×

ล่ามภาษามือสภา ภารกิจเงียบ ผู้ทลายกำแพงข้อมูลข่าวสาร

โดย THE STANDARD TEAM
25.01.2024
  • LOADING...
ล่ามภาษามือ

ทุกวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีในชุดสุภาพสีดำในกรอบสี่เหลี่ยมขวามือบนจอถ่ายทอดสด ร่ายรำด้วยสองมือไม่หยุดหย่อนพร้อมแสดงออกทางสีหน้า บอกเล่าเรื่องราวตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดจากการประท้วง เสียงหัวเราะจากมุกตลกของดาวสภา หรือน้ำเสียงของผู้นำประเทศในการตอบกระทู้ กระทั่งน้ำเสียงของฝ่ายค้านที่ตั้งข้อซักถาม 

 

นั่นคือภารกิจของ ‘ล่ามภาษามือ’ ผู้ทำหน้าที่ทลายกำแพงของข้อมูลการสื่อสาร ส่งต่อข้อความให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินรับรู้ถึงข้อมูลสำคัญ

 

ล่ามภาษามือในวันประชุมสภา พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลสำคัญด้วยภาษามือถึงคนพิการทางหู

 

THE STANDARD สนทนากับ ‘จ็อบ-พจีรัตน์ ศรีเสมอ และ ฐา-ศันสนีย์ วิโรจน์รัตนกุล’ ทั้งสองคนบอกว่า การเป็นล่ามภาษามือในรัฐสภา เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของอาชีพ เพราะรู้สึกถึงความสำคัญของข้อมูลที่ต้องสื่อสารออกไปให้กลุ่มคนที่บกพร่องทางการได้ยินรับทราบ ถึงแม้จะมีความเหนื่อยและกดดันมากกว่างานปกติที่ทำประจำ ยิ่งช่วงเวลาที่มีการอภิปรายยาวข้ามวันข้ามคืน

 

ขณะที่โดยปกติการทำงานที่สภาจะมีล่ามภาษามือทำหน้าที่ด้วยกัน 3 คน ผลัดกันคนละ 20 นาที ตั้งแต่เริ่มประชุมจนจบการประชุมในวันนั้นๆ

 

ส่วนความยากของการเป็นล่ามภาษามือ ส่วนใหญ่จะเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ไม่เหมือนกัน ล่ามต้องคิดและสื่อสารออกไปในเวลานั้นๆ บางคนเป็นคำพังเพย บางคนเป็นกลอน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดติดขัด ใครเป็นคนพูด ชื่ออะไร ใครประท้วง 

 

ยินดี / ความสุข หรือคำที่มีความหมายว่า ยินดี การแปลภาษาของล่ามภาษามือระหว่างการประชุมสภา

 

ภาษามือที่สื่อสารออกไปก็จะเป็นการสะกดเป็นตัวอักษรแทน ด้วยไวยากรณ์ของภาษามือจะเรียงเป็น กรรม ประธาน กิริยา เหมือนภาษาภาพ ผู้ใช้ภาษามือจะมองลักษณะท่าทาง สีหน้าของคู่สนทนาเป็นภาพ ยกตัวอย่างการเรียกชื่อคนที่อยู่ในกระแส ก็จะใช้จุดเด่นบนใบหน้าหรือลักษณะท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์

 

การแต่งกายที่ไม่เน้นสีฉูดฉาดกลายเป็นภาพจำลองล่ามภาษามือ เครื่องประดับ เช่น นาฬิกา ตุ้มหู ก็เป็นอีกสิ่งต้องห้ามที่แย้งสายตาของผู้รับข้อมูลผ่านการแปลภาษา 

 

ล่ามภาษามือส่งต่อข้อมูลด้วยสีหน้าท่าทางและมือทั้งสองข้าง เล่าถึงบรรยากาศในการประชุมสภา

 

การแต่งกายที่มีลักษณะเฉพาะนี้ทำให้เกิดภาพจำถึงบุคลิกภาพ หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าล่ามภาษามือไม่สามารถพูดได้เหมือนคนปกติ ซึ่งจริงๆ สามารถพูดและได้ยินอย่างคนปกติที่สื่อสารด้วยการพูดและฟัง หรือเข้าใจผิดว่าภาษามือที่ใช้สื่อสารกับคนพิการทางการได้ยินนั้นเป็นสากลทั่วโลก เนื่องจากแต่ละประเทศอาจมีภาษามือมากกว่า 1 ภาษา

 

จ็อบและปลายทำท่าภาษามือ แปลว่า ล่ามแปลภาษา ระหว่างรอเปลี่ยนตัวทำหน้าที่ล่ามภาษา

 

นอกจากการเป็นล่ามภาษามือที่ทำหน้าที่ในการประชุมรัฐสภาแล้ว ‘ปลาย-สุนิสา จันทรสกุนต์’ ยังมีอีกหนึ่งความฝันที่อยากสร้างและส่งต่อให้คนพิการทางการได้ยิน 

 

การส่งต่อข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ข่าว แต่รวมถึงละคร รายการทีวี การ์ตูน บทเพลง สิ่งบันเทิงในทุกรูปแบบ หรือแม้กระทั่งการเตือนภัย รวมถึงสิ่งที่คนพิการควรเข้าถึงแบบใช้งานได้จริง 

 

ล่ามภาษามือในกรอบสี่เหลี่ยมบนจอภาพห้องประชุมรัฐสภา

 

ทุกวันนี้มีเพียงข้อมูลบางประเภทเท่านั้นที่คนพิการทางการได้ยินสามารถเข้าถึงได้ เด็กๆ ควรมีสื่อที่สร้างจินตนาการ วัยรุ่นควรมีช่วงเวลาที่มีความสุขกับศิลปิน เนื้อหาของบทเพลงคนโปรดที่ชื่นชอบ หรือแม้แต่ละครหลังข่าวที่เป็นกระแสในสังคม ทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงและเข้าใจ

 

ฐา-ศันสนีย์ วิโรจน์รัตนกุล ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้คนพิการทางการได้ยินกับลูกค้าที่ใช้บริการรถโดยสาร

 

นอกจากหน้าที่ล่ามภาษามือที่รัฐสภาแล้ว จ็อบและฐายังทำหน้าที่เจ้าหน้าที่สื่อสาร ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ หน้าที่หลักๆ จะเป็นล่ามภาษามือให้กลุ่มผู้พิการที่ประกอบอาชีพพนักงานส่งอาหารหรือพนักงานขับรถ ทำให้คนพิการทางการได้ยินสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งคนพิการส่วนใหญ่มีความต้องการมากกว่าเงินช่วยเหลือ หรือเอกสิทธิ์เฉพาะนอกเหนือกว่าคนปกติ การได้ทำงานเหมือนคนปกติและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปคือสิ่งที่ต้องการ

 

ศูนย์ TTRS เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและการถูกลดงบประมาณจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และการถูกตัดงบประมาณจากรัฐบาล ทำให้สามารถให้บริการได้แค่ช่วงเวลา 07.00-20.00 น. ของทุกวัน ซึ่งมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนพิการทางการได้ยิน และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising