คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) พันธมิตรเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ทำงานร่วมกับ World Economic Forum (WEF) มากกว่า 5 ปี ในการจัดทำและเผยแพร่รายงานสำรวจ The Future of Growth Report 2024 ซึ่งเป็นการประเมินอนาคตการเติบโตของประเทศต่างๆ โดยตัวเลขดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศนำไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์ต่อไป
The Future of Growth Report 2024 ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ซึ่งครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51ได้คะแนนรวม 48.99 คะแนน อันดับ 1 ได้แก่ สวีเดน ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก
สำหรับแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี อันดับที่ 12 สิงคโปร์ อันดับที่ 16 ในขณะที่มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 31 เวียดนาม อันดับที่ 36 และอินโดนีเซีย อันดับที่ 50
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมพบว่า “รายงานสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะลดลงสู่อัตราต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษภายในปี 2030 ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสัญญาณทางสังคมที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ดังนั้น การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพของประเทศต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายที่หลากหลายนี้
ทั้งนี้ แนวทางการเติบโตจะไม่มุ่งเน้นด้านความรวดเร็วในการเติบโตเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นในด้านคุณภาพการเติบโตด้วย จึงจะสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในระยะยาว โดยปัจจัยสำคัญของอนาคตตามคำจำกัดความของ World Economic Forum ต้องประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ ปัจจัยในการรับมือและปรับตัวต่อพัฒนาการทางนวัตกรรม (Innovativeness) ความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่น (Resilience) ทั้ง 4 ปัจจัยจะเป็นปัจจัยหลักในการเติบโต
จากการเปรียบเทียบผลประเมินของประเทศไทยกับผลประเมินโดยรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเทียบกับผลประเมินของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน พบว่าในมิติด้านปัจจัยการรับมือและปรับตัวต่อพัฒนาการทางนวัตกรรม (Innovativeness) ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 38 จาก 107 ประเทศ ผลคะแนนอยู่ที่ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม
“แม้ไทยจะทำคะแนนด้านนวัตกรรมได้ค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ระดับกลาง เทียบกับประเทศแถบเอเชียเราอยู่อันดับ 5 ชนะเวียดนาม ถ้าจะทำคะแนนได้ดีเราต้องเป็น Creator ไม่ใช่แค่ User ปัญหาของไทยคือ ต้องให้ความสำคัญเรื่องกฎหมาย การคุ้มครองเรื่องสิทธิบัตร รวมไปถึงการให้ความรู้หรือเพิ่มทักษะให้กับคนทำงานกลุ่มนี้ ที่สำคัญคือ ปัญหาสมองไหลออกสู่ต่างประเทศ” ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
มิติความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ไทยอยู่อันดับที่ 53 คะแนนเฉลี่ย 55.66 แม้จะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ
ศ.ดร.วิเลิศ เผยว่า เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่าภาพรวมการเติบโตเกิดขึ้นแค่บางส่วน แม้โครงสร้างพื้นฐานของไทยจะมีตัวเลขที่ดีแต่ความไม่เท่าเทียมสูง “ประเด็นที่น่ากังวลคือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เราได้คะแนน 3 จาก 100 คนรวยก็รวยมาก คนจนก็จนมาก ฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องกระตุ้นทั้งภาคส่วน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเพิ่มคุณภาพของแรงงาน คุณภาพของอาชีพ รวมไปถึงคุณภาพของการศึกษา เมื่อแรงงานมีคุณภาพก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
“จากนี้ไปการศึกษาไทยอย่าสอนเพียงความรู้อย่างเดียว ต้องสอนให้ผู้เรียนฉลาด เพราะความฉลาดไม่เคยล้าสมัย เราต้องการแรงงานที่ฉลาด มีไหวพริบ และมีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ผมเชื่อว่าการพัฒนาคน พัฒนาการศึกษา จะเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทำให้ประเทศชาติเติบโตระยะยาว และนั่นคือหัวใจในการสร้าง Thailand Future Growth”
สำหรับมิติด้านความยั่งยืน (Sustainability) ไทยเกือบรั้งท้ายอยู่อันดับที่ 88 ได้คะแนน 40.84 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางบน (44.0) เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยเพิ่มมากขึ้น
“มิตินี้เป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้อัตราการเติบโตไม่พัฒนาเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเรื่องความยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ ประเทศไทยต้องการกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะเรื่องความยั่งยืนต้องทำต่อเนื่อง”
ในขณะที่มิติสุดท้าย ความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ไทยได้อันดับที่ 56 ทำคะแนนได้ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤตต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป
“ปัญหาภายในของเราคือความแตกแยกทางการเมือง และเรื่องสำคัญคือไม่มีการให้การอบรมและเพิ่มเติมทักษะความรู้กับแรงงานชนชั้นกลาง รวมถึงเรื่องคอร์รัปชันที่ยังเป็นปัญหาและฉุดรั้งให้อัตราการเติบโตของไทยทำได้ไม่ดี”
ศ.ดร.วิเลิศ เผยว่า “ภาพรวมตอนนี้ประเทศไทยอยู่กึ่งกลาง ส่วนตัวมองว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ออกได้ทั้งหัวและก้อย เพราะถ้าวางกลยุทธ์ถูกและเร่งสปีดก็มีโอกาสขยับไปอยู่ข้างบน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือทำล่าช้า ก็มีโอกาสตกลงไปอยู่ข้างล่าง”
ทั้งนี้ CBS เสนอแนวแนะแนวทางผ่านโมเดล Holistic Future Growth Strategies ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
- ด้านนวัตกรรม เร่งเดินหน้ากฎระเบียบและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานที่มีความรู้ และป้องกันวิกฤตสมองไหล
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสิทธิเสรีภาพ ลดหนี้นอกระบบ และเพิ่มงบประมาณในโครงสร้างพื้นฐาน
- ด้านความยั่งยืน เน้นกฎหมายคุ้มครองธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทน และคุ้มครองสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและคุณภาพน้ำให้มากขึ้น
- ด้านความยืดหยุ่น สนับสนุนการฝึกทักษะให้กับแรงงานระดับกลาง ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาล สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐ สร้างความสามัคคีและลดความแตกแยกในความเห็นทางการเมือง
“ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถในทุกด้าน โดยเฉพาะความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ และกฎหมายคุ้มครองอย่างเต็มกำลัง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพการเติบโตของประเทศให้ดียิ่งขึ้น แต่จะเติบโตได้นั้นการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าจะทำให้เติบโตในทุกด้านต้องทำให้การเติบโตสมส่วนและสมดุล การเติบโตต่อจากนี้ต้องการกลยุทธ์ที่ก้าวกระโดด เพราะจุดที่ไทยยืนอยู่ค่อนไปทางครึ่งหลังของโลก จะเดินก็ช้าไป จะวิ่งก็ไม่ทัน ต้องกระโดดไปด้วยกัน” ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้าย