เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) รายงานกำไรสุทธิ 4Q66 จำนวน 6.1 พันล้านบาท (ลดลง 41%QoQ และ 25%YoY) ต่ำกว่าคาด 40% และต่ำกว่า Consensus คาด 35% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองที่มากกว่าคาดสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
- คุณภาพสินทรัพย์: NPL เพิ่มขึ้น 1%QoQ (เพิ่มขึ้น 12% ถ้านำยอดตัดหนี้สูญบวกกลับเข้ามา ซึ่งบ่งชี้ถึง NPL ไหลเข้าเพิ่มขึ้น) Credit Cost เพิ่มขึ้น 76 bps QoQ (เพิ่มขึ้น 85 bps YoY) สู่ 2.01% แย่กว่าคาด เนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง LLR Coverage ทรงตัวอยู่ที่ 174%
- สินเชื่อลดลง 2%QoQ และลดลง 0.6%YoY การเติบโตของสินเชื่อแยกตามกลุ่ม: สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น 0.6%QoQ, เพิ่มขึ้น 0.5%YoY; สินเชื่อภาครัฐ ลดลง 16%QoQ, ลดลง 12%YoY; สินเชื่อ SMEs ลดลง 0.9%QoQ, ลดลง 8.2%YoY; สินเชื่อรายย่อย เพิ่มขึ้น 1.5%QoQ, เพิ่มขึ้น 5%YoY
- NIM เพิ่มขึ้น 3 bps QoQ โดยเกิดจากผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น 18 bps QoQ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 17 bps QoQ
- Non-NII เพิ่มขึ้น 4%QoQ (ลดลง 10%YoY) โดยเกิดจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) และรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง 1%QoQ, เพิ่มขึ้น 7%YoY
- อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลง 124 bps QoQ (ลดลง 674 bps YoY) สู่ 39% ดีกว่าคาด OpEx เพิ่มขึ้น 6%QoQ (เพิ่มขึ้น 13%YoY) โดยเกิดจากขาดทุนจากทรัพย์สินรอการขายที่เพิ่มขึ้น ถ้าไม่รวมขาดทุนจากทรัพย์สินรอการขาย OpEx จะลดลง 1%QoQ และ 3%YoY
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (22 มกราคม 2567) ราคาหุ้น KTB ปรับลง 10.50% สู่ระดับ 16.20 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.69% สู่ระดับ 1,372.95 จุด
แนวโน้มกำไรปี 2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปี 2567 ลดลง 8% เพื่อสะท้อนผลประกอบการ 4Q66 (หลักๆ เกิดจากการปรับประมาณการ Credit Cost) โดยปัจจุบันคาดว่ากำไรจะเติบโต 12% ในปี 2567 ซึ่งอิงกับปัจจัยดังต่อไปนี้
- Credit Cost ลดลง: คาดว่า Credit Cost จะลดลง 8 bps จาก 1.43% ในปี 2566 สู่ 1.35% ในปี 2567 โดยเกิดจากการตั้งสำรอง Management Overlay น้อยลง
- การเติบโตของสินเชื่อฟื้นตัว: คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อจะฟื้นตัวจาก -0.6% ในปี 2566 สู่ 3% ในปี 2567
- NIM เพิ่มขึ้นเล็กน้อย: คาดว่า NIM จะเพิ่มขึ้น 8 bps ในปี 2567 (เทียบกับเพิ่มขึ้น 62 bps ในปี 2566) ซึ่งเป็นผลพวงของผลกระทบเต็มปีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566
- Non-NII ทรงตัว: คาดว่า Non-NII จะอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากคาดว่ากำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) จะลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจะเพิ่มขึ้น 2%
- อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทรงตัวอยู่ที่ 40%
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนยังคงเรตติ้ง Outperform สำหรับ KTB โดยปรับราคาเป้าหมายลดลงจาก 25 บาท สู่ 22 บาทต่อหุ้น (PBV 0.7 เท่า อ้างอิง ROE ระยะยาวที่ 7% Cost of Equity ที่ 9.6% และการเติบโตระยะยาวที่ 1%) โดยได้รับการสนับสนุนจาก Valuation ที่ถูก และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ
- ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
- การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเพราะความต้องการสินเชื่อต่ำและการแข่งขันสูง
- ตลาดทุนผันผวน