหนังสือ โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง: Xinomics ให้ความเห็นว่า “การที่หวังอี้เลือกสถานที่ในการพบซัลลิแวนที่ไทยในเวลานี้น่าจะเป็นเรื่องของ Timing เป็นจังหวะเวลาที่หวังอี้มาไทยในเรื่องวีซ่าไทย-จีน จึงตั้งใจเสนอให้สหรัฐฯ มาหารือกันที่กรุงเทพฯ โดยมีสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยเร่งให้สองฝ่ายมาเจอกันเร็วขึ้น โดยประเด็นร้อนที่สหรัฐฯ อยากให้จีนช่วยออกมามีบทบาทก็คือวิกฤตในทะเลแดง ส่วนจีนก็อยากย้ำจุดยืนของตนในประเด็นไต้หวัน จีนไม่ยอมให้ใครมาล้ำเส้นแดงในเรื่องไต้หวัน
รศ.ดร.อักษรศรี จึงมองว่า “การพบกันครั้งนี้เป็นความตั้งใจของฝ่ายจีนที่จะรักษาโมเมนตัมในการเดินหน้าติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อการติดต่อระดับสูง หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกับประธานาธิบดีไบเดนได้พบปะเจรจากันที่ซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
ความคาดหวังจากการประชุมครั้งนี้
ทำเนียบขาวระบุว่า การประชุมของหวังอี้และซัลลิแวนระหว่างวันที่ 26-27 มกราคมนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการสื่อสารที่เชื่อถือได้มากที่สุดระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยคาดว่าประเด็นเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลของสองฝ่าย เช่น วิกฤตยูเครน ความตึงเครียดในทะเลแดง ประเด็นไต้หวัน และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการพบกันครั้งนี้
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการประชุมในประเทศไทยจะช่วยปูทางไปสู่การติดต่อสื่อสารระหว่างประมุขของสองประเทศในอนาคตอีกด้วย
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: